Tuesday 22 December 2015

สิทธิในการมีทนายความ


ภาพจาก http://f.ptcdn.info/103/016/000/1393403235-fullsizeph-o.jpg

สิทธิในการมีทนายความ

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1) น.ม.(กฎหมายอาญา) น.บ.ท.


ในคดีอาญาทนายความมีความสำคัญอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ต้องหาและจำเลย หลังจากกฎหมายได้รับอิทธิพลของแนวความคิดในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ทำให้มีการแก้ไขกฎหมายทั้งเนื้อหาของกฎหมายและกระบวนพิจารณาคดีโดยมีการคำนึงถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา

แต่เดิมนั้นการพิจารณาของศาลใช้ระบบการพิจารณาแบบไต่สวนโดยที่ผู้ทำการไต่สวนใช้วิธีการไต่สวนคดีโดยใช้การทรมาณเพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นรับสารภาพ ซึ่งไม่เป็นธรรมเพราะไม่ให้จำเลยต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

แต่ในปัจจุบันผู้ต้องหาและจำเลยมีสิทธิในการต่อสู้คดีอาญาอย่างเต็มที่ เช่น มีสิทธิไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง การจับการค้นต้องกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีสิทธิในการมีทนายความ ซึ่งสิทธิเหล่านี้กฎหมายยังกำหนดหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น เจ้าพนักงานที่ทำการจับกุมหรือรับมอบตัว พนักงานสอบสวน มีหน้าที่ต้องแจ้งสิทธิต่างๆตามกฎหมายให้ผู้ต้องหาและจำเลยทราบอีกด้วย

วัตถุประสงค์ที่ต้องมีการแจ้งสิทธิต่างๆ ให้ผู้ต้องหาและจำเลยทราบก็เพื่อใ้ห้เขารับรู้ถึงสิทธิของเขาในการต่อสู้คดี หากเขาจะรับสารภาพก็ต้องเกิดขึ้นจากความสมัครใจ

ดังนั้นนอกจากมีการแจ้งสิทธิต่างๆที่เขามีตามกฎหมายแล้ว ยังต้องมีผู้พิทักษ์สิทธิของเขาด้วย กฎหมายจึงกำหนดให้ขั้นตอนการสอบสวนและในชั้นศาลผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องมีทนายความเพื่อต่อสู้คดี

ในชั้นสอบสวน

มาตรา 134/1 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่ผู้ต้องหามีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้
     ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและผู้ต้องหาต้องการทนายความ ให้รัฐจัดหาทนายความให้
     การจัดหาทนายความตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง ให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง และให้ทนายความที่รัฐจัดหาให้ได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมกำหนด โดยได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง
     เมื่อได้จัดหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง หรือวรรคสามแล้ว ในกรณีจำเป็นเร่งด่วน หากทนายความไม่อาจมาพบผู้ต้องหาได้ โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้องให้พนักงานสอบสวนทราบหรือแจ้งแต่ไม่มาพบผู้ต้องหาภายในเวลาอันสมควร ให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนผู้ต้องหาไปได้โดยไม่ต้องรอทนายความ แต่พนักงานสอบสวนต้องบันทึกเหตุนั้นไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย

ในชั้นพิจารณาของศาล

มาตรา 173 ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
     ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้
     ให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายความที่ศาลตั้งตามมาตรานี้ โดยคำนึงถึงสภาพแห่งคดีและสภาวะทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมกำหนดโดยความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง

จะเห็นได้ว่ากฎหมายประสงค์จะให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีผู้พิทักษ์สิทธิในการต่อสู้คดี โดนเฉพาะคดีที่มีอัตราโทษสูงหรือคดีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยอายุไม่เกิน 18 ปี ถ้าไม่มีทนายความรัฐต้องจัดหาทนายความให้เสมอไม่ต้องถามความต้องการ

ถ้ารัฐไม่จัดหาทนายความให้ จะมีผลอย่างไร จะทำให้การสอบสวนหรือพิจารณาคดีไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือจะมีผลทำให้ไม่อาจรับฟังถ้อยคำที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ไว้ได้เท่านั้น

ในเรื่องนี้ศาลได้ตัดสินไว้เป็นแนวดังนี้

คำพิพากษาฎีกา 1130/2553

      คดีมีโทษถึงประหารชีวิต การสอบสวนคำให้การของผู้ต้องหาจึงอยู่ในบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นสิทธิเด็ดขาดของผู้ต้องหาที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐในการจัดหาทนายความให้ เมื่อพนักงานสอบสวนถามแล้วผู้ต้องหาไม่มีทนายความ เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานสอบสวนต้องหาทนายความให้แก่ผู้ต้องหา ตามบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาและแจ้งสิทธิให้จำเลยทราบแล้ว และสอบถามเรื่องทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธไม่ต้องการทนายความหรือผู้ที่ไว้วางใจเข้ารับฟังการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยตามคำให้การดังกล่าวจำเลยไม่ขอให้การโดยจะไปให้การในชั้นศาล การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคหนึ่ง แต่ในบทบัญญัติมาตรา 134/4 วรรคท้าย บัญญัติไว้เพียงว่า ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตามมาตรา 134/1 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้ ฉะนั้นแม้พนักงานสอบสวนจะไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยก็ไม่ทำให้การสอบสวนไม่ชอบแต่อย่างใด เมื่อมีการสอบสวนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง






No comments:

Post a Comment