Wednesday 16 January 2013

คุณมีสิทธิที่จะไม่ให้การ You have the right to remain silent.


โดยเฉลิมวุฒิ สาระกิจ
น.บ.(เกียรตินิยมอันดับ 1), น.บ.ท., น.ม.


หลักการสำคัญในการดำเนินคดีอาญา

ในการดำเนินคดีอาญานั้นนอกจากรัฐจะดำเนินการนำตัวผู้กระทำผิดกฎหมายมาลงโทษแล้ว รัฐยังต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิดด้วยควบคู่กันไป เพื่อไม่ให้มีการละเมิดสิทธิของผู้กระทำผิดมากเกินไป(การดำเนินคดีอาญากับผู้ใดย่อมส่งผลกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชน) จึงต้องมีการคุ้มครองสิทธิดังกล่าวโดยการบัญญัติเป็นกฎหมายไว้ เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของประชาชน เช่น การจับ การค้น ต้องมีหมายจับหมายค้นเป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามแม้จะมีการบัญญัติไว้ในกฎหมายแล้ว เพื่อให้มาตรการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยได้รับการเคารพและถูกนำไปปฏิบัติ จึงมีความจำเป็นจะต้องกำหนดผลในทางการหมายของการไม่ปฎิบัติตามหลักการดังกล่าว เช่น มีผลทำให้ศาลไม่รับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

กระบวนยุติธรรมที่ดีจึงต้องเป็นกระบวนยุติธรรมที่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างมีประสิทธิภาพ(Crime control และในขณะเดียวกันก็ต้องคุ้มครองสิทธิของผู้กระทำผิด(Due process)ไปพร้อมๆ กัน

ที่มาของสิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง

ก่อนที่ตำรวจจะจับกุมผู้ต้องหา ต้องแจ้งให้ผู้ต้องทราบเสียก่อนว่า ผู้ต้องหามีสิทธิจะให้การหรือไม่ให้การก็ได้นั้น เป็นหลักที่ศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกาได้วินิจไว้ในคดี Miranda v. Arizona (1966) ซึ่งศาลวินิจฉัยวางหลักไว้ว่า เจ้าหน้าที่ต้องทำการแจ้งให้ผู้ถูกจับ ผู้ถูกควบคุม หรือก่อนทำการสอบสวนว่า "เขามีสิทธิจะไม่ให้การใดๆ เลยก็ได้ ถ้อยคำที่เขากล่าวออกมาอาจใช้เป็นพยานยันแก่เขาได้ในชั้นศาลได้ เขามีสิทธิที่จะมีทนายความอยู่ร่วมด้วยในระหว่างการสอบสวน หากเขาไม่สามารถจัดหาทนายความได้เอง จะมีการแต่งตั้งทนายความให้แก่เขาก่อนเริ่มการสอบสวน ถ้าเขามีความประสงค์เช่นนั้น (You have the right to remain silent. Anything you say can and will be used against you in a court of law. You have the right to an attorney present during questioning. If you cannot afford an attorney, one will be appointed for you. Do you understand these right?) 

จากคดี Miranda v. Arizona ศาลฎีกาของสหรัฐได้วินิจอันเป็นที่มาของหลักการทางอาญา 2 ประการ (เรียกว่า Miranda Rule) คือ

          1) สิทธิที่จะไม่ให้การ
          2) สิทธิในการมีทนายความ

สิทธิทั้ง 2 ประการ เป็นหลักการทั่วไปที่ประเทศต่างๆ นำไปบัญญัติไว้ในกฎหมายวิธีพิจารณาความของตัวเอง เพื่อเป็นหลักประกันเสรีภาพของผู้ที่ถูกดำเนินคดีอาญา

แต่อย่างที่บอกไปแล้วว่า แม้แต่ละประเทศจะบัญญัติไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ ที่ทำการจับกุม ควบคุมตัว หรือสอบสวนต่องแจ้งสิทธิดังกล่าวเสียก่อน แต่เมื่อถึงเวลาปฏิบัติจริงอาจทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหลงลืมหรือไม่ได้ให้ความสำคัญ จึงไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวให้ผู้ถูกจับ ถูกควบคุมตัว หรือสอบสวนทราบ ด้วยเหตุนี้ จึงต้องกำหนดผลของการไม่ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวไว้ เช่น 

หากไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวก่อนมีการจับกุม ถ้อยคำที่ผู้ถูกจับให้ไว้ไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ เมื่อกำหนดผลไว้อย่างนี้ก็จะทำให้เจ้าหน้าผู้ที่ทำการจับหรือสอบสาวนได้ตระหนักถึงหลักการดังกล่าวมากขึ้น เพราะหากฝ่าฝืน เมื่อมาถึงชั้นศาล ถ้อยคำของจำเลยที่เคยให้ไว้ก่อนหน้านั้น ไม่อาจจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้เลย 

สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง (Privilege against self - incrimination)

เป็นสิทธิอันสำคัญของผู้ต้องหาที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ โดยหมายถึง "บุคคลไม่อาจถูกบังคับให้ปรักปรำตนเอง" ซึ่งหลักการนี้นี้ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของสหรัฐ(แก้ไจเพิ่มเติมมาตรา 5) ที่บัญญัติว่า "บุคคลไม่อาจที่จะถูกบังคับให้เป็นพยานอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในคดีอาญา"(no person ... shall be compelled to be a witness against himself)


สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเอง นี้ใช้กับพยานหลักฐานที่เป็นถ้อยคำ(Testimony) เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าจะบังคับให้บุคคลใดกล่าวถ้อยคำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ถูกฟ้องคดีอาญาไม่ได้ 


แต่ถ้าหากว่าไม่ใช่การกล่าวถ้อยคำแล้ว เช่น บังคับให้เจาะเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เซ็นชื่อหรือพิมพ์ลายนิ้วมือ จะไม่อยู่ภายใต้หลักการนี้


สิทธิดังกล่าวนี้แม้จะได้เป็นสิทธิที่ผู้ต้องหามีตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวนั้นจะไม่มีประโยชน์เลย หากว่าผู้ต้องหาไม่ทราบถึงการมีสิทธิดังกล่าว ดังนั้นกฎหมายจึงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ ผู้ที่ทำการจับกุมหรือสอบสวนจะต้องเป็นผู้แจ้งสิทธิ์นั้นให้ผู้ต้องหาทราบก่อนจับหรือสอบสวนว่า "เขามีสิทธิจะไม่ให้การก็ได้  ถ้อยคำที่เขากล่าวออกมาอาจใช้เป็นพยานยันแก่เขาได้ในชั้นศาลได้ " เพื่อให้ผู้ที่ถูกจับกุมทราบและเข้าใจถึงสิทธิ์ดังกล่าว เมื่อผู้ต้องทราบแล้วหากผู้ต้องหาให้การก็ถือว่าเป็นการให้การโดยสมัครใจ (voluntary) 


และในการสอบสวนซึ่งเป็นการกระทบถึงสิทธิของผู้ต้องหาอย่างมาก กฎหมายยังกำหนดให้มีทนายความ ซึ่งเป็นผู้พิทักษ์สิทธิของผู้ต้องหาเข้าฟังการสอบสวนได้อีกด้วย ซึ่งในกรณีที่ผู้ต้องหาไม่มีทนายความรัฐก็ต้องจัดหาทนายความให้ตามความประสงค์ของผู้ต้องหา



สิทธิที่จะไม่ให้ถ้อยคำอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองในกฎหมายไทย


ในประเทศไทยมีการนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ในกฎหมายทั้งในรัฐธรรมนูญและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 


เช่น ป.วิ.อาญา 


มาตรา 83 วรรคสอง "ในกรณีที่เจ้าพนักงานเป็นผู้จับ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกจับทราบ หากมีหมายจับให้แสดงต่อผู้ถูกจับ พร้อมทั้งแจ้งด้วยว่า ผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะไม่ให้การหรือให้การก็ได้และถ้อยคำของผู้ถูกจับนั้น อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้ และผู้ถูกจับมีสิทธิที่จะพบและปรึกษาทนายความ หรือผู้ซึ่งจะเป็นทนายความ ถ้าผู้ถูกจับประสงค์จะแจ้งให้ญาติหรือ ผู้ซึ่งตนไว้วางใจทราบถึงการจับกุมที่สามารถดำเนินการได้ โดยสะดวกและไม่เป็นการขัดขวางการจับหรือการควบคุมผู้ถูกจับ หรือทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด ก็ให้เจ้าพนักงานอนุญาตให้ผู้ถูกจับดำเนินการได้ตามสมควรแก่กรณี ในการนี้ให้เจ้าพนักงานผู้จับนั้นบันทึกการจับดังกล่าวไว้ด้วย


มาตรา 134/4 "ในการถามคำให้การผู้ต้องหา ให้พนักงานสอบสวนแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า
             (1) ผู้ต้องหามีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้ ถ้าผู้ต้องหาให้การ ถ้อยคำที่ผู้ต้องหาให้การนั้นอาจใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีได้
            (2) ผู้ต้องหามีสิทธิให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคำตนได้
     เมื่อผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดก็ให้จดคำให้การไว้ ถ้าผู้ต้องหาไม่เต็มใจให้การเลยก็ให้บันทึกไว้
     ถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนก่อนมีการแจ้งสิทธิตามวรรคหนึ่ง หรือก่อนที่จะดำเนินการตาม มาตรา 134/1 มาตรา 134/2 และ มาตรา 134/3 จะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของผู้นั้นไม่ได้"

ซึ่งจะเห็นได้ว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยนั้นได้รับหลักการดังกล่าวมาบัญญัติไว้ทั้ง ซึ่งหมายความว่า ก่อนที่จะมีการจับหรือสอบสวน พนักงานที่ทำการจับหรือสอบสวนจะต้องแจ้งสิทธิดังกล่าวให้ผู้ต้องหาทราบและเข้าใจถึงสิทธิดังกล่าว พร้อมต้องจัดให้มีผู้พิทักษ์สิทธิ(ทนายความ) เข้าฟังการสอบสวนด้วยได้

หากไม่มีการปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวกฎหมายก็ยังมีบท Sanction เอาไว้ว่าถ้อยคำใดๆ ที่ผู้ต้องหาให้ไว้ก่อนมีการแจ้งสิทธิ ไม่ให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด


ผู้เขียนเห็นว่า การไม่ให้ถ้อยคำของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหานั้นเป็นสิทธิที่กฎหมายรับรองและคุ้มครองให้ ดังนั้น การจะให้หรือไม่ให้ถ้อยคำย่อมสามารถกระทำได้โดยอาศัยความสมัครใจของผู้ถูกจับหรือผู้ต้อง เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพยายามแสวงหาหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดและบริสุทธิของผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา มิใช่การบังคับหรือล่อลวงให้เขาให้การใด ๆ ที่เขาไม่ได้สมัครใจ เพราะแม้เขาจะได้กระทำความผิดจริง แต่เขาก็มีสิทธิปฏิเสธและต่อสู้ตามกระบวนการของกฎหมาย

ดังนั้น การที่รัฐมองการปฏิเสธที่จะให้ถ้อยคำของผู้ต้องหา ว่าเป็นการกระทำที่มีพิรุธและส่อว่าได้กระทำความผิดจริง จึงขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ประสงค์จะให้ความคุ้มครองประชาชนที่ถูกดำเนินคดี 

สายตาที่มองผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหา แม้กระทำจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดจริง ทั้งที่การพิสูจน์ยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการ ย่อมขัดกับหลักการ "ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด"


ป.ล.โปรดอ่าน



กฎหมายพยานหลักฐาน ตอนที่ 1 http://chalermwutsa.blogspot.com/2012/12/1.html



กฎหมายพยานหลักฐาน ตอนที่ 2 http://chalermwutsa.blogspot.com/2012/12/blog-post.html









กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

No comments:

Post a Comment