Wednesday 3 September 2014

กฎหมายอาญา : ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเหตุฉกรรจ์ มาตรา 289


ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเหตุฉกรรจ์ มาตรา 289


โดย เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
(น.บ.เกียรตินิยมอันดับ 1, น.บ.ท)


บทนำ 

ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเหตุฉกรรจ์นั้นเป็นความผิดที่มีโทษหนักกว่าความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตาม ม.288 เพราะเหตุที่ได้กระทำตาม ม.289 นั้นถือเป็นเหตุฉกรรจ์ที่ควรต้องได้รับโทษหนักขึ้น ดังนั้นจึงต้องเข้าใจก่อนว่า เหตุฉกรรจ์กับผลฉกรรจ์นั้นไม่เหมือนกัน เพราะผลฉกรรจ์ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นเนื่องมาจากผลของการกระทำ เช่น ในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย หากผลของการทำร้ายร่างกายผู้กระทำได้รับอันตรายถึงสาหัส เช่น แขนขาด ขาขาด ผู้กระทำต้องรับโทษหนักตาม ม.297 ไม่ใช่รับโทษตาม ม.295
                  

หากพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้กระทำได้กระทำครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตาม ม.288 และปรากฏว่าการกระทำของนั้นมีเหตุใดเหตุหนึ่งตาม ม.289 (1) - (7) ผู้กระทำก็ต้องรับโทษหนักขึ้นด้วย ซึ่งเหตุฉกรรจ์มีดังต่อไปนี้


(1) ฆ่าบุพการี

บุพการี หมายถึง บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป พิจารณาตามสายโลหิตยิ่งกว่าความสัมพันธ์ทางกฎหมาย ดังนั้นแม้จะเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นบิดาตามสายโลหิต หากถูกบุตรฆ่าก็ต้องลงโทษบุตรตามมาตรานี้ด้วย ส่วนบุตรบุญธรรมฆ่าผู้รับบุตรบุญธรรมนั้นเมื่อพิจารณาแล้ว จะเห็นว่าไม่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิต และไม่ใช่บุพการีตาม ม.289 (1) ดังนั้นหากบุตรบุญธรรมฆ่าผู้รับบุตรบุญธรรมจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าบุพการี

อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ readawrite คลิก


การฆ่าบุพารีนั้นผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นการฆ่าบุพการี เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.62 วรรคท้าย “บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จนั้น”

และหากเป็นเจตนาที่โอนมา ตาม ม.60 “ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดย เจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้าย มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น” เมื่อเจตนาที่โอนมาเป็นเจตนาฆ่าคนธรรมดา(ไม่ใช่เจตนาฆ่าบุพการี) เมื่อผลร้ายนั้นเกิดขึ้นกับบุพการี ซึ่งตามความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำและผู้รับผลร้ายนั้นทำให้เขาต้องรับโทษหนักขึ้น กฎหมายไม่ให้นำความสัมพันธ์มาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น (ประเด็นนี้ผู้เขียนเห็นว่า แม้ ม.60 ตอนท้ายไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ ก็ไม่สามารถนำความสัมพันธ์มาใช้ลงโทษได้ ด้วยเหตุผลว่า การที่ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ม.289 (1) ผู้กระทำต้องรู้ว่าเป็นการฆ่าบุพการี ดังนั้นเมื่อไม่รู้ย่อมไม่มีเจตนาฆ่าบุพการีนั้นเอง

                   
แต่หากมีเจตนาฆ่าบุพการีแต่แรก เช่น นายแดงเอาปืนยิงบิดา กระสุนปืนพลาดมาถูกมารดาถึงแก่ความตาย เจตนาที่โอนมาคือเจตนาฆ่าบุพการี และผลที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นกับบุพการี นายแดงย่อมมีความผิดฐานฆ่าบุพการี เป็นเจตนาโอนตาม ม.60

คำถาม
                   
นายแดงและนางขาวเป็นบิดาและมารดารของนายดำ นายดำเป็นคนชอบดื่มสุราและเมื่อเมาแล้วจะหาเรื่องทะเลาะกับบิดามารดาเสมอ วันหนึ่งนายดำได้พานายเขียวมากินเหล้าที่บ้าน และได้ขอเงินนางขาวเพื่อไปซื้อสุรา นายแดงจึงว่ากล่าวนายดำและนายเขียว นายดำและนายเขียวไม่พอใจนายแดงและด้วยความมึนเมา นายดำและนายเขียวจึงช่วยกันเอาจอบและเสียม ที่อยู่ใกล้ๆ ทุบหัวนายแดงไปคนละที เป็นเหตุให้นายแดงถึงแก่ความตาย
                   
ดังนี้ให้วินิจฉัยว่านายดำและนายเขียวมีความผิดฐานใด


(2) ฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุที่จะกระทำหรือได้กระทำการตามหน้าที่
                    
ก่อนอื่นต้องเข้าใจเสียก่อนว่าเจ้าพนักงานกับบุคคลธรรมดานั้นมีความแตกต่างกัน แม้โดยความจริงแล้ว ก็เป็นมนุษย์เหมือนกันแต่เหตุที่เจ้าพนักงานกับประชาชนคนธรรมดา มีหน้าที่แตกต่างกัน เมื่อถูกกระทำความผิดหรือกระทำความผิด ความรับผิดในทางอาญาก็แตกต่างกันด้วย ความผิดที่เกี่ยวข้องกับเจ้าพนักงานในประมวลกฎหมายอาญา มีดังต่อไปนี้