Tuesday, 24 March 2015

การใช้กฎหมายอาญาบังคับ

บทที่ 3
การใช้กฎหมายอาญาบังคับ

อ่านฉบับเต็ม Fulltext https://www.mebmarket.com/index.php?action=BookDetails&book_id=44487





โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

         มีปัญหาให้พิจารณาว่าหากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น กฎหมายอาญาของไทยจะมีอำนาจเหนือคดีนั้นแค่ไหน รัฐมีอำนาจบัญญัติให้การกระทำใดหรือไม่กระทำการใดเป็นความผิด แต่กฎหมายของรัฐจะสามารถใช้บังคับได้เพียงใดและทุกรณีหรือไม่ กฎหมายอาญาที่รัฐบัญญัติขึ้นมาโดยหลักแล้วย่อมใช้บังคับได้ในรัฐนั้น ๆ เท่านั้น ไม่อาจจะนำไปบังคับใช้เหนือรัฐอื่นได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักอธิปไตยของแต่ละรัฐ ซึ่งความผิดอาญานั้นหากได้กระทำในประเทศไทยก็ยอมสามารถใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้ แต่ในบางกรณีความผิดอาญานั้นได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็มีปัญหาว่าจะใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้หรือไม่ ซึ่งกฎหมายที่กำหนดว่าประเทศไทยจะมีอำนาจเหนือคดีอาญานั้นหรือไม่ คือ กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา
          กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา ไม่ใช่กฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นกฎหมายภายใน เพราะเป็นกฎหมายว่าด้วยการใช้กฎหมายอาญาของรัฐ การจะบัญญัติกฎหมายอาญาเพื่อละเมิดอำนาจอธิปไตยของรัฐอื่น ไม่สามารถทำได้ ซึ่งการบัญญัติกฎหมายอาญาของรัฐต้องคำนึงถึงจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐ ซึ่งจุดเกาะเกี่ยวอันจะทำให้รัฐมีอำนาจเหนือคดีอาญานั้นได้มีดังต่อไปนี้

จุดเกาะเกี่ยวกับรัฐถือหลักดังต่อไปนี้

1. หลักดินแดน (Territorial principle) 

          พิจารณาจากสถานที่ความผิดได้เกิดขึ้น หากเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยแล้วย่อมลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาไทยได้ ซึ่งราชอาณาจักรไทย หมายถึง พื้นดิน พื้นน้ำ รวมถึงอากาศเหนือพื้นดินพื้นน้ำนั้นด้วย หลักดินแดนนี้ยังขยายอำนาจของศาลไทยออกไปอีก ความผิดทั้งหมดไม่ต้องเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักรไทย หรือสถานที่ผลของการกระทำความผิดได้เกิดขึ้น กฎหมายอาญาไทยก็มีอำนาจเหนือคดีนั้น ตาม "ทฤษฎีรวมสถานที่เกิดเหตุ"

2. หลักธงชาติ (Flag Principle) 

          พิจารณาจากธงที่เรือชักหรือสัญชาติของอากาศยานที่จดทะเบียน ซึ่งเป็นหลักที่ขยายจากหลักดินแดน ซึ่งมาจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) ที่แต่ละรัฐต้องการคุ้มครองเรือหรืออากาศยานที่มีสัญชาติของตนเอง ไม่ว่าเรือหรืออากาศยานนั้นจะไปจอดอยู่ทีใดก็ตาม ก็ถือว่าความผิดที่เกิดขึ้นในเรือหรืออากาศยานนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร

3. หลักบุคคล (Nationality Principle) 

          พิจารณาจากสัญชาติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับความผิด ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติของผู้กระทำความผิด หรือของผู้เสียหายว่ามีสัญชาติไทยหรือไม่ โดยถือเอาสัญชาติเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ทำให้กฎหมายอาญาไทยมีอำนาจเหนือคดีที่ได้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรนั้น แต่ทั้งนี้หลักบุคคลนี้จำเป็นต้องมีการร้องขอให้มีการลงโทษการกระทำความผิดนั้น และยังจำกัดประเภทของคดีที่สามารถร้องขอให้ลงโทษอีกด้วย

4. หลักคุ้มครองตน (Protective principle) 

          พิจารณาจากลักษณะของความผิด ความผิดบางประเภทเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เช่น ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และความผิดความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงเงินตรา ซึ่งเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ สมควรที่แต่ละประเทศจะมีอำนาจเหนือคดีนั้นแม้ความผิดดังกล่าวจะได้กระทำนอกราชอาณาจักรก็ตาม

5. หลักอำนาจลงโทษสากล (Universality principle) 

          พิจารณาจากลักษณะความผิดที่เป็นภัยต่อนานาประเทศ สมควรจะต้องช่วยกันปราบปราม ไม่ให้ความผิดดังกล่าวเกิดขึ้น แม้ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรก็ตาม หรือเกิดในสถานที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เช่น ทะเลหลวง เช่น ความผิดฐานก่อการร้าย ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 339 และ ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 340 ซึ่งได้กระทำ ในทะเลหลวง (โจรสลัด)     
          
6. หลักกระบวนยุติธรรมแทนหรือหลักการคำนึงถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศ 

          เป็นหลักการที่พัฒนามาจากหลักต่างตอบแทนในกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ประเทศที่มีความสัมพันธ์กันอาจมีการร้องขอให้อีกประเทศลงโทษการกระทำความผิดแทนตนได้ หรือในกรณีที่ศาลต่างประเทศได้ลงโทษแทนไปแล้วจะลงโทษผู้กระทำความผิดที่พ้นโทษมาแล้วไม่ได้ เป็นต้น
          จุดเกาะเกี่ยวที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นจุกเกาะเกี่ยวที่ทำให้กฎหมายอาญาและศาลไทยมีอำนาจเหนือคดีนั้น หากความผิดใดไม่มีจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย กฎหมายอาญาไทยและศาลไทยย่อมไม่อาจมีอำนาจเหนือคดีดังกล่าวได้





No comments:

Post a Comment