Saturday 26 January 2013

คำบอกเล่าของผู้ตายจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่




คำบอกเล่าของผู้ตายจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่


คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2530 


     "เกณฑ์สำคัญประการหนึ่งที่ให้รับฟังคำบอกกล่าวของผู้ตาย คือผู้ตายต้องระบุชื่อผู้ทำร้ายในขณะที่ผู้ตายรู้ตัวว่าหมดหวังที่จะมีชีวิตรอดอยู่ ทั้งนี้เพราะคนที่รู้สึกตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้แล้วกล่าวถ้อยคำใดนั้นถือว่ากล่าวโดยสาบานตัวแล้วและไม่ต้องการกล่าวเท็จก่อเวรกรรมอีกต่อไป ส่วนจะถึงแก่ความตายเมื่อใดหาเป็นข้อสำคัญไม่

     คำบอกกล่าวของผู้ตายที่ระบุชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำร้ายผู้ตาย แต่ไม่ได้ความว่าผู้ตายกล่าวในขณะที่รู้ตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้หรือไม่จึงขาดเกณฑ์สำคัญที่ให้รับฟังคำบอกกล่าวของผู้ตายตามกระบวนความ แม้ผู้ตายจะสิ้นใจในอีก 10 นาทีต่อมา คำบอกกล่าวของผู้ตายเช่นนี้ย่อมไม่น่าเชื่อถือ"


1. พยานบอกเล่าจะรับฟังได้หรือไม่เพียงใด (ในคดีนี้คือ คำบอกเล่าของพยานที่มาเบิกความคำพูดของผู้ตาย)

     โดยหลักแล้วพยานบอกเล่านั้นห้ามมิให้ศาลรับฟังโดยผลของ  ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3 "ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า
     ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่..."


     กฎหมายนั้นห้ามรับฟังพยานบอกเล่า ซึ่ง ม.226/3 นี้เป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่ โดย เพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551 ) แต่ตามกฎหมายก่อนมีการแก้ไขนั้นก็ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลว่าความไม่น่าเชื่อถือของพยานประเภทนี้ (unreliable) เพราะเป็นพยานที่ไม่ได้ใช้ประสาทสัมผัสรับรู้มา เช่น ไม่ได้เห็นเหตุการณ์มากับตาตัวเอง ไม่ได้ได้ยินเสียงของเหตุการณ์นั้นด้วยหูตัวเอง แต่รู้เหตุการณ์มาเพราะฟังจากคำบอกเล่าของประจักษ์พยานหรือคนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง ทำให้โอกาสที่ข้อเท็จจริงจะคลาดเคลื่อนมีสูง


     แต่ในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2530 ที่เคยตัดสินไว้นั้น ข้อเท็จจริงคือ ผู้ตายเข้าใจว่าใกล้ตายแล้วจึงบอกกับหมอและเจ้าหน้าที่ว่า ใครเป็นคนยิงผู้ตาย โดยศาลเห็นว่าคำพูดที่ผู้ตายกล่าวกับพยานย่อมน่าเชื่อถือ โดยให้เหตุผลว่า "คนที่รู้สึกตัวว่าหมดหวังจะมีชีวิตรอดอยู่ได้แล้วกล่าวถ้อยคำใดนั้นถือว่ากล่าวโดยสาบานตัวแล้วและไม่ต้องการกล่าวเท็จก่อเวรกรรมอีกต่อไป"

     ซึ่งเป็นเหตุผลที่ปราศจากเหตุผลทางกฎหมายและเป็นอัตวิสัยของศาลอย่างมาก ไม่มีข้อพิสูจน์เลยว่า คนใกล้ตายจะไม่โกหก และคนใกล้ตายจะพูดความจริง 
ย่อมไม่เป็นการยุติธรรมหากศาลตัดสินคดีโดยอาศัยอัตวิสัยที่ปราศจากเหตุผลและยังมีข้อน่าสงสัยอย่างยิ่ง

     แต่ตามกฎหมายใหม่นี้ได้เปิดช่องให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าได้ โดยมีเงื่อนไขว่า


     ม.226/3 วรรคสอง "ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
(2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
ในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใด และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้าน ก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดรายงานระบุนาม หรือชนิดและลักษณะของพยานบอกเล่า เหตุผลที่ไม่ยอมรับ และข้อคัดค้านของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้ ส่วนเหตุผลที่คู่ความฝ่ายคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้น ให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้น ยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน"


แต่ก็ต้องติดตามดูแนวคำวินิจฉัยต่อไปว่า ศาลจะตีความบทบัญญตินี้ในการรับฟังพยานบอกเล่าอย่างไรต่อไป แต่พยานบอกเล่านั้นหากจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่น้ำหนักก็น้อยเหตุเพราะความไม่น่าเชื่อถือนั้นเอง



คำพิพากษาเกี่ยวกับการรับฟังพยานบอกเล่า


1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7240/2554

แม้ชั้นพิจารณา โจทก์จะมีผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยไม่เคยเอาอวัยวะเพศจำเลยสอดใส่เข้าไปในอวัยวะเพศผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อถอดกางเกงของผู้เสียหายออกมาดูอวัยวะเพศ ไม่มีรอยช้ำบวมก็ตาม แต่ตามบันทึกคำให้การของผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายซึ่งได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุไม่นาน โดยผู้เสียหายให้การต่อหน้าพนักงานอัยการและนักสังคมสงเคราะห์ คำให้การของบุคคลทั้งสามต่อเนื่องเชื่อมโยงเหตุการณ์เป็นลำดับขั้นตอนสมเหตุผล นอกจากนี้ ยายผู้เสียหายเบิกความว่า เหตุที่เบิกความแตกต่างจากที่ให้การไว้เนื่องจากไม่ประสงค์ให้จำเลยซึ่งเป็นลุงผู้เสียหายได้รับโทษจำคุก ทั้งจำเลยได้ชดใช้เงินให้จนฝ่ายผู้เสียหายพอใจและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลย เชื่อว่าผู้เสียหาย ตาและยายผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่า แต่ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟัง

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7008/2554

ผู้เสียหายเบิกความเป็นพยานว่า ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายไม่ได้ขัดขืนเพราะเห็นว่าจำเลยเป็นบิดา แต่ให้การตามบันทึกคำให้การต่อหน้าบุคคลที่ผู้เสียหายร้องขอ พนักงานอัยการ และนักสังคมสงเคราะห์ว่า ขณะจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหาย ผู้เสียหายได้ร้องขอไม่ให้จำเลยทำ จำเลยไม่ฟังและผู้เสียหายก็มีร่างกายไม่สมประกอบ ไม่มีแรงที่จะขัดขืน ผู้เสียหายเป็นบุตรจำเลยและเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ผู้เสียหายยังรักจำเลยและไม่ประสงค์จะเอาเรื่องจำเลย เชื่อว่าผู้เสียหายเบิกความในชั้นพิจารณาเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงน่าเชื่อกว่าคำเบิกความ แม้คำให้การในชั้นสอบสวนจะเป็นพยานบอกเล่าแต่เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่าน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ ประกอบกับเป็นเรื่องผิดปกติวิสัยที่บุตรจะยินยอมให้บิดากระทำชำเรา คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายจึงมีเหตุผลหนักแน่นรับฟังได้

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3468/2554

พยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอก ว. และสิบตำรวจตรี ส. เป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ ทั้งยังเป็นเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกับจำเลยที่ 4 เชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริงที่ประสบพบมา ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะเบิกความปรักปรำให้ร้ายจำเลยที่ 4 ให้ต้องรับโทษ นอกจากนี้พยานโจทก์อีกสองปากก็เป็นพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุและเห็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นและพบเมทแอมเฟตามีนในบ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 4 มานอนค้างที่บ้าน อีกทั้งพยานโจทก์ทั้งสี่ยังเบิกความสอดคล้องต้องกันกับพยานเอกสารว่า ขณะที่ร้อยตำรวจเอก ว. กับสิบตำรวจตรี ส. ตะโกนเรียกบุคคลในบ้านเพื่อให้เปิดประตู ไฟยังเปิดอยู่และปิดในเวลาต่อมา แต่ก็ได้ความจากพยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความว่า สิบตำรวจตรี ส. สวมไฟฉายที่สามารถส่องสว่างได้ในระยะไกลกว่า 10 เมตร อยู่ที่ศีรษะ ขณะที่ปีนฝาผนังกั้นห้องเพื่อเข้าไปเปิดประตูนั้น เห็นจำเลยที่ 4 วิ่งไปที่บริเวณโอ่งน้ำ ซึ่งก็สัมพันธ์กับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและภาพถ่าย จึงน่าเชื่อว่าสิบตำรวจตรี ส. เห็นจำเลยที่ 4 อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังได้ความจากบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งกระทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุเพียง 1 วันด้วยว่า เมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเป็นของจำเลยที่ 4 ที่นำไปทิ้งในโอ่งน้ำขณะเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้น แต่ด้วยความรีบร้อนทำให้เมทแอมเฟตามีนบางส่วนตกหล่นที่พื้น ซึ่งแม้บันทึกคำให้การดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่าและถือเป็นพยานซัดทอด ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้รับฟังก็ตาม แต่ก็มิได้ต้องห้ามโดยเด็ดขาด เมื่อพิจารณาตามสภาพ ลักษณะแหล่งที่มาและข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานดังกล่าวนั้น ประกอบกับโจทก์มีพยานบุคคลและพยานเอกสารดังกล่าวมาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนทำให้พยานหลักฐานของโจทก์น่าเชื่อถือ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 4 ร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642 - 2643/2554

คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของ ส. , จ. และ ช. ล้วนสอดคล้องต้องกัน แม้เป็นพยานบอกเล่าและพยานซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่การที่ ส. , จ. และ ช. ให้การไปดังกล่าว เพียงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวถึงที่มาของเมทแอมเฟตามีนมิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้ตนเองพ้นผิดแล้ว ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพังนอกจากนั้น ส. กับ จ. ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 โดย ส. เป็นน้องชายและ จ. เป็นภริยา จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องการกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยที่ 1 พยานบอกเล่าและพยานซัดทอดเช่นนี้ถือได้ว่ามีลักษณะและแหล่งที่มา ซึ่งน่าเชื่อว่าจะสามารถพิสูจน์ความจริงได้ จึงนำมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับ ส. และ จ. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ส่วนจำเลยที่ 2 เพียงร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งขายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่การที่จำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งขายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีไว้จำหน่ายอีกทอดหนึ่งนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว
โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงมิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก


ค้นคำพิพากษาฎีกาต่อได้ที่ http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/searchlist.jsp
.........................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา






กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

No comments:

Post a Comment