Monday 1 September 2014

ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ม.288

มาตรา 288 ผู้ใดฆ่าผู้อื่น ต้องระวางโทษประหารชีวิต จำคุก ตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี
External Element
- ฆ่า (kill)
- ผู้อื่น (other person)
Internal Element
- โดยเจตนา (Intent to kill)
การฆ่า หมายถึง การทำให้ตาย โดยไม่จำกัดวิธี เพียงแต่ต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล การฆ่ากับผลของการฆ่าต้องสัมพันธ์กัน (causation) โดยพิจารณาจากทฤษฎีกฎหมายดังต่อไปนี้
1. ทฤษฎีผลโดยตรงหรือทฤษฎีเงื่อนไข
2. ทฤษฎีมูลเหตุที่เหมาะสม


อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ readawrite คลิก


พิจารณาตัวอย่างเกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล ว่าผู้กระทำจะต้องรับผลแห่งความตายที่เกิดขึ้นหรือไม่
แดงเอาปืนยิงดำ ด้วยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนถูกบริเวณไหล่ นายดำไม่ตายทันที แต่เนื่องจากนายดำเสียเลือดมาก ทำให้เกิดภาวะช็อกและตายขณะถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
แดงเอาปืนยิงดำ ด้วยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนไม่ถูก แต่นายดำเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนหน้าแล้วเกิดตกใจหัวใจวายตาย
แดงเอาปืนยิงดำ ด้วยเจตนาฆ่า แต่กระสุนปืนถูกบริเวณไหล่ นายดำไม่ตายทันที นายดำรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล หลังจากนั้นอีกสามเดือนนายดำไม่ยอมล้างแผลทำให้เกิดติดเชื้อถึงแก่ความตาย
แดงเอาปืนยิงดำ ด้วยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายดำเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส นายดำเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษานายดำโดยประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้นายดำถึงแก่ความตาย
แดงเอาปืนยิงดำ ด้วยเจตนาฆ่า กระสุนปืนถูกนายดำเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส นายดำเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล บังเอิญโรงพยาบาลไฟฟ้าลัดวงจร ไฟไหม้โรงพยาบาลเป็นเหตุให้นายดำถูกไฟครอกตาย



ผู้อื่น หมายถึง บุคคลที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิดเอง (other person) ดังนั้นการฆ่าตนเอง หรือพยายามฆ่าตนเองจึงไม่มีความผิด เพราะไม่อาจครบองค์ประกอบความผิดภายนอกได้เลย
พิจารณาตัวอย่าง
นายแดงบ่นกับนายดำว่าต้องการฆ่าตัวตาย เนื่องมาจากทำใจไม่ได้ที่ลิเวอร์พูลทีมรักแพ้ นายดำสงสารจึงเอาเชือกให้นายแดงไปฆ่าตัวตาย
นายแดงบ่นกับนายดำว่าต้องการฆ่าตัวตาย เนื่องมาจากทำใจไม่ได้ที่ลิเวอร์พูลทีมรักแพ้แต่แมนยูดันชนะ นายแดงจึงขอร้องให้นายดำช่วยเอาเชือกรัดคอนายแดงให้ตาย
ผู้อื่น ต้องมีสภาพบุคคลขณะถูกฆ่าด้วย


การเริ่มสภาพบุคคล พิจารณาตาม ปพพ. ม.15 วรรค 1 สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย
การคลอด หมายถึง การทำให้ทารกในครรภ์เป็นอิสระหลุดพ้นจากครรภ์มารดาทั้งหมด แม้ไม่ตัดสายรก
แล้วหากมีการทำลายชีวิตที่อยู่ในครรถ์แต่ยังไม่คลอด จะถือว่าเป็นการฆ่าผู้อื่นหรือไม่ เช่น
- การฆ่าทารกที่อยู่ในครรภ์
- การฆ่าทารกที่กำลังคลอด
การอยู่รอด คือ การมีชีวิตอยู่ด้วยตัวเอง ภายหลังจากคลอดออกมาแล้วแม้เพียงไม่นานก็ตาม ถ้าคลอดก่อนกำหนด เช่น ครรภ์เป็นพิษเป็นเหตุให้คลอดก่อนกำหนด ซึ่งขณะคลอดอายุครรภ์เพียง 5 เดือน แล้วทารกที่คลอดออกมานั้นหายใจอยู่ได้เพียงหนึ่งนาทีก็ตาย จะถือว่ามีสภาพบุคคลหรือไม่


อ่านเนื้อหาเต็มได้ที่ readawrite คลิก

คำถาม
นายแดงเป็นสามีของนางขาว แต่นายแดงไปเป็นทหารอยู่ภาคใต้นาน ๆ จึงกลับบ้านที นางขาวด้วยความเหงาจึงแอบเป็นชู้กับนายดำ นางขาวเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา นายแดงกลับมาเห็นนางขาวท้องจึงโกรธแค้น ก่อนนางขาวคลอด นายแดงเอายาพิษให้นางขาวกินโดยหวังให้ชีวิตที่อยู่ในครรภ์ของนางขาวตาย เมื่อคลอดออกมา
หากปรากฏว่านางขาวคลอดทารกออกมา มีชีวิตอยู่ได้เพียง 1 ช.ม. ก็ถึงแก่ความตาย นายแดงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนาหรือไม่
ปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยตาย
สภาพบุคคลสิ้นไปเมื่อตาย แต่เราจะใช้หลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตายแล้ว ซึ่งแต่เดิมนั้นเราอาศัยการเต้นของหัวใจ หรือชีพจร หากหัวใจยังเต้นอยู่ ชีพจรยังเดินอยู่ถือว่ายังไม่ถึงแก่ความตาย แต่ว่าในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการแพทย์ อย่างมากมาย ทำให้สามารถ กู้ชีพ (resuscitation) ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้นไปแล้วให้กลับมาเต้นอีกได้ การปลูกถ่ายอวัยวะ (organ transplantation) ที่ต้องอาศัยการเต้นของหัวใจเพื่อให้อวัยวะที่ของผู้ตายมีเลือดไปเลี้ยงอยู่ ทั้ง ๆ ที่ผู้นั้นถึงแก่ความตายไปแล้ว ก็ยังสามารถทำได้
ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีความเห็นว่า การพิจารณาว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ จึงพิจารณาว่าสมองตาย (brain death) หรือยัง หากบุคคลนั้นสมองตายแล้ว แม้จะยังหายใจอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจก็ถือว่าถึงแก่ความตายไปแล้ว[2]
ในบางกรณีสมองได้รับการกระทบกระเทือนและได้รับสมองได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งอาจเกิดจากอุบัติเหตุ เช่น รถชนกัน เมื่อสมองได้รับการกระทบกระเทือน ร่างกายไม่อาจตอบสนองต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ ได้ ต้องตกอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือที่เราเรียกกันว่า เจ้าชายนิทรา ซึ่งในทางการแพทย์เรียกภาวะเช่นนี้ว่า  สภาพผัก (Vegetative state)[3]
การที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในสภาพผักนั้น แม้เขาจะไม่สามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ ต้องนอนเป็นเจ้าชายนิทรา เพราะสมองได้รับการกระทบกระเทือน ไม่ใช่ภาวะสมองตาย ดังนั้นการถอดเครื่องช่วยหายใจให้แก่ผู้ที่อยู่ในภาวะผักจึงไม่อาจทำได้ เพราะเป็นการเร่งการตายให้แก่ผู้ป่วย ซึ่งการทำเช่นนี้เรียกว่า การการุญยฆาต (Euthanasia) ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่าสามารถทำได้หรือไม่[4]
องค์ประกอบภายใน (Internal Element)
เจตนาฆ่า (Intent to kill) หมายถึงผู้กระทำผิดมีเจตนาที่ทำให้ผู้อื่นนั้นถึงแก่ความตาย มุ่งหมายจะเอาชีวิตของผู้อื่นนั้นเอง ซึ่งหลักในการพิจารณาว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือไม่ก็พิจารณาตาม ตามมาตรา 59 ที่ผู้กระทำต้องรู้สำนึกในการกระทำและรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบ และต้องการะทำโดยประสงค์ต่อความตายของผู้อื่นหรือย่อมเล็งเห็นผลการกระทำเช่นนั้นจะทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
นอกจากนี้เจตนาฆ่า (Intent to kill) อาจะเป็นเจตนาที่โอนมา (transfer Intent) ตาม ม.60 ก็ได้



พิจารณาตัวอย่าง
นายแดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหวๆ เข้าใจว่าเป็นหมูป่าจึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าความจริงคือนายดำ ที่เข้ามาหาหน่อไม้ นายดำถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย
นายแดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหวๆ นายแดงไม่ดูให้ดี เข้าใจว่าเป็นหมูป่าจึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าความจริงคือนายดำ ที่เข้ามาหาหน่อไม้ นายดำถูกกระสุนปืนถึงแก่ความตาย
อาจารย์แดงเป็นหมอสักยันต์ชื่อดัง โดยเฉพาะด้านคงกระพัน นายดำหลงเชื่อจึงเข้ามาสัก เมื่อสักเสร็จจึงอยากลองวิชา นายดำจึงเอาปืนที่พกมาให้อาจารย์แดงลองยิงตัวเองดูว่าเข้าไหม อาจารย์แดงจึงเอาปืนนั้นยิงนายดำ ปรากฎว่าไม่เหนียว นายดำถึงแก่ความตาย
เจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้ายต่างกันอย่างไร
          เจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้ายเป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกันและการพิสูจน์เจตนาของผู้กระทำความผิดว่า ผู้กระทำความผิดมีเจตนาฆ่าหรือเจตนาทำร้ายกันแน่ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากในทางคดี เพราะผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่ก็มักจะปฏิเสธว่าไม่มีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น เพื่อให้ศาลลงโทษตาม ในความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาตาม ม.290 ซึ่งมีโทษเขากว่าความผิดฐานฆ่าตายโดยเจตนา และเมือเกิดปัญหาเช่นนี้เกิดขึ้นว่าผู้กระทำความผิดมีเจตนาใด ระหว่างเจตนาฆ๋ากับเจตนาทำร้าย จะพิจารณาแยกความแตกต่างของทั้งสองเจตนาอย่างไร
หลักในการพิจารณาเจตนาฆ่ากับเจตนาทำร้ายนั้น นอกจากคำรับสารภาพของจำเลยแล้ว ต้องอาศัยพยานหลักฐานอื่น ๆ ประกอบเพื่อพิจารณาว่าผู้กระทำมีเจตนาใด เช่น ดูจากลักษณะของการการกระทำ ดูจากอาวุธว่าร้ายแรงเพียงใด หากอาวุธร้ายแรงเป็นปืนก็อาจจะแสดงให้เห็นได้ว่า ผู้กระทำมีเจตนาฆ่า ดูจากลักษณะของบาดแผลว่าแผลที่เกิดขึ้นฉกรรจ์มากน้อยเพียงใด ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้จะต้องอาศัยพยานหลักฐานในการพิสูจน์ทั้งสิ้น



นายแดงโกรธแค้นนายดำ เห็นนายดำอยู่หน้าบ้าน ห่างไปประมาณ 20 เมตร นายแดงเอาปืนที่พกมายิงนายดำ แต่นายแดงยิงไม่แม่น จึงไม่ถูกนายดำ นายแดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่
นายแดงด้วยความคึกคะนอง เห็นรถวิ่งสวนทางมา เอาก้อนหินขนาด 1 กิโลกรัมโยนเข้าไป ทำให้รถคันนั้นกระจกแตก แต่ปรากฎว่าก้อนหินนั้นไม่ถูกใคร แดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่



เฉลิมวุฒิ สาระกิจ , น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1) , นบท.


อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
[2] โปรดอ่าน เรื่อง ภาวะสมองตาย http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2
[3] รศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า, สภาพผัก (Vegetative State) ที่มา http://haamor.com/th/%E0%B8%AA%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%9C%E0%B8%B1%E0%B8%81/
[4] โปรดอ่าน การุณยฆาตhttp://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%93%E0%B8%A2%E0%B8%86%E0%B8%B2%E0%B8%95