Monday, 18 September 2017

12. เจตนากับประมาทเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

12. เจตนากับประมาทเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

               การกระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด และในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ดังนั้นเจตนาจึงประกอบไปด้วยองค์ประกอบสำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนรู้ และส่วนของความต้องการ ส่วนรู้หมายถึงรู้สึกนึกในการกระทำและข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบ ส่วนของความต้องการ คือ การประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผล

               ตามประมวลกฎหมายอาญา ได้กำหนดความหมายของประมาทไว้ในมาตรา 59 วรรคสี่ การกระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ ซึ่งความแตกต่างระหว่างเจตนากับประมาท มีดังนี้

                1. ระดับความชั่วร้ายของจิตใจผู้กระทำแตกต่างกัน การกระทำความผิดโดยเจตนานั้นถือว่าเป็นการกระทำโดยที่ผู้กระทำมีความชั่วร้ายของจิตใจสูงกว่าผู้ที่กระทำโดยประมาท เพราะประสงค์หรือเล็งผลได้ว่าจะเกิดผลร้ายต่อผู้อื่น เช่น การกระทำโดยมุ่งประสงค์ให้เขาตาย ส่วนคนที่กระทำโดยประมาทนั้นไม่ได้ประสงค์หรือเล็งเห็นได้ว่าเขาจะตาย แต่เป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังและผลของการไม่ระมัดระวังนั้นเป็นผลให้คนตาย

                2. การกระทำโดยประมาท “ไม่มีการพยายามกระทำความผิด” ตาม มาตรา80 เพราะการพยายามกระทำความผิดมีได้แต่การกระทำโดยเจตนาเท่านั้น เช่น แดงขับรถด้วยความประมทเลินเล่อจะชนดำ แต่ดำไม่ได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า การกระทำโดยประมาทจะมีความผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อเกิดความเสียหายเกิดขึ้น เช่น ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นต้น แต่หากเป็นการกระทำโดยเจตนา หากว่าได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แม้ผลของการกระทำนั้นไม่บรรลุผลตามเจตนา เช่น ใช้ปืนยิงแล้วแต่เขาไม่ตาย ผู้กระทำก็มีความผิดฐานพยายามกระทำความผิด ต้องรับโทษสองในสามแล้ว

                3. การกระทำโดยประมาทจะไม่มีผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด กล่าวคือ จะมีตัวการ ผู้ใช้ผู้สนับสนุนไม่ได้ เช่น คำพิพากษาฎีกา 1337/2534 ผู้สนับสนุนในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดนั้นมีได้เฉพาะการสนับสนุนผู้ลงมือกระทำความผิดโดยเจตนาเท่านั้น ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดโดยประมาทไม่อาจมีได้ตามกฎหมายเพราะผู้สนับสนุนต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลในการสนับสนุนด้วย โดยสภาพจึงไม่อาจมีการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำผิดโดยประมาทได้

4. ความผิดในประมวลกฎหมายอาญาส่วนใหญ่จะต้องกระทำโดยเจตนา ดังนั้นในประมวลกฎหมายอาญา ความผิดฐานต่าง ๆ หากเป็นความผิดที่ต้องกระทำโดยเจตนาจะไม่มีการบัญญัติไว้ในตัวบท เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา มาตรา 288 “ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี” ส่วนความผิดฐานใดกระทำโดยประมาทในตัวบทมาตรานั้น ๆ จะระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องกระทำโดยประมาท เช่น มาตรา 291 “ผู้ใดกระทำโดยประมาทและการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท” และ มาตรา 300 “ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เป็นต้น




108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา



loading...

No comments:

Post a Comment