Tuesday 13 September 2016

ฆ่าคนพิการโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

หากวางแผนเพื่อไปฆ่าหรือทำร้าย มีการเตรียมอาวุธ นัดกันกับพรรคพวก ศาลตัดสินว่าไตร่ตรองไว้ก่อน (อ่านเรื่องการฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อ่าน ความแตกต่างระหว่างเจตนาฆ่ากับเจตนาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน)

หากทำร้ายโดยใข้อาวุธ ไม่วาาจะเป็นมีด ไม้ ท่อนเหล็ก โดยมีโอกาสเลือกทำร้ายบริเวณที่ไม่อันตรายถึงตายได้ แต่เลือกที่จะทำต่ออวัยวะที่อันตราย ศาลตัดสินว่าเจตนาฆ่า "เล็งเห็นผล" ซึ่งในคดีประเภทนี้จะมีความยากในการพิสูจน์เจตนาของจำเลยว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าหรือมีเจตนาแค่ทำร้ายเท่านั้น (อ่านเรื่องฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา)


ฎีกาที่ 13360/2556

ย่อสั้น
การที่จำเลยกับพวกมีการวางแผนและตระเตรียมอาวุธไปพร้อมตีทำร้ายผู้ตายหลายครั้งทั้งที่ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้ได้ จนได้รับบาดแผลและถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 288, 289 (4), 295, 296, 371 และริบของกลาง
    จำเลยให้การปฏิเสธ
    ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 296, 371 ประกอบมาตรา 83 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนกับฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิต ฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 90 บาท คำให้การชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (1) คงลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน จำคุกตลอดชีวิต และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 60 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง
    จำเลยอุทธรณ์
    ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 การกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นกับฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี เมื่อลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสามแล้ว คงจำคุก 13 ปี 4 เดือน รวมโทษในความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรแล้ว เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน และปรับ 60 บาท ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
    โจทก์ฎีกา
    ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยกับพวกมีการวางแผนและตระเตรียมอาวุธไปพร้อม เมื่อจำเลยกับพวกพบเห็นผู้ตายกับผู้เสียหายทั้งสองก็ลงมือทันทีทันใดโดยที่ผู้ตายกับพวกไม่ทันตั้งตัว ผู้ตายถูกมีดฟันและทำร้ายจนถึงแก่ความตาย ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้จำเลยกับพวกย่อมเลือกทำร้ายได้ การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการตระเตรียมอาวุธมุ่งทำร้ายผู้ตายนั้น เห็นว่า จากพฤติการณ์ที่จำเลยกับพวกใช้อาวุธมีด ท่อนเหล็ก และท่อนไม้ของกลางฟันและตีทำร้ายร่างกายผู้ตายหลายครั้งทั้งที่ผู้ตายเป็นคนพิการไม่มีทางต่อสู้จนได้รับบาดแผลตามรายงานการตรวจศพ อันเป็นกรณีที่รับฟังถึงที่สุดแล้วว่าการกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และเมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่จำเลยกับพวกตระเตรียมอาวุธมีด ท่อนเหล็กและท่อนไม้ไว้เพื่อหาโอกาสทำร้ายผู้ตายกับพวกด้วยสาเหตุที่มีเรื่องบาดหมางไม่พอใจกันมาก่อน เมื่อสบโอกาสจำเลยกับพวกก็ร่วมกันใช้อาวุธดังกล่าวฟันและตีทำร้ายผู้ตายย่อมแสดงว่า จำเลยกับพวกมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ไม่เป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
    อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับวินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
    พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

No comments:

Post a Comment