Thursday, 12 December 2013

การกระทำในทางอาญา



การกระทำในทางอาญา


โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
เอกสารประกอบการสอนกฎหมายอาญาภาคทั่วไป (General principle of criminal Law


Structure of crime โครงสร้างความรับผิดทางอาญา

          โครงสร้างความรับผิดทางอาญามีความสำคัญ ในการวินิจฉัยความรับผิดทางอาญาของบุคคล ซึ่งต้องพิจารณาอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งเราเรียกขั้นตอนนี้ว่า "โครงสร้างความรับผิดทางอาญา" เมื่อเราพิจารณาไปตามโครงสร้างนี้แล้ว เราจะสามารถวินิจฉัยได้ว่า บุคคลนั้น ๆ จะมีความผิดทางอาญาหรือไม่ ต้องรับผิดหรือไม่ และหากมีความผิดจะต้องรับโทษหรือไม่




คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้




 โครงสร้างความรับผิดของกฎหมายอาญาไทย

          โครงสร้างความรับผิดทางอาญามีทั้งหมด 3 โครงสร้าง คือ
                   1. การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ   
                   2. การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด
                   3. การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ


ถาม-ตอบ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา

โครงสร้างข้อที่ 1 "การกระทำครบองค์ประกอบความผิด"
          ความผิดอาญาทุกฐานความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดในประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาอื่น ย่อมต้องมีองค์ประกอบความผิดเสมอ ซึ่งบุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาได้นั้นต้องมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละฐานนั้น

                   1. การกระทำ
                   2. การกรทำครบองค์ประกอบความผิด
                             2.1) การกรทำครบองค์ประกอบความผิดภายนอก (Outside)
                             2.2) การกรทำครบองค์ประกอบความผิดภายใน (Inside)
                   3. ผลของการกระทำสัมพันธ์กับการกระทำ (causation)

1. การกระทำ (Action)
          ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำ โดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมาย บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณี ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา”

-          การกระทำ คืออะไร

     การกระทำ (Action) หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก ที่ว่ารู้สำนึกหมายถึง การเคลื่อนไหวของร่ายกายนั้นต้องอยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ (Under the force of mind)
              1) มีความคิด ที่จะกระทำ
              2) มีการตกลงใจที่จะกระทำตามที่คิดไว้
              3) ได้กระทำไป(เคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย) ตามที่ได้ตกลงใจอันสืบเนื่องมาจากความคิด



พิจารณาตัวอย่าง
แดงโกรธดำ จึงเอาปืนของตัวเองยิงดำตาย แดงมีการกระทำหรือไม่?
- นางขาวถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วด้วยความอับอายจึงไม่ยอมให้ลูกกินนม จนลูกถึงแก่ความตาย นางขาวมีการกระทำหรือไม่?
- แดงเป็นนักว่ายน้ำทีมชาติ เห็นเด็กกำลังจะจมน้ำ สามารถช่วยได้แต่ไม่ช่วย เพราะนายแดงมีเรื่องบาดหมางกับพ่อของเด็กคนนั้น จนเด็กจมน้ำตาย แดงมีการกระทำหรือไม่

การกระทำ
แต่หากการเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการ คิด ตัดสินใจ กระทำตามที่ตัดสินใจ ถือว่าไม่มีการกระทำ เช่น
     - แดงและดำนอนหลับอยู่บนเตียงเดียวกัน แดงละเมอถีบดำจนดำตกเตียงศรีษะแตก
     - ขณะที่แดงเผลอ ดำจับมือแดงเขกหัวขาวอย่างแรง

ข้อพิจารณา
- การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายของบุคคลดังต่อไปนี้ ถือว่ามีการกระทำหรือไม่
     - เด็กทารกไร้เดียงสา
     - คนวิกลจริตหรือคนเมาสุราถึงขนาดที่ไม่รู้สภาพหรือสาระสำคัญในการกระทำของตน
     (ฏีกา 8743/2544 จำเลยปัญญาอ่อนถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้หวงห้ามเป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่งเท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำ...)
     - คนละเมอ
     - คนเป็นลมบ้าหมู
     - ผู้ที่ร่างกายกระตุกโดยไม่รู้ตัว
     - คนที่ถูกผลัก ถูกชน หรือถูกจับมือให้กระทำขณะเผลอ
     - คนที่ถูกสะกดจิต
     - คนที่เคลื่อนไหวร่างกายเพราะแรงธรรมชาติ

ข้อพิจารณา
     - ขณะแดงเดินลงบันไดปรากฎว่าเหยียบเปลือกกล้วยที่นายดำกินทิ้งไว้ ทำให้ลื่น ขณะที่กำลังจะล้ม นายแดงจึงเอามือคว้านายขาว จนเป็นเหตุให้นายขาวล้มตกบันไดจนได้รับบาดเจ็บ นายแดงมีการกระทำหรือไม่
     - แดงเป็นลมบ้าหมู แพทย์สั่งห้ามไม่ให้ขับรถเพราะอาจจะเกิดอาการชักเมื่อไหร่ก็ได้ แต่นายแดงก็ยังคงขับรถจนเกิดเป็นลมบ้าหมูชนนายดำตาย นายแดงมีการกระทำหรือไม่
     - นายแดงแอบเอากล่องนมบรรจุยาบ้าใส่ในกระเป๋าเดินทางของนายดำโดยที่นายดำไม่รู้ตัว
     - นายแดงแอบเอากล่องนมบรรจุยาบ้าใส่ในกระเป๋าเดินทางของนายดำโดยที่นายดำรู้ตัว แต่ไม่รู้ว่าเป็นยาบ้า
     - นายแดงแอบเอากล่องนมบรรจุยาบ้าใส่ในกระเป๋าเดินทางของนายดำโดยที่นายดำรู้ตัวโดยที่รู้ว่าเป็นยาบ้า แต่ก็ไม่ยอมเอาไปทิ้ง

สาเหตุที่กฎหมายไม่ลงโทษความคิดหรือการตกลงใจ

     1. ความคิดของบุคคลนั้นพิสูจน์ยากหากไม่มีการแสดงออกมา
     2. เป็นการยากที่จะแยกว่าความคิดของผู้นั้นเป็นเรื่องเพ้อฝันหรือมีความคิดจะกระทำแน่นอนขนาดไหน
     3. กฎหมายอาญาไม่ควนจะมีความหมายกว้างจครอบคลุมถึงเพียงแต่คิด โดยที่ยังไม่มีการกระทำ

ประเภทของการกระทำ การเคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สึกนึก
1.      การเคลื่อนไหวร่างกาย
2.      การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
2.1   การงดเว้นการกระทำ
2.2   การละเว้นการกระทำ

     1. การเคลื่อนไหวร่างกาย โดยหลักแล้ว การกระทำทางอาญาคือการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนการไม่เคลื่อนไหวร่างกายถือเป็นข้อยกเว้น การเคลื่อนไหวร่างกายมีหลายวิธี เช่น การยิงปืน ตี ต่อย เตะ ถีบ ขับรถ หลอกให้ตกใจ หลอกคนตาบอดให้เดินไปตกหลุม

     2. การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ถือเป็นข้อยกเว้นของการกระทำทางอาญา มี 2 ประเภท คือ 2.1 การกระทำโดยการงดเว้น และ 2.2 การกระทำโดยการละเว้น

2.1 การกระทำโดยการงดเว้น
ความหมายของการงดเว้น ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 วรรคท้าย การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
- งดเว้นการที่จักต้องกระทำ หมายถึง งดเว้นไม่กระทำในสิ่งที่ตนมีหน้าที่ต้องวกระทำ
- เพื่อป้องกันผล หมายถึง หน้าที่ที่ต้องกระทำนั้นเป็นหน้าที่โดยเฉพาะเพื่อป้องกันไม่ให้ผลเกิดขึ้น

หลักเกณฑ์ของการงดเว้น
1. เป็นการไม่กระทำ กล่าวคือ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก
2. ทั้งๆ ที่มีหน้าที่ต้องกระทำ
3. หน้าที่ต้องกระทำนั้นต้องเป็นหน้าที่ซึ่งต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้น

1. ไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก
     - นางขาวตั้งท้องกับนายแดง แต่แดงไม่ยอมรับ นางขาวอับอายที่ลูกไม่มีพ่อ เมื่อนางขาวคลอดลูกออกมา นางขาวจึงเอามือบีบคอลูกจนตาย
     - นางขาวตั้งท้องกับนายแดง แต่แดงไม่ยอมรับ นางขาวอับอายที่ลูกไม่มีพ่อ เมื่อนางขาวคลอดลูกออกมา นางขาวจึงไม่ยอมให้นมลูก จนลูกหิวนมตาย

2 ทั้งๆที่หน้าที่ต้องกระทำ
2.1 หน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
2.2 หน้าที่จากการยอมรับโดยเจาะจงหรือตามสัญญา
2.3  หน้าที่จากการกระทำก่อนๆของตน
2.4 หน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์เป็นพิเศษเฉพาะเรื่อง

2.1 หน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ตามกฎหมายแล้วผู้นั้นมีหน้าที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผล แต่งดเว้นไม่กระทำการ อันก่อให้เกิดผลร้ายขึ้น ทำให้ต้องรับผิดตามกฎหมายอาญา เช่น ป.พ.พ
     - มาตรา 1563 บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
     - มาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

พิจารณาตัวอย่าง
     - นายหนุ่มและนางสาวเป็นสามีภริยากัน ต่อมานางสาวคลอดลูกออกมา แต่ทั้งคู่ไม่เลี้ยงดูให้ดีปล่อยให้ลูกคลานไปตกบันไดจนถึงแก่ความตาย
     - ลูกนายหนุ่มและนางสาวป่วย นายหนุ่มและนางสาวไม่ยอมพาไปรักษา ยาก็ไม่ซื้อมาให้กินเพราะต้องการให้ลูกตาย จนลูกป่วยจนตาย

2.2 หน้าที่จากการยอมรับโดยเจาะจงหรือตามสัญญา หน้าที่อันเกิดจากการยอมรับโดยเจาะจงหรือตามสัญญานั้น เกิดขึ้นจากการที่ผู้นั้นได้ตกลงจะการะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ตามสัญญา แต่ไม่ได้กระทำการตามที่ได้ตกลงไว้ อันถือเป็นการงดเว้นที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผลร้าย เช่น หน้าที่ตามสัญญา หน้าที่จากการยอมรับ เช่น
     - มีคนเอาเด็กมาฝากเลี้ยงไว้หรือให้ดูแลชั่วคราว
     - เป็นนางพยาบาลดูแลรักษาคนไข้พิเศษ
     - เป็นคนดูแลสระน้ำ
     - เป็นคนดูแลเครื่องกั้นทางข้ามรถไฟ

2.3 หน้าที่จากการกระทำก่อนๆของตน หน้าที่อันเกิดจากการกระทำก่อน ๆ ของตนนั้น ไม่ได้เกิดจากกฎหมายบัญญัติ หรือไม่ได้เกิดจากการตกลงหรือสัญญากัน แต่เกิดขึ้นจากการกระทำก่อนหน้านั้นซึ่งทำให้ผู้นั้นต้องมีหน้าที่จะต้องทำให้สำเร็จเพื่อป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นได้ หากว่าไม่กระทำต่อ อันเป็นความรับผิดชอบของผู้นั้นเอง เช่น
     - แดงขับรถไปตามถนน เห็นคนขี่มอเตอร์ไซด์ล้มอยู่กลางถนน จึงเข้าไปช่วยพาส่งโรงพยาบาล แต่พาไปยังไม่ถึงโรงพยาบาลนึกได้ว่าต้องรีบไปเพราะมีนัด จึงเอาคนเจ็บมาไว้ที่เดิม
     - แดงพาคนตาบอดข้ามถนน เมื่อไปถึงเกาะกลางถนนแล้ว รถประจำทางมาพอดี จึงรีบวิ่งไปขึ้น ปล่อยคนตาบอดไว้แบบนั้น

2.4 หน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพะเรื่อง ไม่มีกฎหมายบัญญัติหน้าที่ต่อกันไว้อย่างชัดเจน แต่เนื่องจากมีความสัมพันธ์พิเศษ จึงก่อให้เกิดหน้าที่ต่อกัน เช่น
     - บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
     - ชายหญิงที่อยู่กันฉันสามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส
     - ป้าเอาหลานมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อป้าแก่ชราแล้วล้มป่วย หลานไม่ดูแลหาหมอมารักษา ไม่หาด๔แลอาหารให้ป้า ปล่อยให้ป้าป่วยจนตาย

ข้อสังเกตของการงดเว้น

     - การพิจารณาว่เป็นการงดเว้นการกระทำหรือไม่ นอกจากพิจารณาว่าผู้กระทำ มีหน้าที่ต้องกระทำแล้ว ยังต้องปรากฏว่าหน้าที่ต้องกระทำนั้น ต้องก็ทำเพื่อป้องกันผล เช่น แม่ไม่ยอมให้ลูกกินนม ทั้งที่มีหน้าที่ป้องกันความตายของลูก

พิจารณาตัวอย่างดังต่อไปนี้
     - แดงเป็นหนี้ดำ แต่เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว แดงไม่ยอมชำระหนี้ทั้งๆที่แดงรู้ว่า ตอนนี้ดำกำลังป่วยหนักไม่มีเงินรักษา เงินที่มีอยู่ก็ให้นายแดงยืมมาหมด นายแดงต้องการให้นายดำตาย
     - นายขาวเป็นตำรวจ เห็นนายเขียวกำลังจะยิงนายม่วง แต่นายขาวก็อยากให้นายม่วงตายอยู่แล้ว จึงไม่ขัดขวางหรือจับกุม
              - ถ้านายม่วงเป็นบุตรของนายขาว???
              - ถ้านายได้รับมอบหมายให้มาอารักขานายม่วงโดยเฉพาะ เช่น เป็นการคุ้มครองพยานสำคัญในคดี???
     - แดงเป็นนักว่ายน้ำทีมชาติ ขณะเดินผ่านสระว่ายน้ำ เห็นเด็กกำลังจะจมน้ำ นายแดงสามารถช่วยได้แต่นายแดงไม่ช่วย ปล่อยให้เด็กจมน้ำตาย
              - หากเด็กคนนั้นเป็นลูกของนายแดง
              - หากนายแดงเป็นคนที่รับจ้างคอยช่วยเหลือคนตกน้ำ

ตัวอย่างคำพิพากษาฏีกา
     คำพิพากษาฎีกา 1909/2516 จำเลยขับรถยนต์บรรทุกเสาไฟฟ้าโดยใช้ล้อพ่วง เมื่อล้อรถพ่วงหลุด ทำให้เสาตกลงมาขวางถนน จนกระทั่งค่ำแล้วจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีโคมไฟ หรือเครื่องสัญญาณอย่างอื่นเพื่อให้ผู้ใช้ถนนเห็นเสาที่ขวางถนนอยู่นั้น เป็นเหตุให้รถที่แล่นมาชนเสามีคนตายและบาดเจ็บ ถือไดว่าจำเลยกระทำโดยประมาท และผลเสียหายเกิดขึ้นจากการที่จำเลยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อห้องกันผลนั้นจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291,300

ข้อสังเกตุเกี่ยวกับการงดเว้น

     1. ในกรณีมีผลเกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากการกระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างหายหรือการงดเว้นก็ได้
     2. การกระทำโดไม่เคลื่อนไหวร่างกายหรือการงดเว้นนั้น มีฐานะทางกฎหมายเหมือนการกระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายทุกประการ
     3. การกระทำโดยการงดเว้นมีได้ทั้งเจตนาและประมาท
     4. หากกระทำโดยงดเว้นโดยเจตนา หากความผิดไม่สำเร็จก็ต้องรับผิดฐานพยายามการะทำความผิด

2.2 การละเว้น คือ การกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าการละเว้นหรือการไม่กระทำ กฏหมายอาญาบางมาตราได้บัญญัติบังคับให้บุคคลต้องกระทำการบางอย่าง หากไม่กระทำถือว่าเป็นความผิด เช่น มาตรา 374 “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจ ช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความ จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”



ความแตกต่างระหว่างงดเว้นกับละเว้น
     ให้พิจารณาว่า การไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้น ผู้กระทำมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงจะต้องป้องกันไม่ให้ผลเกิดขึ้นหรือไม่
     - หากเป็นหน้าที่โดยเฉพาะที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลก็เป็นงดเว้น
     - หากเป็นหน้าที่โดยทั่ว ๆ ไปก็เป็นการละเว้น

.......................................................
อ้างอิง : เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1,