Wednesday, 26 December 2012

การชันสูตรพลิกศพ (post mortem examination)


"การชันสูตรพลิกศพ (post mortem examination)" 

การชันสูตรพลิกศพ คือ การตรวจพิสูจน์เพื่อดูสภาพศพแต่เพียงภายนอก ค้นหาสาเหตุและพฤติการณ์ที่ตายว่าผู้ตายคือใคร ตายเมื่อใด ถ้าตายโดยคนทำร้าย สงสัยว่าใครเป็นผู้กระทำความผิดที่ทำให้เกิดการตาย
ตามประมวลกฎหมายิธีพิจารณาความอาญานั้นกำหนดว่า การตายต่อไปนี้จะต้องมี การชันสูตรพลิกศพ

โดยที่กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดให้ต้องมีการชันสูตรพลิกศพในกรณีดังต่อไปนี้

มาตรา 148 "เมื่อปรากฏแน่ชัด หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติ หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ"

การตาย 2 ประเภทที่จะต้องมีการชันสูตรพลิกศพ

1. การตายโดยผิดธรรมชาติ เช่น 


    (1) ฆ่าตัวตาย
    (2) ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
    (3) ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
    (4) ตายโดยอุบัติเหตุ
    (5) ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ

2. การตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน เช่น ฝากขังหรือถูกควบคุมตัวไว้บนสถานีตำรว

หากการชันสูตรพลิกศพนั้นพบว่า การตายนั้นเป็นผลมาจากการกระทำผิดอาญา การชันสูตรพลิกศพจะมีผลต่อการสอบสวนคดีอาญา

มาตรา 129 "ให้ทำการสอบสวนรวมทั้งการชันสูตรพลิกศพ ในกรณีที่ความตายเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการชันสูตรพลิกศพ ถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามมิให้ฟ้องผู้ต้องหายังศาล"

โดยหลักแล้วหากความตายนั้นเป็นผลแห่งการกระทำผิดอาญา ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ และถ้าการชันสูตรพลิกศพยังไม่เสร็จ ห้ามฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล

หากไม่มีการชันสูตรพลิกศพเลย หรือมีการชันสูตรพลิกศพ แต่การชันสูตรนั้นไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย เช่น คนลงลายมือชือเป็นสัปเหร่อ ไม่ใช่แพทย์ หรือว่าโดยสภาพของศพไม่อาจชันสูตรได้ เช่น ศพถูกเผาไปแล้ว (ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้องจำเลยได้)

และหากคดีนั้นเป็นคดีที่ราาฎรฟ้องเอง(ผู้เสียหายฟ้องเอง) ย่อมไม่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ

>>>และหากการตายนั้นเป็นการตายโดยเกิดขึ้นจากในกรณีที่มีความตายเกิดขึ้นโดย การกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ การชันสูตรพิกศพอย่างเดียวไม่เพียงพอแต่จะต้องมีการไต่สวนถึงสาเหตุการตายโดยศาลก่อน เพื่อตรวจสอบการกระทำของเจ้าพนักงานและเพื่อเป็นการปรามเจ้าหน้าที่คนอื่นๆไปในตัว

.........................................................
คำพิพากาาฎีกาที่น่าสนใจ

คำพิพากษาฎีกาที่ 4239 - 4240/2542


แม้การที่พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาออกนอกพื้นที่ที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อตรวจค้นตามหมายค้นจะเป็นการนอกเหนือจากคำร้องขอฝากขังที่ระบุว่าขอรับตัวผู้ต้องหาไปควบคุมยังที่ทำการของกองปราบปรามเพื่อให้พยานชี้ตัว แต่ก็ยังได้อ้างเหตุที่ต้องขออนุญาตฝากขังด้วยว่า การสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีก 15 ปาก ดังนั้น พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนพยานหรือกระทำการอื่นใดอันจำเป็นเพื่อให้การสอบสวนเสร็จสิ้นได้ มิได้จำกัดเพียงให้พยานชี้ตัวผู้ต้องหาเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตายเสร็จแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ผู้ต้องหาจะร้องขอให้แพทย์ในหน่วยนิติเวชของโรงพยาบาลรามาธิบดีตรวจพิสูจน์ศพ เพื่อใช้อ้างเป็นพยานหลักฐานของผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 อีกได้เพราะการชันสูตรพลิกศพเป็นการสอบสวนความผิดอาญาอย่างหนึ่งและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ได้ระบุผู้มีหน้าที่ทำการชันสูตรพลิกศพไว้แล้วคือ พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับสาธารณสุขจังหวัด หรือแพทย์ประจำสถานีอนามัยหรือแพทย์ประจำโรงพยาบาลถ้าบุคคลดังกล่าวไม่มีหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้ใช้เจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุขประจำท้องที่หรือแพทย์ประจำตำบลนอกจากนี้มาตรา 151 ได้ให้อำนาจผู้ทำการชันสูตรพลิกศพทำการผ่าศพแล้วแยกธาตุส่วนใดหรือจะให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปยังแพทย์หรือพนักงานแยกธาตุของรัฐบาลก็ได้ และมาตรา 153 ยังให้อำนาจผู้ชันสูตรพลิกศพจัดให้ขุดศพขึ้นเพื่อตรวจดูได้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติไว้โดยเฉพาะในภาค 2 ลักษณะ 2 หมวด 2 แล้วจึงนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 101 มาอนุโลมบังคับหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2530
ผู้ตายใช้มีดยาวประมาณ 1 ช่วงแขนไล่ฟันจำเลยที่ 1 จำเลยที่1 จึงใช้ปืนแก็ปยิงผู้ตาย 1 นัดขณะที่อยู่ห่างกันประมาณ 4วา ผู้ตายวิ่งหนีไป 2 วาก็ล้มลง จำเลยที่ 1 เอาปืนลูกซองยาวจากจำเลยที่ 2 มายิงซ้ำอีก 1 นัด แต่ไม่ถูกแล้วจำเลยทั้งสองนำผู้ตายไปทิ้งลงเหว ดังนี้ เป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาฆ่าผู้ตายหลังจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายได้ล่วงพ้นไปแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 1 เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

การชันสูตรพลิกศพเป็นส่วนหนึ่งของการรวบรวมพยานหลักฐานตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว แม้ไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็หาเป็นเหตุให้พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องไม่.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 106/2501
เมื่อผู้ต้องถูกควบคุมกักขังอยู่ในเรือนจำตายลงก็ถือว่าตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ชอบที่ศาลจะต้องทำการไต่สวนและมีคำสั่งตามกฎหมาย(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 2/2501)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 431/2488
คดีฆ่าคนตายที่ยังไม่ได้ชันสูตรพลิกศพเพราะเหตุที่ไม่สามารถจะทำการชันสูตรได้ทันท่วงทีโดยศพผู้ตายได้ถูกเผาเสียก่อนแล้วนั้น โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนั้นได้ แม้จะยังไม่มีการชันสูตรตามกฎหมายเสียก่อนก็ตาม

.................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คระนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
...........................................
ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ใช้คำว่า การชันสูตรพลิกศพ (post mortem examination)" 

และการผ่าศพใช้คำว่า "Autopsy"

No comments:

Post a Comment