Tuesday 22 December 2015

ฟ้องซ้อน ฟ้องซ้ำในคดีอาญา

ฟ้องซ้อนฟ้องซ้ำในคดีอาญา

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1) น.ม.(กฎหมายอาญา) น.ม.ท.





ฟ้องซ้ำในคดีอาญาเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เช่นเดียวกับการดำเนินคดีแพ่งเพราะถือว่าเป็นการดำเนินคดีที่ซ้ำซ้อน เพราะศาลได้ตัดสินคดีชี้ขาดคดีนั้นไปแล้ว ไม่ควรนำเรื่องเดิมมาฟ้องกันอีก ซึ่งแตกต่างจากการซ้อน ที่คดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ยังไม่ได้มีการตัดสินคดีนั้น การห้ามฟ้องซ้อนก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีการฟ้องคดีกันหลายศาลซ้ำซ้อนกัน

ฟ้องซ้ำในคดีอาญา

ในทางอาญามีหลักการประการสำคัญ การไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดความผิดอาญาซ้ำสอง ซึ่งมาจากหลักการตามกฎหมายของต่างประเทศที่เรียกว่า double jeopardy  หมายถึงห้ามฟ้องซ้ำในคดีอาญา ซึ่งมีหลักว่า "บุคคลจะไม่ถูกพิจารณาคดีซ้ำสองในความผิดเดียว” หรือที่เรียกว่า Non bis in idem (Not twice for the same) หรือ double jeopardy

หลักการดังกล่าวปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 4-11 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39

มาตรา 39 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้

          (4) เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง

ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าคดีอาญาใดศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วจะนำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีอีกไม่ได้เพราะจะถือว่าเป็นการดำเนินคดีอาญาซ้ำสองในการกระทำความผิดเดียว

มีประเด็นที่เราจะต้องวินิจฉัยว่าคดีที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา39(4) หมายความว่าอย่างไร

คดีเสร็จเด็ดขาด หมายความว่า คดีที่ศาลได้มีการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีและได้มีคำพิพากษาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่หากคู่ความไม่พอใจก็อาจใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปได้อีก แต่ต้องอุทธรณ์ ฎีกาภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกาด้วย ดังนั้นคดีเสร็จเด็ดขาดจึงอาจไม่ใช่คดีถึงที่สุดก็ได้




ฟ้องซ้อนในคดีอาญา

ฟ้องสอนในคดีอาญานั้นไม่มีบทบัญญัติไว้เป็นพิเศษเหมือนกับกรณีของการฟ้องซ้ำที่บัญญัติไว้ในมาตรา 39 ได้กำหนดไว้ ดังนั้นจึงต้องนำหลักการทางด้านกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 173 เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับ แต่วันยื่นคำฟ้องให้โจทก์ร้องขอต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น

นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้วคดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้

(1) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่น และ

หลักการสำคัญของฟ้องซ้อน คือเมื่อคดีได้อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแล้ว ห้ามมิให้ฟ้องคดีนั้นอีก คำว่าคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณามีความหมายว่าอย่างไร

หากศาลได้ประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วคงไม่มีประเด็นปัญหาว่าคดีนั้นอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลแล้วหรือยังเพราะศาลได้ประทับรับฟ้องแล้วย่อมอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลแล้ว

ดังนั้นคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาล เมื่ออัยการยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแล้วคดีนั้นย่อมอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล เพราะคดีอาญาที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องนั้นไม่จำเป็นจะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้อง

ส่วนคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเองโดยหลักแล้วจะต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอเพื่อหามูลคดีดังนั้นมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่าคดีอาญาที่อยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลถือว่าเป็นคดีที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลหรือไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 21441/2556

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมมิให้เลื่อนโจทก์เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) กล่าวหาว่าโจทก์กับพวกส่งคนไปคุกคามข่มขู่จำเลยและพยานของจำเลยในคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาฐานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ บุกรุก และทำให้เสียทรัพย์ เพื่อขอให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณามิให้เลื่อนโจทก์ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติชั่วคราวจนกว่าคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญาจะถึงที่สุด ซึ่งมีสาระแห่งการกระทำผิดฐานหมิ่นประมาทของจำเลยเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้การมีหนังสือขอความเป็นธรรมทั้งในคดีก่อนและคดีนี้ จำเลยจะได้ยื่นหนังสือดังกล่าวต่อคณะกรรมการของ ก.ตร. และกรรมการ ก.ต.ช. คนละคนกันดังที่โจทก์กล่าวอ้าง แต่การกระทำของจำเลยมีเจตนาเดียวกัน คือเจตนาที่จะร้องขอความเป็นธรรมมิให้ ก.ตร. และ ก.ต.ช. พิจารณาเลื่อนตำแหน่งของโจทก์นั่นเอง จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน คำฟ้องของโจทก์คดีก่อนกับคดีนี้เป็นคำฟ้องเรื่องเดียวกัน เมื่อขณะโจทก์ยื่นคำฟ้องคดีนี้ คำฟ้องคดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณา คำฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 (คดีนี้ในคดีก่อนยังอยู้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง)