Friday 27 March 2015

การกระทำในทางอาญา

บทที่ 4
การกระทำในทางอาญา

โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา




          โครงสร้างความรับผิดของกฎหมายอาญาไทย โครงสร้างความรับผิดทางอาญามีทั้งหมด 3 โครงสร้าง คือ 1.การกระทำครบองค์ประกอบที่กฎหมายบัญญัติ 2. การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นความผิด 3.การกระทำไม่มีกฎหมายยกเว้นโทษ

คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้ ครอบคลุมเนื้อหา หลักทั่วไปของกฎหมายอาญา ความหมายและลักษณะของกฎหมายอาญา การใช้กฎหมายอาญาบังคับ โทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย ความรับผิดทางอาญา โครงสร้างความรับผิดทางอาญา การพยายามกระทำความผิด ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด รวมถึงอายุความของกฎหมายอาญา โดยการศึกษามุ่งเน้นความรู้ทางด้านทฤษฏีและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย รวมถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกา

โครงสร้างข้อที่ 1 "การกระทำครบองค์ประกอบความผิด"
          ความผิดอาญาทุกฐานความผิด ไม่ว่าจะเป็นความผิดในประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายที่มีโทษทางอาญาอื่น ย่อมต้องมีองค์ประกอบความผิดเสมอ ซึ่งบุคคลจะมีความรับผิดทางอาญาได้นั้นต้องมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดในแต่ละฐานนั้น
          1. การกระทำ
          2. การกระทำครบองค์ประกอบความผิด
          3. ผลของการกระทำสัมพันธ์กับการกระทำ (causation)

1. การกระทำ
          ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมาย บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณี ที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
          การกระทำ หมายถึง การเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก ที่ว่ารู้สำนึกหมายถึง การเคลื่อนไหวของร่ายกายนั้นต้องอยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ (Under the force of mind) ซึ่งการพิจาณาว่าบุคคลนั้นมีการกระทำหรือไม่ต้องพิจารณาผ่าน 3 ขั้นตอนนี้ คือ
          1. ผู้กระทำมีความคิดที่จะกระทำ
          2. มีการตกลงใจที่จะกระทำตามที่คิดไว้
          3. ได้กระทำไปตามที่ได้ตกลงใจอันสืบเนื่องมาจากความคิด

พิจารณาตัวอย่าง
          ตัวอย่างที่ 1 แดงโกรธดำจึงเอาปืนยิงดำตาย แดงมีการกระทำหรือไม่?
ตัวอย่างที่ 2 นางขาวถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ เมื่อคลอดออกมาแล้วด้วยความอับอายจึงไม่ยอมให้ลูกกินนมจนลูกถึงแก่ความตาย นางขาวมีการกระทำหรือไม่?
ตัวอย่างที่ 3 แดงเป็นนักว่ายน้ำทีมชาติเห็นเด็กกำลังจะจมน้ำ สามารถช่วยได้แต่ไม่ช่วย เพราะนายแดงมีเรื่องบาดหมางกับพ่อของเด็กคนนั้น จนเด็กจมน้ำตาย แดงมีการกระทำหรือไม่
ทั้ง 3 ตัวอย่างแดงมีการกระทำหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่าการเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายของแดงนั้น แดงมีการคิดที่จะทำ มีการตกลงใจที่จะทำ และได้กระทำตามที่ตกลงใจไว้หรือไม่ หากผ่านทั้ง 3 ขั้นตอนนั้นก็ถือว่ามี “การกระทำ”
          แต่หากการเคลื่อนไหวร่างกายหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากการ คิด ตัดสินใจ กระทำตามที่ตัดสินใจ ถือว่าไม่มีการกระทำ เช่น แดงและดำนอนหลับอยู่บนเตียงเดียวกัน แดงละเมอถีบดำจนดำตกเตียงศีรษะแตก หรือขณะที่แดงเผลอ ดำจับมือแดงเขกหัวขาวอย่างแรง จะเห็นว่าทั้ง 2 กรณี การเคลื่อนไหวร่างกายของแดงนั้นไม่ได้มีการคิดที่จะทำ ตกลงใจ และกระทำตามที่ได้ตกลงใจ ซึ่งถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของจิตใจ จึงถือว่าแดง ไม่มีการกระทำ
          ดังนั้นการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายของบุคคลดังต่อไปนี้ ถือว่ามีการกระทำ เช่น เด็กทารกไร้เดียงสา รวมถึงคนวิกลจริตหรือคนเมาสุราถึงขนาดที่ไม่รู้สภาพหรือสาระสำคัญในการกระทำของตน
คำพิพากษาฎีกาที่ 8743/2544 จำเลยปัญญาอ่อนถึงขนาดไม่อาจรู้ได้ว่าการตัดต้นไม้หวงห้ามเป็นผิดกฎหมาย กรณีจึงมิใช่จำเลยกระทำผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบเพราะมีจิตบกพร่องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่งเท่านั้น แต่ถึงขั้นที่ถือได้ว่าจำเลยกระทำโดยมิได้รู้สำนึกในการที่กระทำ)
เช่นเดียวกับ การเคลื่อนไหวของคนที่นอนละเมอ คนเป็นลมบ้าหมู ผู้ที่ร่างกายกระตุกโดยไม่รู้ตัว คนที่ถูกผลัก ถูกชน หรือถูกจับมือให้กระทำขณะเผลอ คนที่ถูกสะกดจิต รวมถึงคนที่เคลื่อนไหวร่างกายเพราะแรงธรรมชาติ เช่น ถูกลมพัดเสียหลักจนชนคนอื่น
ตัวอย่างที่ 1 ขณะแดงเดินลงบันไดปรากฎว่าเหยียบเปลือกกล้วยที่นายดำกินทิ้งไว้ ทำให้ลื่น ขณะที่กำลังจะล้ม นายแดงจึงเอามือคว้านายขาว จนเป็นเหตุให้นายขาวล้มตกบันไดจนได้รับบาดเจ็บ นายแดงมีการกระทำหรือไม่
ตัวอย่างที่ 2 แดงเป็นลมบ้าหมู แพทย์สั่งห้ามไม่ให้ขับรถเพราะอาจจะเกิดอาการชักเมื่อไหร่ก็ได้ แต่นายแดงก็ยังคงขับรถจนเกิดเป็นลมบ้าหมูชนนายดำตาย นายแดงมีการกระทำหรือไม่


2. ประเภทของการกระทำ

          ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้น โดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย
          ดังนั้นในทางอาญาการกระทำจึงมี 2 ประเภท คือ การกระทำที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือหรือการกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ซึ่งการกระทำทั้ง 2 ประเภทนี้ผู้กระทำจะต้องรู้สำนึกในการกระทำ (คิด ตกลงใจ กระทำตามที่ได้ตกลงใจ)
          2.1 การกระทำโดยเคลื่อนไหวร่างกาย โดยหลักแล้ว การกระทำทางอาญา คือการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนการไม่เคลื่อนไหวร่างกายถือเป็นข้อยกเว้น การเคลื่อนไหวร่างกายมีหลายวิธี เช่น การยิงปืน ตี ต่อย เตะ ถีบ ขับรถ หลอกให้ตกใจ หลอกคนตาบอดให้เดินไปตกหลุม การกระทำคือการแสดงกริยาท่าทางต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยจิตใจบังคับนั้นเอง
          2.2 การไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ถือเป็นข้อยกเว้นของการกระทำทางอาญา เพราะโดยปกติการกระทำมีได้แต่เฉพาะการเคลื่อนไหวร่างกาย การกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายตามกฎหมายอาญา มี 2 ประเภท คือ การงดเว้น และการละเว้น

          หลักเกณฑ์ของการงดเว้น[1]
          1. เป็นการไม่กระทำ กล่าวคือ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก
          2. ทั้งๆ ที่มีหน้าที่ต้องกระทำ
          3. หน้าที่ต้องกระทำนั้นต้องเป็นหน้าที่ซึ่งต้องกระทำเพื่อป้องกันมิให้ผลเกิดขึ้น

          1. ไม่เคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึก เช่น นางขาวตั้งท้องกับนายแดง แต่แดงไม่ยอมรับ นางขาวอับอายที่ลูกไม่มีพ่อ เมื่อนางขาวคลอดลูกออกมา นางขาวจึงไม่ยอมให้นมลูก จนลูกหิวนมตาย
          2. มีหน้าที่ต้องกระทำ ซึ่งหน้าที่ต้องกระทำนี้อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น
          หน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งหมายความว่าตามกฎหมายแล้วผู้นั้นมีหน้าที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผล แต่งดเว้นไม่กระทำการ อันก่อให้เกิดผลร้ายขึ้น ทำให้ต้องรับผิดตามกฎหมายอาญา เช่น หน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1563 บุตรจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
          ในมาตรา 1564 บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควร แก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้
          เช่น นายหนุ่มและนางสาวเป็นสามีภริยากัน ต่อมานางสาวคลอดลูกออกมา แต่ทั้งคู่ไม่เลี้ยงดูให้ดีปล่อยให้ลูกคลานไปตกบันไดจนถึงแก่ความตาย ดังนี้จะเห็นว่านายหนุ่มและนางสาวต่างก็มีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูบุตร แต่ได้งดเว้นหน้าที่จะต้องป้องกันผล คือ ความตายของเด็ก ดังนั้นจึงถือว่านายหนุ่มและนางสาวต่างงดเว้น
หากปรากฏว่าลูกนายหนุ่มและนางสาวป่วย นายหนุ่มและนางสาวไม่ยอมพาไปรักษา ยาก็ไม่ซื้อมาให้กินเพราะต้องการให้ลูกตาย จนลูกป่วยจนตาย เช่น นี้ก็ถือว่างดเว้นเช่นเดียวกัน เพรามีหน้าที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลคือความตาย แต่งดเว้นไม่กระทำ
หน้าที่จากการยอมรับโดยเจาะจงหรือตามสัญญา หน้าที่อันเกิดจากการยอมรับโดยเจาะจงหรือตามสัญญานั้น เกิดขึ้นจากการที่ผู้นั้นได้ตกลงจะการะทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ตามสัญญา แต่ไม่ได้กระทำการตามที่ได้ตกลงไว้ อันถือเป็นการงดเว้นที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกันผลร้าย เช่น หน้าที่ตามสัญญา หน้าที่จากการยอมรับ เช่น มีคนเอาเด็กมาฝากเลี้ยงไว้หรือให้ดูแลชั่วคราว หรือเป็นนางพยาบาลดูแลรักษาคนไข้พิเศษ คนดูแลสระน้ำ คนดูแลเครื่องกั้นทางข้ามรถไฟ
หน้าที่จากการกระทำก่อนๆของตน หน้าที่นี้ไม่ได้เกิดจากกฎหมายบัญญัติหรือไม่ได้เกิดจากการตกลงหรือสัญญากัน แต่เกิดขึ้นจากการกระทำก่อนหน้านั้น ซึ่งทำให้ผู้นั้นต้องมีหน้าที่จะต้องทำให้สำเร็จเพื่อป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นได้หากว่าไม่กระทำต่อ อันเป็นความรับผิดชอบของผู้นั้นเอง เช่น แดงขับรถไปตามถนน เห็นคนขี่มอเตอร์ไซด์ล้มอยู่กลางถนน จึงเข้าไปช่วยพาส่งโรงพยาบาล แต่พาไปยังไม่ถึงโรงพยาบาลนึกได้ว่าต้องรีบไปเพราะมีนัด จึงเอาคนเจ็บมาไว้ที่เดิม เช่นนี้นายแดงมีหน้าที่ต้องพาคนป่วยไปส่งโรงพยาบาล เพราะการกระทำของนายแดงที่ไปช่วยตั้งแต่แรก เมื่อช่วยแล้วก็ต้องช่วยให้สำเร็จโดยการพาไปส่งโรงพยาบาล เพราะหน้าที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากการกระทำก่อนหน้านี่ที่เข้าไปช่วยเหลือ
หรือในกรณีที่แดงพาคนตาบอดข้ามถนน เมื่อไปถึงเกาะกลางถนนแล้ว รถประจำทางมาพอดี จึงรีบวิ่งไปขึ้น ปล่อยคนตาบอดไว้แบบนั้น เช่นนี้ก็ถือเป็นการงดเว้นเช่นเดียวกัน เพราะการกระทำอันก่อน ๆ ของตนนั้นเอง
หน้าที่อันเกิดจากความสัมพันธ์พิเศษเฉพะเรื่อง ไม่มีกฎหมายบัญญัติหน้าที่ต่อกันไว้อย่างชัดเจน แต่เนื่องจากมีความสัมพันธ์พิเศษ จึงก่อให้เกิดหน้าที่ต่อกัน เช่น บิดากับบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีของชายหญิงที่อยู่กันฉันสามีภริยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือกรณีของป้าเอาหลานมาเลี้ยงตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อป้าแก่ชราแล้วล้มป่วย หลานไม่ดูแลหาหมอมารักษา ไม่หาดูแลอาหารให้ป้า ปล่อยให้ป้าป่วยจนตาย เช่นนี้ก็ถือว่างดเว้นเช่นเดียวกัน

          ข้อสังเกตของการงดเว้น การพิจารณาว่าเป็นการงดเว้นการกระทำหรือไม่ นอกจากพิจารณาว่าผู้กระทำ มีหน้าที่ต้องกระทำแล้ว ยังต้องปรากฏว่าหน้าที่ต้องกระทำนั้น ต้องก็ทำเพื่อป้องกันผล เช่น แม่ไม่ยอมให้ลูกกินนม ทั้งที่มีหน้าที่ป้องกันความตายของลูก
แต่หากหน้าที่ดังกล่าว ไม่ใช่หน้าที่เพื่อป้องกันผลร้าย เช่น แดงเป็นหนี้ดำ แต่เมื่อถึงกำหนดชำระแล้ว แดงไม่ยอมชำระหนี้ทั้ง ๆ ที่แดงรู้ว่าตอนนี้ดำกำลังป่วยหนักไม่มีเงินรักษา เงินที่มีอยู่ก็ให้นายแดงยืมมาหมด นายแดงต้องการให้นายดำตาย เช่นนี้ไม่ถือว่าแดงงดเว้น เนื่องมาจากแดงไม่ได้มีหน้าที่ในการป้องกันความตายของนายดำ มีเพียงแต่หน้าที่ชำระหนี้เท่านั้น ดังนั้นไม่ถือว่านายแดงมีการกระทำ
ตัวอย่างที่ 1 ในกรณีนายขาวเป็นตำรวจ เห็นนายเขียวกำลังจะยิงนายม่วง แต่นายขาวก็อยากให้นายม่วงตายอยู่แล้ว จึงไม่ขัดขวางหรือจับกุม ดังนี้ถือว่านายขาวซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจงดเว้นหรือไม่ เราก็ต้องพิจารณาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการป้องกันความตายของนายม่วงไม่ให้เกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งไม่มีกฎหมายใดที่กำหนดให้ตำรวจมีหน้าที่ป้องกันความตายของประชาชน ดังนั้นจึงไม่ถือว่าเป็นการงดเว้นตามมาตรา 59 วรรคท้าย
แต่ถ้านายม่วงเป็นบุตรของนายขาวและมีอายุไม่ถึง 20 ปี ดังนี้ถือว่านายขาวงดเว้น เพราะมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องป้องกันความตายของนายม่วง
หากเป็นกรณีที่นายขาวได้รับมอบหมายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มาอารักขานายม่วงโดยเฉพาะ เพราะนายม่วงเป็นพยานสำคัญในคดี ดังนี้หากนายนายขาวปล่อยให้นายม่วงถูกยิงตาย ถือว่างดเว้นหน้าที่ป้องกันความตายของนาย


คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้ ครอบคลุมเนื้อหา หลักทั่วไปของกฎหมายอาญา ความหมายและลักษณะของกฎหมายอาญา การใช้กฎหมายอาญาบังคับ โทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย ความรับผิดทางอาญา โครงสร้างความรับผิดทางอาญา การพยายามกระทำความผิด ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด รวมถึงอายุความของกฎหมายอาญา โดยการศึกษามุ่งเน้นความรู้ทางด้านทฤษฏีและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย รวมถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกา

ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกา
คำพิพากษาฎีกา 1909/2516 จำเลยขับรถยนต์บรรทุกเสาไฟฟ้าโดยใช้ล้อพ่วง เมื่อล้อรถพ่วงหลุด ทำให้เสาตกลงมาขวางถนน จนกระทั่งค่ำแล้วจำเลยก็ไม่ได้จัดให้มีโคมไฟ หรือเครื่องสัญญาณอย่างอื่นเพื่อให้ผู้ใช้ถนนเห็นเสาที่ขวางถนนอยู่นั้น เป็นเหตุให้รถที่แล่นมาชนเสามีคนตายและบาดเจ็บ ถือไดว่าจำเลยกระทำโดยประมาท และผลเสียหายเกิดขึ้นจากการที่จำเลยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อห้องกันผลนั้นจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 291,300
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการงดเว้น
          1. ในกรณีมีผลเกิดขึ้นอาจเป็นผลมาจากการกระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างหายหรือการงดเว้นก็ได้
          2. การกระทำโดไม่เคลื่อนไหวร่างกายหรือการงดเว้นนั้น มีฐานะทางกฎหมายเหมือนการกระทำโดยการเคลื่อนไหวร่างกายทุกประการ
          3. การกระทำโดยการงดเว้นมีได้ทั้งเจตนาและประมาท
          4. หากกระทำโดยงดเว้นโดยเจตนา หากความผิดไม่สำเร็จก็ต้องรับผิดฐานพยายามการะทำความผิด
การละเว้น
          การละเว้น คือ การกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกายอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่าการละเว้นหรือการไม่กระทำ กฎหมายอาญาบางมาตราได้บัญญัติบังคับให้บุคคลต้องกระทำการบางอย่าง หากไม่กระทำถือว่าเป็นความผิด เช่น มาตรา 374 “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิต ซึ่งตนอาจ ช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่น แต่ไม่ช่วยตามความ จำเป็น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน หนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความแตกต่างระหว่างงดเว้นกับละเว้น
ให้พิจารณาว่า การไม่เคลื่อนไหวร่างกายนั้น ผู้กระทำมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงจะต้องป้องกันไม่ให้ผลเกิดขึ้นหรือไม่ หากเป็นหน้าที่โดยเฉพาะที่ต้องกระทำเพื่อป้องกันผลก็เป็นงดเว้น แต่หากเป็นหน้าที่โดยทั่ว ๆ ไปก็เป็นการละเว้น


"""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""""

            [1] เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1,

คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้ ครอบคลุมเนื้อหา หลักทั่วไปของกฎหมายอาญา ความหมายและลักษณะของกฎหมายอาญา การใช้กฎหมายอาญาบังคับ โทษและวิธีการเพื่อความปลอดภัย ความรับผิดทางอาญา โครงสร้างความรับผิดทางอาญา การพยายามกระทำความผิด ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด รวมถึงอายุความของกฎหมายอาญา โดยการศึกษามุ่งเน้นความรู้ทางด้านทฤษฏีและหลักเกณฑ์ของกฎหมาย รวมถึงแนวคำพิพากษาศาลฎีกา

No comments:

Post a Comment