Friday 21 October 2016

กฎหมายอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดหมายความว่าอย่างไร

3. กฎหมายอาญาจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดหมายความว่าอย่างไร


กฎหมายอาญาต้องตีความโดยเคร่งครัด หมายความว่า กฎหมายอาญานั้นจะตีความโดยนำจารีตประเพณีมาใช้บังคับเป็นผลร้ายกับผู้กระทำความผิดไม่ได้ หรือจะนำกฎหมายใกล้เคียง (Analogy) มาใช้ให้เป็นผลร้ายมิได้ รวมถึงจะนำหลักกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับเป็นกฎหมายมิได้
                การตีความกฎหมายอาญานั้นยังแตกต่างกันตามระบบกฎหมายของแต่ละประเทศว่าใช้ระบบกฎหมายใด เช่น ประเทศที่ใช้ระบบกฎหมาย Common law การตีความ ระหว่างความผิดที่เรียกว่า Common law crime ก็แตกต่างจากการตีความ ความผิดที่เป็น Statutory crime
                ส่วนการตีความระบบกฎหมาย Civil Law ซึ่งกฎหมายของไทยก็ใช้กฎหมายแบบระบบลายลักษณ์อักษรที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ ประมวลกฎหมายอาญา (Criminal Code) ซึ่งหลักการตีความกฎหมายอาญาในระบบ Civil Law นั้นจะต้องตีความตามตัวอักษรและตามเจตนารมณ์เพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริง โดยต้องไม่ตีความขยายความหมายเกินไปจนไปกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ในมาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์...” ซึ่งวัตถุแห่งการกระทำความผิดในฐานนี้คือ การกระทำต่อทรัพย์ ซึ่งต้องตีความคำว่า ทรัพย์ ว่าหมายถึงอะไร ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้นมีการให้ความหมายของทรัพย์ไว้ว่าหมายถึง “วัตถุที่มีรูปร่าง”  ดังนั้นหากเป็นการกระทำต่อวัตถุที่ไม่มีรูปร่าง เช่น พลังงาน หรือคลื่นโทรศัพท์ ย่อมไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ได้ เพราะไม่ใช่ทรัพย์ แต่มีคำพิพากษาฎีกา 877/2501 ซึ่งได้ตัดสินไว้ว่าการลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 8/2501) ศาลฎีกาในคดีได้ตัดสินว่าการลักกระแสไฟฟ้าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แสดงว่าศาลตีความว่ากระแสไฟฟ้าเป็นทรัพย์และมีรูปร่างนั้นเอง

คำพิพากษาฎีกาที่ 6666/2542 การที่จำเลยดึงรั้วไม้ไผ่ผ่าซีกที่ยึดติดเป็นแผงซึ่งเป็นรั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 แล้วนำไปเผาทำลายนั้น เป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เพียงบทเดียว มิใช่กระทำผิดหลายบท เพราะจำเลยมีเจตนาจะทำลายรั้วไม้ไผ่ที่ปักติดเป็นแผงโดยนำไปเผาให้ใช้การไม่ได้เท่านั้น การเผาแผงไม้ไผ่นั้น เป็นการทำลายทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่ 1 ให้เสียหาย มิใช่วางเพลิงเผาทรัพย์รั้วบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 เนื่องจากจำเลยมิได้วางเพลิงเผาแผงไม้ไผ่ ในขณะที่มีสภาพเป็นรั้วบ้านกั้นขอบเขต เป็นที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วมที่ 1 อันจะต้องด้วยความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 (โดยเจตนารมณ์ของความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์เป็นความผิดที่อยู่ในลักษณะ6 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ดังนั้นลักษณะของการวางเพลิงต้องก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนได้ แต่คำพิพากษาฎีกานี้การเผาไม้ไผ่ หาทำให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนได้ไม่ ดังนั้นจึงไม่มีความผิดตาม มาตรา 217 )





No comments:

Post a Comment