Monday 5 February 2018

ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์




ความผิดฐานลักทรัพย์เป็นการกระทำที่มุ่งต่อสิ่งที่กฎหมายมุ่งประสงค์จะคุ้มครอง คือ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น และการครอบครอง ซึ่งหากทรัพย์นั้นไม่มีใครเป็นเจ้าของ หรือไม่ได้อยู่ในความครอบครองของผู้ใด แม้จะมีการเอาไปก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ซึ่งความที่มีพื้นฐานมาจากควาผิดฐานลักทรัพย์นั้นเป็นความผิดที่ต้องเข้าองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์มาเสียก่อนจึงจะเป็นความผิดฐานนั้นได้ ซึ่งความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ เป็นความผิดที่มีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์ โดยเพิ่มองค์ประกอบความผิดขึ้น และมีผลทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้นตามความผิดนั้น ๆ  พิจารณาความแตกต่างของความผิดที่มีพื้นฐานมาจากความผิดฐานลักทรัพย์ได้ดังต่อไปนี้

1) เอาไป หมายความว่า มีการเอาทรัพย์ไปจากการครอบครองของผู้อื่น โดยศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่า “จำเลยเข้าไปในห้องรับแขกเพื่อลักทรัพย์ตัดสายโทรทัศน์ออกแล้วยกเอาเครื่องรับโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะเคลื่อนจากที่ตั้งเดิมมาที่กลางห้อง เผอิญผู้เสียหายมาพบเข้าจำเลยจึงวางไว้ที่พื้นห้องก็ถือได้ว่าเอาทรัพย์ไปแล้ว เป็นความผิดลักทรัพย์สำเร็จไม่ใช่พยายามลักทรัพย์” ซึ่งจากคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการทำให้ทรัพย์เคลื่อนที่จากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่ง ไม่ว่าระยะทางจะไกลเท่าไหร่ ก็ถือว่าเป็นการเอาไปแล้วจำเลยจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ แต่ความเห็นของนักกฎหมายบางท่านไม่เห็นพ้องด้วย โดยเห็นว่าการเอาไปจะสำเร็จบริบูรณ์เมื่อการครอบครองเก่าหมดไปและมีการครอบครองใหม่เข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์ 
การเอาไปนั้นจะต้องเป็นเป็นการทำร้ายกรรมสิทธิ์และการครอบครอง หมายความว่า การเอาไปนั้นจะต้องเป็นการเอาที่มีลักษณะตัดกรรมสิทธิ์และการครอบครองของผู้อื่น หรือเข้าครอบครองทรัพย์นั้นโดยการแย่งครอบครอง โดยผู้ครอบครองเดิมไม่อนุญาต แต่หากเป็นการเอาไปเพียงชั่วคราว เอาไปใช้ หรือถือวิสาสะ ย่อมไม่ใช่เป็นการเอาไปในลักษณะตัดกรรมสิทธิ์ ซึ่งศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยแอบเอารถของผู้เสียหายออกมาเพื่อจะขับไปกินข้าวต้มแล้วจะเอากลับมาคืน แสดงว่าไม่มีเจตนาจะเอารถนั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นการกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์”  
การได้มาซึ่งการครอบครองต้องไม่อยู่ที่ผู้กระทำความผิด หากทรัพย์อยู่ในความครอบครองของผู้กระทำผิด และมีการเอาไปก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ แต่อาจจะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ความผิดฐานลักทรัพย์ ทรัพย์นั้นจะต้องอยู่ในการครอบครองของผู้อื่นในขณะที่มีการเอาไป ซึ่งหมายความว่าผู้อื่นนั้นได้ครอบครองทรัพย์ตามความเป็นจริงและมีเจตจำนงในการครอบครองทรัพย์นั้นด้วย 
ผู้นั้นใช้อำนาจปกครองทรัพย์อยู่ตามความเป็นจริงหมายความว่า ทรัพย์นั้นอยู่ในอำนาจของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่จะจัดการทรัพย์นั้นได้ การครอบครองไม่จำเป็นจะต้องมีการจับต้องตัวทรัพย์ไว้เสมอไป[9] เพียงแต่หวงกันตามควรแก่พฤติการณ์และสภาพของทรัพย์ซึ่งคนทั่วไปยอมรับรู้ได้ ไม่ว่าทรัพย์นั้นจะอยู่ใกล้หรือไกลเท่าไหร่ เช่น ของที่อยู่ในบริเวณบ้าน แม้เจ้าของไม่อยู่บ้าน ก็ยังถือว่าเจ้าของนั้นมีการปกครองอยู่ตามเป็นจริง สัตว์ที่เจ้าของปล่อยให้หากินในบริเวณทุ่ง โดยเจ้าของยืนดูอยู่ห่างๆ ก็ยังถือว่าเจ้าของนั้นใช้อำนาจปกครองอยู่ตามความเป็นจริง 
ผู้นั้นมีเจตจำนงที่จะครอบครองทรัพย์นั้น หมายความว่า การครอบครองของเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นจะต้องมีเจตจำนงในการครอบครองทรัพย์ที่ตนยึดถือนั้นด้วย หากเขาไม่เจตจำนงในการครอบครองทรัพย์ แม้เขาครอบครองอยู่ตามความเป็นจริงก็ไม่อาจจะถือว่าเขาครอบครองทรัพย์นั้นอยู่ เช่น ของที่คนอื่นทิ้งแล้ว เมื่อมีการเอาไป ย่อมไม่อาจจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้ 
2) ทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ประมวลกฎหมายอาญาใช้คำว่า ทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ได้มีการนิยามไว้ในประมวลกฎหมายอาญาว่า ทรัพย์ มีความหมายว่าอย่างไร ดังนั้นการตีความคำว่าทรัพย์จึงต้องอาศัยการตีความตามความหมายของประมวลกฎหมายแพงและพาณิชย์ ซึ่งมีบัญญัติไว้ใน มาตรา 137 “ทรัพย์ หมายความว่า วัตถุมีรูปร่าง” ดังนั้นทรัพย์ที่จะลักได้ต้องเป็นทรัพย์ที่สามารถเอาไปได้ เช่นอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ จะต้องเปลี่ยนสภาพเป็นทรัพย์ที่สามารถเอาไปได้ก่อน เช่น ปกติบ้านไม่สามารถเป็นทรัพย์ที่ถูกเอาไปได้ แต่หากมีการเปลี่ยนสภาพแล้ว เช่น ถอดเอาประตู หน้าต่างออกมา ย่อมเป็นทรัพย์ที่เอาไปได้ 
พลังงานโดยปรกติแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีรูปร่าง เพราะไม่อาจมองเห็นหรือจับต้องได้ แต่อย่างไรก็ตามศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้ว่า การลักกระแสไฟฟ้า ย่อมเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 หรือ 335 แล้วแต่กรณี ซึ่งศาลฎีกาไม่ได้เหตุผลในการตัดสินไว้ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นกระแสไฟฟ้าจึงเป็นทรัพย์ 
ความผิดฐานลักทรัพย์ มูลค่าราคาของทรัพย์นั้นไม่ได้จำกัดว่าต้องมีค่าหรือมีราคาเท่าใดจึงเป็นความผิด หากทรัพย์นั้นไม่ไร้ค่า แม้จะมีค่ามีราคาน้อย ผู้เอาทรัพย์ดังกล่าวไปก็มีความผิดเช่นเดียวกัน รวมถึงกรณีหากทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์สินหาย แม้จะมีเจ้าของแต่เมื่อมีการเอาไปก็ไม่ใช่ความผิดฐานลักทรัพย์เพราะทรัพย์นั้นไม่อยู่ในความครอบครองของใคร 
ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย หมายความว่า ทรัพย์นั้นจะต้องไม่ใช่ของผู้ลักทรัพย์เองทั้งหมด แม้เขาจะเข้าใจว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น แต่ความจริงทรัพย์นั้นเป็นของเขาเอง ก็ไม่อาจจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ เพราะไม่มีทรัพย์ของผู้อื่นอันเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานลักทรัพย์ และหากทรัพย์ไม่มีเจ้าของหรือมีเจ้าของแต่เจ้าของสละกรรมสิทธิ์แล้ว ย่อมไม่อาจเป็นทรัพย์ของผู้อื่นที่ลักกันได้ ส่วนคำว่าทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยนั้น มีความหมายว่า ทรัพย์นั้นมีเจ้าของหรือผู้ครอบครองมากกว่าคนเดียว และหนึ่งในนั้นคือผู้กระทำผิด แต่ปัญหาที่จะเกิดทรัพย์ที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยว่า หากขณะที่มีการเอาทรัพย์นั้นไปนั้น ใครเป็นผู้ครอบครอง 
เจตนาธรรมดา เจตนาในความผิดฐานลักทรัพย์ในส่วนของเจตนาธรรมดาก็แยกพิจารณาออกเป็น เจตนาประสงค์ต่อผลและเจตนาย่อมเล็งเห็นผล และผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่ตนเอาไปนั้นเป็นทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย หากผู้กระทำไม่รู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่นแต่เข้าใจว่าเป็นของตัวเอง กรณีเช่นนี้ก็จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปไม่ได้ เจตนาเอาไปนั้นผู้กระทำต้องมีอยู่ในขณะกระทำความผิดหากมีเจตนาเอาไปภายหลังจากได้เข้าครอบครองทรัพย์นั้นแล้วไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น ไปรับประทานอาหารที่ภัตตาคาร โดยถอดเสื้อนอกแขวนไว้ กลับมาถึงบ้าน พบว่ามีซองบุหรี่ของผู้อื่นอยู่ในเสื้อของตนเอง โดยที่ไม่ทราบมาก่อน แต่เกิดเจตนาทุจริตขึ้นในภายหลังก็ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ 
มูลเหตุชักจูงใจโดยทุจริต ความผิดฐานลักทรัพย์แม้ว่าผู้กระทำนั้นเอาทรัพย์นั้นไปโดยรู้ว่าทรัพย์นั้นเป็นของผู้อื่น โดยประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลต่อทรัพย์นั้นก็ตาม ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ ผู้กระทำจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ได้จะต้องปรากฏว่าการเอาทรัพย์นั้นไป เป็นการกระทำโดยทุจริตด้วย ซึ่งความหมายของคำว่าโดยทุจริตนั้นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (1) "โดยทุจริต" หมายความว่าเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้ โดยที่ชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น 
1) เพื่อแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย คำว่า โดยทุจริต เป็นการแสวงหาประโยชน์ การแสวงหา คือการกระทำใด ๆ เพื่อให้ได้มาสำหรับตนหรือผู้อื่น และเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มีลักษณะในทางบวก หากเป็นในทางลบเช่น การทำลายทรัพย์หรือการทำให้ทรัพย์หลุดมือจากผู้อื่นจึงไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์ คำว่าประโยชน์ในที่นี้อาจจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ใช่ประโยชน์ในทางทรัพย์สินก็ได้ เพราะมาตรา 1(1) ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าประโยชน์ที่ไม่ควรได้นั้นหมายถึงเฉพาะประโยชน์ในทางทรัพย์สิน บทบัญญัติมาตราใดไม่ได้บัญญัติเฉพาะประโยชน์ในทางทรัพย์สิน ย่อมหมายความถึงประโยชน์โดยทั่วไป ทั้งที่เป็นทรัพย์สินและไม่เป็นทรัพย์สินหากการแสวงหาประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในทางทรัพย์สินหรือไม่ใช่ประโยชน์ในทางทรัพย์สินก็ตาม ผู้นั้นแสวงหามาโดยชอบย่อมไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ 
2) สำหรับตนเองหรือผู้อื่น การแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ไม่ว่าผู้กระทำจะกระเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือของผู้อื่นก็ย่อมเป็นการกระทำโดยทุจริตทั้งสิ้น และการทุจริตนั้นต้องมีขณะเอาทรัพย์นั้นไป ถ้าเจตนาโดยทุจริตเกิดขึ้นภายหลังก็ไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ได้ 
1. ความผิดฐานลักทรัพย์การครอบครองทรัพย์อยู่ที่ผู้อื่น ผู้กระทำความผิดไปแย่งการครอบครองจากเขามา เช่น นายหนึ่งได้ลักเอารถมอเตอร์ไซด์ของนายสองที่จอดไว้หน้าบ้านไป จะเห็นว่าการครอบครองทรัพย์อยู่ที่ผู้อื่น แล้วผู้กระทำความผิดไปแย่งการครอบครองมาเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ แต่หากการครอบครองทรัพย์อยู่ที่ผู้กระทำความผิดเอง แล้วต่อมาผู้กระทำความผิดเบียดบังเอาเป็นของตนเองหรือผู้อื่น เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ เช่น นายหนึ่งได้เช่าซื้อรถมอเตอร์ไซด์มาจากบริษัทแห่งหนึ่ง นายหนึ่งได้ครอบครองและใช้รถต่อมาแต่ไม่ยอมจ่ายค่างวดรถเบียดบังเป็นของตนเอง หรือนำไปขายต่อบุคคลอื่น เป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์ 
นอกจากนี้ความผิดฐานลักทรัพย์กับความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหายยังมีความใกล้เคียงกัน ซึ่งหากทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์สินหาย ผู้ที่เอาไปจะมีความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย ตามมาตรา 352 วรรคสอง ถ้าทรัพย์นั้นได้ตกมาอยู่ในความครอบครองของผู้กระทำความผิด เพราะผู้อื่นส่งมอบให้โดยสำคัญผิดไปด้วยประการใด หรือเป็นทรัพย์สินหายซึ่งผู้กระทำความผิดเก็บได้ ผู้กระทำต้องระวางโทษแต่เพียงกึ่งหนึ่ง แต่หากทรัพย์นั้นไม่ใช่ทรัพย์สินหาย ผู้กระทำเอาไปจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนั้นประเด็นปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในกรณีนี้คือ จะพิจารณาได้อย่างไรว่าทรัพย์นั้นเป็นทรัพย์สินหายหรือไม่
เช่น นายแดงไปเข้าห้องน้ำสาธารณะได้เอากระเป๋าสตางค์วางไว้ในห้องน้ำ เมื่อออกมานายแดงลืมกระเป๋าสตางค์ไว้ นายดำได้เข้ามาใช้ห้องน้ำต่อเห็นกระเป๋าสตางค์ของนายแดงวางอยู่จึงหยิบไป นายแดงนึกขึ้นมาได้จึงรีบวิ่งเข้ามาในห้องน้ำเพื่อเอากระเป๋า ได้สอบถามนายดำว่าเห็นกระเป๋าสตางค์ของตนที่วางอยู่หรือไม่ นายดำบอกไม่เห็น ดังนี้ การครอบครองทรัพย์ยังอยู่ที่นายแดง ไม่ใช่ทรัพย์สินหาย เพราะนายแดงยังสามารถติดตามเอาคืนได้อยู่ นายดำเอาไปย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ ไม่ใช่ยักยอกทรัพย์สินหาย
แต่หากนายแดงทำกระเป๋าสตางค์หล่นไว้ที่ไหนไม่ทราบ นายดำกำลังเดินเล่นอยู่ริมถนนเห็นกระเป๋าสตางค์ของนายดำตกอยู่ นายดำเปิดดูกระเป๋าเห็นมีเงินอยู่จึงได้เอากระเป๋านั้นไป การกระทำของนายดำเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์สินหาย เพราะกระเป๋าสตางค์ของนายแดงหลุดไปจากการครอบครองของนายแดง และไม่อยู่ในวิสัยที่นายแดงจะติดตามเอาคืนได้ 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2402/2529ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายทำธนบัตรของกลางตกที่หน้าแผงลอยของนางสาวพ.ขณะที่ล้วงกระเป๋าหยิบเงินมาชำระค่าปลาหมึกให้แก่นางสาวพ.จำเลยที่1มาพบก้มลงหยิบธนบัตรดังกล่าวไปหลังจากที่จำเลยที่1เดินจากไปแล้วผู้เสียหายจึงรู้ตัวว่าธนบัตรของกลางหายไปสอบถามนางสาวพ.ได้ความว่าจำเลยที่1เก็บเอาไปดังนี้การที่จำเลยที่1เอาธนบัตรของกลางไปในขณะที่ผู้เสียหายยังยืนอยู่ในบริเวณที่ทำธนบัตรตกและในเวลาใกล้เคียงกันนั้นเองผู้เสียหายก็รู้ทันทีว่าธนบัตรของตนหายไปถือได้ว่านับแต่เวลาที่ธนบัตรของกลางหล่นลงไปที่พื้นจนถึงเวลาที่จำเลยที่1หยิบเอาไปผู้เสียหายยังคงยึดถือธนบัตรนั้นอยู่การครอบครองธนบัตรยังอยู่กับผู้เสียหายเมื่อจำเลยที่1เอาธนบัตรของกลางไปจากความครอบครองของผู้เสียหายเพื่อจะเอาไปเป็นของตนเองจึงมีความผิดฐานลักทรัพย์.
2. ความผิดฐานลักทรัพย์ต้องกระทำต่อทรัพย์ที่สามารถเอาไปได้ หากเป็นทรัพย์ที่ไม่สามารถเอาไปได้ ย่อมไม่อาจเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโด ย่อมไม่อาจลักได้ แต่ทรัพย์ที่ไม่อาจลักได้สามารถเป็นทรัพย์ที่ยักยอกได้ เพราะการกระทำความผิดอันเป็นการยักยอกเป็นการเบียดเบียนเอาเป็นของตนเองหรือของผู้อื่น ไม่จำต้องมีการเอาไป 
หลักในการวินิจฉัยความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จกับพยายามลักทรัพย์ มีอยู่ว่า หากได้ลงมือลักทรัพย์และทรัพย์นั้นอยู่ในลักษณะพร้อมที่จะนำไปได้แล้ว ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว เช่น นายแดงเห็นจักรยานจอดอยู่ จึงเข้าไปจูงจักรยานออกมาจากจุดเดิม 10 เมตร กรณีนี้ถือว่าความผิดสำเร็จแล้ว เพราะได้นำพาทรัพย์นั้นเคลื่อนที่ไปและทรัพย์อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะนำไปได้แล้ว แต่หากนายแดงเข้าจูงเอาจักรยานออกมาได้ 10 เมตร แต่จูงต่อไปอีกไม่ไอ้เพราะมีโซ่ล่ามไว้ กรณีเช่นนี้แม้ว่าทรัพย์จะเคลื่อนที่แล้ว แต่ทรัพย์ยังไม่อยู่ในสภาพที่เอาไปได้ จึงมีความผิดเพียงพยายามลักทรัพย์เท่านั้น








ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ รับของโจร บุกรุก

   





การลักทรัพย์ในเวลากลางคืนนั้นกฎหมายเห็นว่า เวลากลางคืนการป้องกันดูแลทรัพย์ย่อมเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นเวลาที่ผู้คนหลับนอนกัน ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ชอบลงมือ ดังนั้น การลงโทษให้หนักขึ้นสำหรับการลักทรัพย์ในเวลากลางคืนจึงเป็นมาตรการในการป้องกันไม่ให้คนคิดจะลักทรัพย์ 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 402/2546 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(2) บัญญัติถึงการลักทรัพย์ในที่หรือบริเวณที่มีอุบัติเหตุซึ่งอุบัติเหตุนั้นเฉพาะเกิดแก่รถไฟหรือยานพาหนะที่ประชาชนโดยสารเท่านั้น ซึ่งตามคำฟ้องของโจทก์มิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหายในบริเวณที่มีอุบัติเหตุรถยนต์เฉี่ยวชนกันซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้ขับรถยนต์ประสบอุบัติเหตุ ดังนั้น แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(2) วรรคแรก ได้ จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8993/2550 พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายคำว่า "กีดกั้น" ว่า ขัดขวางไว้ การที่ผู้เสียหายใช้โซ่คล้องยึดกล้องวิดีโอของกลางกับตู้โชว์ จึงเป็นการขัดขวางไม่ให้มีการนำกล้องวิดีโอของกลางไปอันมีลักษณะเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองกล้องวิดีโอของกลางเหมือนเช่นรั้ว หรือลูกกรงหน้าต่าง ประตูบ้าน การที่จำเลยตัดโซ่คล้องที่ยึดกล้องวิดีโอของกลางกับตู้โชว์จนขาดออกแล้วลักกล้องวิดีโอของกลางไปจึงเป็นการลักทรัพย์โดยทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1082/2549 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกน้ำมันของผู้เสียหายเข้ามาจอดที่บริเวณบ้านของจำเลยที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะดูดออกจากถังน้ำมันของรถยนต์บรรทุกให้แก่จำเลยที่ 2 ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้คีมตัดลวดและซีลซึ่งใช้ปิดฝาถังน้ำมันเพื่อเปิดฝาถังน้ำมันออก โดยจำเลยที่ 2 ถือถังน้ำมันเตรียมไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักมาขายให้ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุม การที่จำเลยที่ 2 เตรียมถังน้ำมันไว้รองรับน้ำมันที่จำเลยที่ 1 จะลักจากรถยนต์บรรทุกน้ำมัน จำเลยที่ 2 ได้กระทำไปโดยมีเจตนาจะรับซื้อน้ำมันจากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ไม่อาจถือได้ว่าการที่จำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกน้ำมันเข้ามาจอดในบริเวณบ้านของตนเป็นการกระทำโดยเจตนาช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่ 1 ในการลักทรัพย์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3005/2543 แม้รถกระบะของผู้เสียหายไม่ปรากฏร่องรอยการถูกงัดแงะซึ่งฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ทำอันตรายสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์ก็ตาม แต่การที่จำเลยเข้าไปในรถกระบะของผู้เสียหายโดยผ่านทางประตูรถเข้าไปถือว่าเป็นการผ่านสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์เข้าไปด้วยประการใด ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(3) แล้ว 
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2385/2534 จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหายเพื่อจะลักทรัพย์แต่ผู้เสียหายตื่นขึ้นมาพบจำเลยเสียก่อน จำเลยจึงทำการลักทรัพย์ไปไม่ตลอดการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์ในเคหสถานเวลากลางคืน โดยเข้าทางช่องทางที่ได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า และเป็นการเข้าไปในเคหสถานในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร ความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวคือ ความผิดฐานลักทรัพย์และบุกรุก ศาลย่อมพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานบุกรุกตามที่พิจารณาได้ความ (ในคดีนี้จำเลย จำเลยปีนเข้าทางหน้าต่างบ้านซึ่งเป็นช่องทางที่ได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า)
ส่วนความหมายของเจ้าพนักงาน หมายถึง บุคคลซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนว่าเป็นเจ้าพนักงาน เช่น ไวยาวัชกร เจ้าคณะตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าพนักงานในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือวิธีพิจารณาความแพ่ง รวมถึงบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งให้บฏิบัติราชการ เช่น รัฐมนตรี ผู้พิพากษา อัยการ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงสมาชิกรัฐสภา ส.ส. ส.ว.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8209/2559 พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงแต่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและสอบถามว่า เสพยาเสพติดหรือไม่แล้วขอตรวจค้นตัวผู้เสียหายทั้งสองก่อนที่จะล้วงเอากระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหายที่ 1 เอาบุหรี่ของผู้เสียหายที่ 2 ไปและบอกว่าจะพาไปตรวจปัสสาวะ หากไม่พบสารเสพติดก็จะปล่อยตัวไปนั้น ไม่ปรากฏว่ามีการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายแต่อย่างใด จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339 คดีคงฟังได้เพียงว่า จำเลยร่วมกับพวกที่ยังหลบหนีกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 (1) (6) (7) วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11225/2555 จำเลยทั้งสามเอาทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายไปเพื่อให้ผู้เสียหายไปติดต่อชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระจำเลยที่ 1 แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการบังคับให้ผู้เสียหายชำระหนี้โดยพลการ ซึ่งไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์
สถานที่ตาม มาตรา 355 (8) เป็นสถานที่กฎหมายมองว่าควรเป็นสถานที่ปลอดภัยจากการลักทรัพย์ เพราะเป็นสถานที่อยู่อาศัยของประชาชน เป็นสถานที่ปฏิบัติราชการให้แก่ประชาชน ดังนั้น กฎหมายจึงให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ หากมีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าวต้องรับโทษหนักกว่าการลักทรัพย์ธรรมดา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2537 การลักทรัพย์ในเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 นั้น หมายถึงผู้กระทำจะต้องเข้าไปในเคหสถานทั้งตัว มิใช่เพียงแต่ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้กระทำล่วงล้ำเข้าไปในเคหสถาน จำเลยเพียงแต่ยื่นมือผ่านบานเลื่อนไม้เข้าไปในห้องพักของผู้เสียหายแล้วทุบกระต่ายออมสินของผู้เสียหายลักเอาเงินไป โดยจำเลยมิได้เข้าไปในห้องพักของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
คำพิพากษาฎีกาที่ 393/2509 เล้าไก่ อยู่ห่างจากเรือนผู้เสียหายประมาณ 1 เมตร แม้แยกออกไปต่างหากจากตัวเรือนแล้ว ก็ยังอยู่ในที่ดินอันเป็นบริเวณของโรงเรือนซึ่งมีรั้วอยู่ด้วย มิใช่อยู่ในที่ ซึ่งเป็นบริเวณต่างหากจากโรงเรือนซึ่งใช้เป็นที่คนอยู่อาศัย จำเลยลักไก่ในเล้าซึ่งอยู่ในบริเวณที่อยู่อาศัย จึงเป็นการลักทรัพย์ในเคหสถานที่จำเลยได้เข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาต ผิดมาตรา 335 (8) 
คำพิพากษาฎีกาที่ 2014/2536 คำว่า "กุฏิ"  ตามพจนานุกรม หมายความว่า "เรือนหรือตึก สำหรับพระภิกษุสามเณรอยู่" จึงเป็นเพียงที่อยู่อาศัยของพระภิกษุสามเณรเท่านั้น  หาใช่สถานที่บูชาสาธารณะ (กุฏิ เป็นเคหสถานของพระภิกษุสามเณร ตามมาตรา 335 (8) แต่ไม่เข้าเหตุฉกรรจ์ ตามมาตรา 335 ทวิ ในข้อหา “ลักทรัพย์ที่เป็นพระพุทธรูป หรือวัตถุในทางศาสนาในวัด สำนักสงฆ์ สถานอันเป็นที่เคารพในทางศาสนา โบราณสถานอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน สถานที่ราชการ หรือพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ”
คำพิพากษาฎีกาที่ 2307/2519 ผู้เสียหายกับจำเลยเช่าบ้านหลังเดียวกัน แต่อยู่คนละห้องวันเกิดเหตุผู้เสียหายไม่อยู่ จำเลยเข้าไปในห้องรับแขก นอนอ่านหนังสือพิมพ์บนเก้าอี้นอน น้องผู้เสียหายอยู่บ้าน แต่ก็มิได้ห้ามปรามจำเลย จำเลยลักนาฬิกาข้อมือของผู้เสียหาย ซึ่งวางอยู่บนตู้โชว์ติดกับเก้าอี้นอนไป ดังนี้ การที่จำเลยเข้าไปในบ้านผู้เสียหาย ถือได้ว่าเป็นการได้รับอนุญาตให้เข้าไปได้โดยปริยาย การลักทรัพย์มิใช่ลักในเคหสถาน
คำพิพากษาฎีกาที่ 1076/2526 ผู้เสียหายมอบกุญแจบ้านและกุญแจห้องนอน ให้จำเลยกับพวกเข้าไปเดินสายไฟในบ้าน ถือได้ว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าไปในห้องนอนด้วย จำเลยลักสร้อยข้อมือ ในห้องนอนไป ย่อมมีความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดา มิใช่ลักทรัพย์ในเคหสถาน และศาลมีอำนาจที่จะลงโทษในความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดาได้ ผิด ม 334 ไม่ผิด ม 335 (8)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3153/2557 โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปในบ้านของผู้เสียหาย แล้วลักเงิน 20,000 บาท ซึ่งอยู่ในกระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไป ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยเข้าไปในบ้านของผู้เสียหายโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วรื้อค้นลิ้นชักพลาสติกที่เชิงบันได โดยเมื่อค้นในลิ้นชักอันบนสุดพบกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ใบเล็ก จำเลยก็ดึงออกมาจากลิ้นชักแล้วค้นหาสิ่งของในกระเป๋าสะพายและกระเป๋าสตางค์ดังกล่าว จากนั้นจำเลยเดินขึ้นบันไดไปบนระเบียงชั้นบนของบ้านและค้นหาสิ่งของที่กองเครื่องมือของใช้ที่วางอยู่บนระเบียงเป็นเวลานาน แล้วกลับลงไปรื้อค้นหาสิ่งของที่ลิ้นชักพลาสติกชั้นอื่นทุกลิ้นชัก เห็นได้ว่า จำเลยมีเจตนาค้นหาเงินและของมีค่าอื่นในจุดที่จำเลยคาดว่าผู้เสียหายหรือบุคคลในครอบครัวผู้เสียหายน่าจะเก็บหรือซุกซ่อนไว้ ฟังได้ว่ามีเจตนาค้นหาและประสงค์จะลักเงินของผู้เสียหายไปนั่นเอง ถือว่าจำเลยได้ลงมือกระทำความผิดและกระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผลเพราะไม่มีเงินที่จะลักอยู่ในกระเป๋าสะพายและจุดรื้อค้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามลักเงินของผู้เสียหาย แต่การกระทำไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ เป็นการพยายามกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเคหสถานตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก ประกอบมาตรา 81
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2557 จำเลยเป็นพนักงานช่วยงานพยาบาลซึ่งทำงานในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องน้ำที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ที่จำเลยต้องเข้าไปทำงานตามหน้าที่ และเหตุคดีนี้เกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน กรณีจึงมิใช่เรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 มิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7562/2556 จำเลยทั้งสองกับพวก 5 คน ร่วมกันปรึกษาวางแผนลักทรัพย์ของชาวต่างชาติบนรถโดยสารสองแถว โดยขึ้นรถโดยสารสองแถวมาพร้อมกันซึ่งจะทำให้มีผู้โดยสารมากพอที่จะทำให้พวกของจำเลยที่ 1 สามารถเข้าไปนั่งชิดกับผู้เสียหายทางด้านขวาที่มีกระเป๋าสตางค์อยู่ในประเป๋ากางเกง พวกของจำเลยทั้งสองจึงมีโอกาสล้วงกระเป๋าสตางค์ของผู้เสียหาย และมีการแบ่งหน้าที่กันทำตามที่จำเลยที่ 1 กับพวกรวม 5 คน สมคบกัน จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานร่วมกับพวกลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะและเป็นซ่องโจร ซึ่งความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับฐานร่วมกันลักทรัพย์ในยวดยานสาธารณะเกี่ยวเนื่องกันจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1084/2530 จำเลยยืนอยู่นอกรถยนต์โดยสารประจำทาง ใช้กำลังประทุษร้ายดึงตัวผู้เสียหายให้ลงมาจากรถแล้วบังคับเอาทรัพย์จากผู้เสียหาย เช่นนั้น การชิงทรัพย์ได้เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายในขณะที่ผู้เสียหายยังอยู่บนรถซึ่งเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันไม่ขาดตอนกับการบังคับเอาทรัพย์จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ในยวดยานสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 วรรคสองประกอบกับมาตรา 335(9)
ทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง หมายถึง เป็นกรรมสิทธิของนายจ้าง แม้นายจ้างไม่ได้ครอบครองอยู่ แต่ให้คนอื่นครอบครองอยู่ ส่วนทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง แม้นายจ้างไม่ได้เป็นเจ้าของแต่ได้ครอบครองอยู่ กฎหมายประสงค์จะลงโทษให้หนักขึ้นสำหรับกรณีที่ลักทรัพย์นายจ้าง เพราะการที่เป็นลูกจ้างย่อมมีโอกาสในการกระทำความผิดมากกว่าคนอื่น อยู่ใกล้ชิดและได้รับความไว้วางใจให้ดูแลทรัพย์ ดังนั้น เพื่อให้ความคุ้มครองนายจ้างจากการถูกลักทรัพย์ของลูกจ้าง จึงลงโทษหนักกว่าการลักทรัพย์ธรรมดา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9871/2551 จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ตำแหน่งหัวหน้าแผนกจัดเก็บเงินและวางบิล มีหน้าที่นำส่งใบแจ้งหนี้แก่ลูกค้า รับเงินหรือเช็คที่ลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้า เมื่อจำเลยรับเช็คจากลูกค้าแล้วจะต้องถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้า แล้วมอบเช็คแก่แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีโจทก์ร่วม แต่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยรับเช็คจำนวน 10 ฉบับ ซึ่งลูกค้าสั่งจ่ายชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วม จำเลยได้ถ่ายสำเนาเช็คดังกล่าวส่งให้แผนกรับเช็คเพื่อบันทึกรายการและตัดยอดบัญชีลูกค้าแล้วแต่ไม่ได้นำเช็คจำนวน 10 ฉบับ นั้น ไปส่งแผนกบัญชีของโจทก์ร่วม กลับนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินตามเช็คโดยเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลย ดังนี้ เห็นว่า การที่จำเลยรับเช็คของลูกค้าของโจทก์ร่วมที่ชำระค่าสินค้าแก่โจทก์ร่วมนั้นเป็นการรับในฐานะที่จำเลยเป็นพนักงานของโจทก์ร่วม ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องนำเช็คดังกล่าวไปให้แผนกบัญชีของโจทก์ร่วมเพื่อเรียกเก็บเงินตามเช็คนั้น การที่เช็คจำนวน 10 ฉบับ มาอยู่ที่จำเลยจึงเป็นเรื่องที่จำเลยยึดถือเช็คดังกล่าวเพื่อโจทก์ร่วมเท่านั้นเพราะสิทธิครอบครองในเช็คดังกล่าวอยู่ที่โจทก์ร่วมแล้ว เมื่อจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยจึงเป็นการเอาไปเสียซึ่งเช็คของโจทก์ร่วมโดยเจตนาทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
ผู้มีอาชีพกสิกรรม หมายถึงผู้มีอาชีพใด พิจารณาจากคำพิพากษาดังต่อไปนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 355/2557 ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คำว่า "กสิกรรม" หมายความถึง การทำไร่ไถนา การเพาะปลูก โจทก์ร่วมมีอาชีพเลี้ยงกุ้งกุลาดำจึงมิใช่การประกอบอาชีพกสิกรรม การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11662/2554 ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (12) คำว่า การกสิกรรม หมายถึง การเพาะปลูก ไก่จึงไม่ใช่เป็นสัตว์ที่ได้มาจากการกสิกรรมตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตาม ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335 (12) จึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกและแก้ไขให้ถูกต้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2279/2544 เครื่องสูบน้ำที่ถูกจำเลยลักไปเป็นเครื่องมือเครื่องกลอันมีไว้สำหรับประกอบกสิกรรมของผู้มีอาชีพกสิกรรม เมื่อยังมีสภาพและรูปร่างเป็นเครื่องสูบน้ำอยู่ก็ต้องถือว่าเข้าหลักเกณฑ์แล้ว จะเสียหรือใช้การได้ไม่เป็นปัญหา เพราะถ้าเสียก็ยังสามารถซ่อมแซมให้ดีได้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(12) ไม่ได้กำหนดว่าการลักเครื่องมือเครื่องกลดังกล่าวจะต้องเป็นทรัพย์ที่ยังใช้การได้เท่านั้นจำเลยจึงจะรับโทษหนักขึ้นตามบทบัญญัติดังกล่าว
ตามวรรคสองเป็นเหตุเพิ่มโทษ หากเป็นการกระทำความผิดที่เป็นการกระทำที่บัญญัติไว้ตั้งแต่สองอนุขึ้นไป เช่น นายแดงเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านของนายดำ ในเวลากลางคืน ย่อมเป็นการกระทำความผิดที่เข้าทั้ง (1) และ (8) เมื่อเป็นการกระทำความผิดฐานลักรัพย์ที่เข้าลักษณะการกระทำความผิดตั้งแต่สองอนุขึ้นไป นายแดงมีความรับผิดตาม มาตรา 335 วรรค 2 ต้องรับโทษหนักขึ้นกว่าวรรแรก







ความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป้นพระพุทหรือวัตถุในทางศาสนา ถูกแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นในปี พ.ศ. 2522 เพราะในช่วงดังกล่าวได้มีการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นการกระทำต่อวัตถุในทางศาสนามากขึ้น ซึ่งพระพุทธรูปหรือวัตถุในทางศาสนานั้นแม้จะไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่งก็ตาม แต่ก็เป็นที่เคารพบูชาของประชาชนทั่วไป ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความคุ้มครอง โดยการบัญญัติให้เป็นความผิดและมีโทษทางอาญา



ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ฉ้อโกง โกงเจ้าหนี้ ยักยอกทรัพย์ ทำให้เสียทรัพย์ รับของโจร บุกรุก