Friday 21 October 2016

ความผิดในตัวเองกับความผิดเพราะกฎหมายบัญญัติเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

5. ความผิดในตัวเองกับความผิดเพราะกฎหมายบัญญัติเหมือนหรือต่างกันอย่างไร


ความผิดในตัวเอง (mala in se) เป็นความผิดที่คนทั่วไปในสังคมรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด แม้ประชาชนนั้นไม่รู้ว่ามีกฎหมายบัญญัติไว้ว่าอย่างไร เพราะความผิดในตัวเองเป็นความผิดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ที่คนในสังคมต่างก็รู้สึกได้ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการกระทำที่ผิด เป็นการกระทำที่ชั่วร้าย ซึ่งต่อมาก็พัฒนามาเป็นกฎหมายเพื่อให้มีสภาพบังคับต่อคนที่ละเมิดให้ต้องรับโทษ
         
         ความผิดในตัวเอง (mala in se) นั้นประชาชนทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าการกระทำเช่นไรเป็นความผิด ไม่จำเป็นจะต้องเรียนหรือรู้กฎหมาย เพราะเป็นเรื่องเดียวกับหลักศีลธรรม  เช่น การเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปนั้นประชาชนโดยทั่วไปย่อมรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่รู้ว่ามีโทษเท่าไหร่ แต่ก็ทราบว่าเป็นการกระทำที่เป็นความผิด ดังนั้นความผิดในตัวเองนี้ ผู้ที่กระทำความผิดจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้เลย เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนโดยทั่วไปย่อทราบได้อย่างดีอยู่แล้ว
                
        ความผิดเพราะกฎหมายห้าม (mala prohibita) เป็นความผิดที่เกิดจากการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิด โดยอาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับศีลธรรมเลย คนทั่วๆ ไปในสังคมจะไม่รู้สึกว่าคนที่กระทำความผิดฐานนี้เป็นคนไม่ดีหรือเป็นคนชั่ว เพราะไม่อาจตัดสินได้จากความรู้สึก เช่น ความผิดฐานขับรถเร็วกว่าที่กฎหมายกำหนดตามกฎหมายจราจร เป็นการกระทำความผิดเพราะกฎหมายห้ามไม่ให้ขับรถเร็ว การขับรถเร็วหรือช้าไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรม ไม่ได้เป็นความผิดในตัวมันเอง แต่เพราะกฎหมายไปกำหนดให้การขับรถเร็วเกินกว่าอัตราความเร็วเท่าใดเป็นความผิด

     ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ความผิดในตัวเองนั้น ประชาชนย่อมรู้ได้ตามหลักศีลธรรม แต่ความผิดบางฐานไม่ว่าจะเป็นความผิดในประมวลกฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหลักศีลธรรม ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมาย เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดทางอาญาอาญาได้หรือไม่


ความไม่รู้กฎหมาย ม. 64

      มาตรา 64 บุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดในทางอาญาไม่ได้ แต่ถ้าศาลเห็นว่าตามสภาพและพฤติการณ์ ผู้กระทำความผิดอาจจะไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

     ความไม่รู้กฎหมายนั้นโดยหลักแล้วไม่อาจเอามาอ้างเพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดได้  เพราะกฎหมายสันนิษฐานว่าบุคคลทุกคนย่อมต้องรู้ว่ากฎหมายมีอยู่อย่างไร เป็นหน้าที่้ของประชาชนเองที่ต้องคอยติดตามว่ารัฐประกาศใช้กฎหมายอะไรบ้าง แต่อย่างไรก็ตามย่อมเป็นการพ้นวิสัยที่ประชาชนทุกคนจะรู้วส่านกฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร โดยเฉพาะการบัญญัติความผิดตามกฎหมายอาญาที่เป็นความผิดเพราะกฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายจราจร พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ซึ่งประชาชนทั่วไปอาจไม่ทราบ เพราะไม่ใช่ความผิดในตัวเอง ดังนั้นหากผู้กระทำความผิดอ้างว่าไม่รู้วกฎหมาย ศาลอาจอนุญาตให้แสดงพยานหลักฐานต่อศาล และถ้าศาลเชื่อว่าผู้กระทำไม่รู้ว่ากฎหมายบัญญัติไว้เช่นนั้นศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3142/2557 แม้จำเลยและผู้เสียหายเป็นเจ้าของรวมในสวนยางพาราที่เกิดเหตุ แต่ก่อนเกิดเหตุจำเลยยอมให้ผู้เสียหายครอบครองและได้ประโยชน์เพียงผู้เดียว การที่จำเลยจ้าง ส. เข้าไปกรีดยางพาราจะเอาน้ำยางพาราไปเพียงผู้เดียว จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ย่อมเป็นการทุจริตแล้ว เมื่อน้ำยางพาราที่กรีดยังอยู่ในถ้วยรองน้ำยางยังไม่ได้ถูกนำไป เป็นเพียงพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การที่จำเลยเข้าใจว่ามีอำนาจทำได้โดยสุจริตและ ส. ก็กระทำโดยเปิดเผย เป็นการอ้างความไม่รู้ข้อกฎหมายของจำเลยในเรื่องนี้ ซึ่งใช้แก้ตัวให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาไม่ได้ตาม ป.อ. มาตรา 64
คำพิพากษาฎีกาที่ 2325/2551 คำฟ้องบรรยายชัดแจ้งถึงประกาศกรมสรรพสามิตเรื่อง กำหนดราคายาสูบเพื่อประโยชน์ในการคำนวณค่าปรับ ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2542 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 26 (พ.ศ.2544) พร้อมรายละเอียดของวันที่ได้ประกาศ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมเป็นการรับสารภาพตามข้อความที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ทั้งกฎกระทรวงดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2544 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศกฎกระทรวงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับเช่นกฎหมาย การที่จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องจึงเป็นการเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยทราบประกาศกรมสรรพสามิตและกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว จำเลยไม่อาจแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามประกาศกรมสรรพสามิตและกฎกระทรวงดังกล่าวได้









No comments:

Post a Comment