Tuesday 12 July 2016

Miranda warning


มิแรนดากับป.วิอาญามาตรา 83 วรรคสอง

โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์

นายเออเนสโต มิแรนดา
ผู้เขียนได้ยินเรื่องคดีมิแรนดากับมลรัฐอริโซนาเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2512 ตอนที่เรียนหนังสืออยู่ที่มลรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เพราะมีกรณีที่มีชายอเมริกันคนหนึ่งใช้มีดไล่แทงผู้หญิงคนหนึ่งเป็นระยะทางร่วม 3 สี่แยก กลางนครนิวยอร์ก (ในนครนิวยอร์กนั้นสี่แยกหนึ่งๆ ไม่ห่างกันมากนักเป็นแบบตาหมากรุก) บาดแผลจากมีดที่ร่างกายสตรีผู้นั้นมีร่วม 90 แผล ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเธอเสียชีวิตท่ามกลางประจักษ์พยานเป็นร้อยคน เมื่อตำรวจเข้าทำการจับกุมและตัวผู้ชายคนฆ่าก็จำนนด้วยหลักฐานได้สารภาพผิดต่อตำรวจ แต่กลับคำให้การในชั้นศาล


ปรากฏว่าศาลนิวยอร์กได้พิพากษาปล่อยตัวจำเลยไปโดยอ้างว่าตำรวจเข้าจับกุมโดยไม่แจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุมให้ทราบเสียก่อนโดยอ้างคดีมิแรนดากับอริโซนาที่ศาลฎีกาสหรัฐพิพากษาไว้เป็นบรรทัดฐานว่าการทำการจับกุมซึ่งผิดมาตราที่ 5 ของกฎหมายว่าด้วยสิทธิของประชาชน (Bill of Rights) ในรัฐธรรมนูญแห่งสหรัฐอเมริกาที่ว่า "บุคคลจะต้องไม่เป็นพยานกล่าวโทษตนเองในคดีอาญา (self-incrimination)" ก็เกิดจากปัญหาถ้าพูดอะไรกับเจ้าพนักงานตำรวจไปแล้วคำพูดเหล่านั้นอาจจะเป็นหลักฐานมีโทษต่อตัวเองได้ ก็เหมือนกรณีที่ผู้ต้องหาคดีอาญาในเมืองไทยมักพูดว่าจะขอให้การในชั้นศาลนั่นเอง

ซึ่งคดีมิแรนดากับอริโซนากับคดีของฆาตกรที่นิวยอร์กนี้เป็นเรื่องราวใหญ่โต เพราะผู้คนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของศาลจึงเป็นเรื่องที่อภิปรายถกเถียงกันใหญ่โตทั้งในชั้นเรียนและทางโทรทัศน์ไปนานนับเดือนเลยทีเดียว

คนอเมริกันเมื่อถูกจับในคดีอาญาจึงมักพูดว่า "จะใช้บทที่ 5" คือไม่ให้การอะไรทั้งสิ้นจนกว่าทนายของตนจะมาอยู่ด้วยสืบเนื่องจากบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ 5 นี่เอง เจ้าพนักงานตำรวจของสหรัฐจึงต้องอ่านคำเตือนที่เรียกว่า "คำเตือนมิแรนดา" (The Miranda rules) ให้ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมฟังทุกครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาให้การที่เสียผลประโยชน์ต่อตนเอง คำเตือนมิแรนดามีใจความสำคัญ 3 ข้อคือ

มิรานดา เมย์ เคอร์ หนึ่งในนางแบบวิกทอเรียส์ซีเครต ไม่เกี่ยวข้องอะไรในบทความนี้เลยนอกจากมีภาพและเรื่องมากกว่านายเออเนสโตในอินเตอร์เน็ตมาก
1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะไม่พูดอะไรเลย2) หากผู้ต้องหาพูดหรือให้การอะไรไป อาจถูกนำไปใช้กล่าวโทษในการฟ้องร้องตนเองได้3) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะมีทนายความในระหว่างถูกสอบสวนคำเตือนมิแรนดานี้ได้ชื่อมาจากคดีที่นายเออเนสโต มิแรนดา ชาวอริโซนา อายุ 23 ปี ถูกจับที่บ้านตนเอง ในข้อหาลักพาและข่มขืนสตรี ครั้งแรกมิแรนดาปฏิเสธ แต่หลังจากถูกสอบสวน 2 ชั่วโมงเขาก็สารภาพและลงนามในหนังสือสารภาพว่าได้กระทำผิดจริง เขาถูกตัดสินลงโทษจำคุกคดีนี้ แต่มีการอุทธรณ์ไปถึงศาลฎีกาสหรัฐใน พ.ศ.2509 ศาลฎีกาสหรัฐพิพากษาว่า ตำรวจทำผิดละเมิดสิทธิที่จะมีทนายในระหว่างการให้การสอบสวน ศาลฎีกาสหรัฐพิพากษาให้ปล่อยตัวนายมิแรนดา ตั้งแต่นั้นมาตำรวจในสหรัฐก็จะมีใบคำเตือนมิแรนดาติดตัวเอาไว้อ่านให้ผู้ต้องหาฟังทุกครั้งที่มีการจับกุมตัวผู้ต้องหาสำหรับเรื่องที่ว่าบุคคลจะต้องไม่เป็นพยานกล่าวโทษตนเองในคดีอาญา ก็เกิดจากปัญหาถ้าพูดอะไรกับเจ้าพนักงานตำรวจไปแล้วคำพูดเหล่านั้นอาจจะเป็นหลักฐานมีโทษต่อตัวเองได้ ดังนั้น คนอเมริกันส่วนใหญ่ที่รู้กฎหมายเมื่อถูกจับในคดีอาญาจึงมักพูดว่า "จะใช้บทที่ 5" คือไม่ให้การอะไรทั้งสิ้นจนกว่าทนายของตนจะมาอยู่ด้วย ซึ่งก็เหมือนกรณีที่ผู้ต้องหาคดีอาญาในเมืองไทยมักพูดว่าจะขอให้การในชั้นศาลนั่นเองผู้เขียนได้ฟังและเรียนรู้เรื่องนี้เมื่อ พ.ศ.2512 ครั้งนั้นเองแม้ว่าจะโมโหมากในเบื้องแรกที่ศาลสหรัฐและศาลนิวยอร์กได้ปล่อยคนที่น่าจะผิดชัดๆ เป็นอิสระไปได้ด้วยเรื่องของเทคนิคัลลิตี้แท้ๆ แต่ก็รู้สึกชอบใจในคำเตือนมิแรนดาอยู่มากทีเดียวและได้แต่หวังลมๆ แล้งๆ ว่าเมืองไทยคงจะมีขึ้นบ้างละน่าในเวลาต่อไปซึ่งใน พ.ศ.2547 (32 ปีหลังจากนั้น) ก็มีการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83 ความว่า"มาตรา 83 ในการจับนั้น เจ้าพนักงานหรือราษฎรซึ่งทำการจับต้องแจ้งแก่ผู้ที่จะถูกจับนั้นว่า เขาต้องถูกจับ แล้วสั่งให้ผู้ถูกจับไปยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ถูกจับ พร้อมด้วยผู้จับ เว้นแต่สามารถนำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบได้ในขณะนั้น ให้นำไปที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดังกล่าว แต่ถ้าจำเป็นก็ให้จับตัวไปในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้ และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วยถ้าบุคคลซึ่งจะถูกจับขัดขวางหรือจะขัดขวางการจับ หรือหลบหนีหรือพยายามจะหลบหนี ผู้ทำการจับมีอำนาจใช้วิธีหรือการป้องกันทั้งหลายเท่าที่เหมาะสมแก่ พฤติการณ์แห่งเรื่องในการจับนั้น" ครับ! ด้วยอานิสงส์ของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 แท้ๆ ที่บ้านเราได้ "คำเตือนมิแรนดา" มาด้วยจากประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83 แก้ไขเมื่อ พ.ศ.2547 แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2557 เวลา 14.00 น. นางสาวอภีษฎา สัจพันโรจน์ อายุ 21 ปี ซึ่งเป็นนิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกกลุ่มชายฉกรรจ์ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบรุมล้อม ขณะขับขี่รถยนต์ ยี่ห้อ ซูซูกิ สวิฟท์ สีเทาดำ ทะเบียน 1 กฆ 1993 กรุงเทพมหานคร จึงได้ขับรถหลบหนี จนเป็นเหตุให้ถูกกลุ่มชายดังกล่าวขับรถชนและใช้อาวุธปืนยิงจนได้รับความเสียหาย เหตุเกิดซอยรามคำแหง 118 แยก 44 หมู่บ้านพฤกษชาติ แขวงและเขตสะพาน มีคลิปแพร่อยู่ในอินเตอร์เน็ตกันให้ว่อน เห็นแล้วก็กลุ้มใจเพราะบ้านเรามีกฎหมายดีๆ เยอะครับ แต่ไม่ค่อยได้ปฏิบัติตามกฎหมายกันนักโดยเฉพาะตำรวจที่น่าจะระลึกถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 83 เพราะเป็นอาชีพของตำรวจแท้ๆ ที่มีหน้าที่จับกุมผู้ต้องสงสัยอยู่ทุกวัน


.....


(ที่มา:มติชนรายวัน 13 สิงหาคม 2557)
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1407930503

No comments:

Post a Comment