Monday 18 September 2017

21. ผู้กระทำทางอาญามีกี่ประเภทและแต่ละประเภทเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

21. ผู้กระทำทางอาญามีกี่ประเภทและแต่ละประเภทเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร


   ความรับผิดในทางอาญาเกิดขึ้นได้แก่บุคคลเท่านั้น สัตว์และสิ่งของ ย่อมไม่อาจ เป็นผู้กระทำผิดได้ บุคคลที่เป็นมนุษย์และนิติบุคคลก็สามารถกระทำผิดได้ ความผิดอาญาส่วนใหญ่ ไม่ได้จำกัดผู้กระทำผิดว่าหมายถึงใคร มักจะใช้คำว่า “ผู้ใด” Whoever เว้นแต่ความผิดบางฐาน เช่น ความผิดฐานทำให้แท้งลูกผู้กระทำต้องเป็นหญิงเท่านั้น ความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบผู้กระทำต้องเป็นเจ้าพนักงานเท่านั้น

           ผู้กระทำความผิดอาญา แยกออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ผู้กระทำผิดเอง 2. ผู้กระทำผิดโดยอ้อม และ 3. ผู้ร่วมในการกระทำความผิด (Parties to Crime)

 1. ผู้กระทำผิดเอง หมายถึงผู้นั้นได้กระทำผิดเองโดยตรง เช่น ใช้มีดฟัน ใช้ปืนยิงเอง เอาทรัพย์ของผู้อื่นไปเอง หรือการใช้สัตว์เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด เช่น ใช้สุนัขที่เลี้ยงไว้ไปคาบ เอากระเป๋าเงินของคนอื่น หรือการใช้บุคคลผู้ไม่มีการกระทำเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด เช่น สะกดจิตใช้ให้ไปฆ่าคน หรือขณะที่ขาวเผลอ แดงจับมือขาวเขกหัวดำ

          2. ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม  ซึ่งมีหลายกรณี เช่น

          1) ผู้ที่ใช้หรือหลอกลวงบุคคลซึ่งมีการกระทำ ให้การกระทำผิดโดยที่ผู้ถูกใช้หรือถูกหลอก ไม่ต้องรับผิดโดยเจตนา เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เช่น แดงต้องการหยิบร่มของนายดำ แต่ดำไม่กล้าหยิบเอง จึงบอกนายขาว ช่วยหยิบร่มของนายดำให้ โดยหลอกว่าเป็นร่มของนายแดงเอง นายขาวหลงเชื่อ ตัวอย่างที่ 2 แดงหลอกให้ดำซึ่งเป็นพยาบาลเอายาพิษไปให้ขาวกิน โดยหลอกว่า เป็นยาบำรุง ดำหลงเชื่อจึงเอายาพิษไปให้นายขาวกินจนตาย ทั้งตัวอย่างที่ 1 และ 2 นายแดง คือ ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ส่วนนายดำ คือ เครื่องมือในการกระทำความผิด (Innocent Agent) ของนายแดง
  
          ข้อสังเกตเกี่ยวกับ innocent agent การใช้หรือหลอก Innocent Agent เปรียบเสมือนผู้กระทำผิดได้ลงมือกระทำผิดด้วยมือของตัวเอง ผู้ที่เป็น Innocent Agent ไม่มีความผิดฐานกระทำโดยเจตนา แต่อาจมีความรับผิดโดยประมาทได้ (ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณี ๆ ไป)

2) ผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยที่ผู้ถูกหลอกไม่ต้องรับผิดฐานกระทำโดยเจตนา เพราะมีกฎหมายยกเว้นความผิดให้ เช่น แดงต้องการฆ่าดำ จึงตะโกนบอกขาวว่า ดำกำลังจะยิงขาว ขาวได้ยินแดงตะโกนบอกจึงเข้าใจว่าดำกำลังจะยิงตนจริงๆ จึงเอาปืนยิงดำก่อน (แดงเป็นผู้กระทำผิดโดยอ้อม ส่วนดำเป็น Innocent Agent)

3) ผู้ที่หลอกให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยผู้หลอกมีเจตนากระทำความผิดต่อผู้เสียหาย แต่ผู้กระทำผิดได้กระทำความเพียงฐานประมาท เช่น แดงต้องการฆ่าขาว แต่ไม่กล้ายิงขาวเอง จึงหลอกขาวว่าปืนไม่มีลูก แต่ดำไม่ดูให้ดีว่าปืนมีลูก หรือเปล่า จึงยิงขาวตาย

4) ผู้ที่ใช้ให้บุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้กระทำผิดได้ในฐานะเป็นผู้กระทำผิดเอง ให้กระทำผิด เช่น แดงเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร ใช้ให้นายดำซึ่งเป็นประชาชนธรรมดา ปลอมเอกสารซึ่งแดงมีหน้าที่ทำ ตาม มาตรา161


3. ผู้ร่วมกระทำความผิด (parties to crime) หมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในการกระทำความผิด ตั้งแต่สองคนขึ้น ผู้มีส่วนร่วมกระทำความผิดในกฎหมายไทยมี 3 ประเภท คือ 1) ตัวการ ตาม มาตรา83 2) ผู้ใช้ ตาม มาตรา84 มาตรา85 และ 3) ผู้สนับสนุน ตาม มาตรา86







108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา

No comments:

Post a Comment