Wednesday 13 February 2019

การสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร


อ่านบทความทางกฎหมายฉบับสมบูรณ์ได้ที่ 


https://chaloemwut.readawrite.com/


การสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร

มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ใน อนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความ ในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
1. เหตุใดกฎหมายจึงห้ามนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
เหตุที่กฎหมายห้ามสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เพราะว่าต้องการให้เอกสารที่ทำขึ้นมาเกิดความศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นกฎหมายประสงค์ใช้เป็นหลักฐานในการก่อนิติสัมพันธ์ อีกทั้งพยานเอกสารเป็นหลักฐานที่ง่ายต่อการพิสูจน์กว่าพยานชนิดอื่น เช่น การพิสูจน์เอกสารก็พิสูจน์แต่เพียงว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือเป็นเอกสารปลอมเท่านั้น แต่หากเป็นพยานบุคคลคำเบิกความของพยานศาลต้องพิจารณาว่ารับฟังได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งยากต่อการพิสูจน์ว่าสิ่งที่พยานเบิกความออกมานั้นจริงหรือเท็จ การห้ามสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารเป็นการห้ามโดยเด็ดขาด ไม่เหมือนกับการนำสำเนาเอกสารมาสืบ ที่คู่ความอาจตกลงกันนำสำเนามาสืบแทนต้นฉบับได้
2. กรณีใดบ้างที่ห้ามนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง คือ กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องทำเป็นหนังสือ กรณีที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน และกรณีที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
1) กรณีที่กฎหมายบังคับต้องทำเป็นหนังสือ เช่น การโอนสิทธิ์เรียกร้อง ม.306 การทำสัญญาเช่าซื้อ ม. 572 การบอกกล่าวบังคับจำนอง ตาม ม. 728 การตั้งตัวแทนในกิจการที่ต้องทำเป็นหนังสือ ตาม ม.798 ตั๋วเงิน ตาม ม. 898 และม. 900 พินัยกรรม ตาม ม.1656 การโอนหุ้นระบุชื่อ ตาม ม.1129 และการมอบอำนาจให้ฟ้องคดี ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ม. 60 วรรค 2
2) กรณีที่ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน เช่น การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ม.456 วรรค 1 การแลกเปลี่ยนทรัพย์อสังหาริมทรัพย์ ม. 519 การให้ทรัพย์ ตาม ม.525 การจำนอง ตาม ม.714 การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ ม.1299 และ ม.1301
3) กรณีที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ เช่น สัญญาจะซื้อจะขาย ตาม ม.456 วรรคสอง การเช่าอสังหาริมทรัพย์ ตาม ม.538 การกู้ยืมเงินกันเกินกว่าสองพันบาท ตาม ม.653 การค้ำประกัน ตาม ม.680 การตั้งตัวแทนในกิจการที่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ม.798 วรรคสอง การสัญญาประนีประนอมยอมความ ตาม ม.858 สัญญาประกันภัย ตาม ม.867 สัญญาแบ่งมรดก ตาม ม.1750 วรรคสอง
กรณีทั้ง 3 กฎหมายบังคับว่าเมื่อเวลาต้องการฟ้องคดีต่อศาลต้องมีเอกสารมาแสดง ซึ่งเอกสารที่กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้บัญญัติให้ทำกันเพื่อเป็นหลักฐานในการกาอนิติสัมพันธ์ เมื่อใดต้องการให้ศาลบังคับให้เป็นตามสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายก็ย่อมต้องนำเอกสารมาแสดงต่อศาลเพื่อเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี ดังนั้น เมื่อเอกสารคือหลักฐานแห่งนิติสัมพันธ์และกฎหมายประสงค์จะให้ทำขึ้นมา เมื่อทำขึ้นมาแล้วกฎหมายย่อมต้องคุ้มครองให้เอกสารมีความศักดิ์สิทธิ์มากกว่าการกล่าวอ้างของบุคคล กฎหมายจึงห้ามไม่ให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร
3. การนำพยานบุคคลมาสืบแทนหรือเพิ่มเติมตัดทอนแก้ไขเอกสารทำได้หรือไม่ อย่างไร
เมื่อเราพิจารณาแล้วว่ากรณีใดที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดงว่ามีกรณีใดบ้าง ซึ่งตามกฎหมายห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
มาตรา 94 เมื่อใดมีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้ศาลยอมรับฟังพยานบุคคลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ แม้ถึงว่าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยินยอมก็ดี
(ก) ขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เมื่อไม่สามารถนำเอกสารมาแสดง
(ข) ขอสืบพยานบุคคลประกอบข้ออ้างอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อได้นำเอกสารมาแสดงแล้วว่ายังมีข้อความเพิ่มเติมตัดทอนหรือ เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นอยู่อีก


ตามมาตรา 90(ก) เป็นการสืบขอสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร เช่น โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้โดยจำเลยอ้างว่าจำเลยได้ชำระหนี้เงินกู้ให้กับโจทก์แล้ว ขอนำสืบพยานบุคคลว่ามีการชำระหนี้ให้โจทก์ ซึ่งกรณีนี้การชำระเงินเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง (มาตรา 653 วรรคสอง ในการกู้ยืมเงินมีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น ท่านว่าจะนำสืบการใช้เงินได้ต่อเมื่อมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดงหรือเอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมนั้นได้ เวนคืนแล้ว หรือได้แทงเพิกถอนลงในเอกสารนั้นแล้ว) ดังนั้น จำเลยจะนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสารไม่ได้ ต้องห้ามตาม มาตรา 94 (ก)
ส่วนกรณีตามมาตรา 94(ข) เป็นการสืบพยานประกอบข้ออ้างเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งหมายถึง มีเอกสารมาสืบแต่ก็ยังนำพยานบุคคลมาสืบประกอบเอกสาร ว่ามีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ซึ่งกฎหมายไม่ให้ศาลรับฟังพยานบุคคล เนื่องด้วย หากปล่อยให้มีการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือตัดตอนเอกสาร จะทำให้เอกสารที่ทำขึ้นมาหมดความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่หลักฐานแห่งการก่อนิติสัมพันธ์กันตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย และจะทำให้เกิดความยุ่งยากในการพิสูจน์อย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว เช่น โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาเงินกู้โดยอ้างเอกสารเป็นสัญญาเงินกู้มานำสืบ จำเลยให้การยอมรับว่าได้กู้เงินจากโจทก์จริง แต่ต่อสู้เรื่องดอกเบี้ยที่โจทก์คิดมาไม่ใช่อัตราที่ตกลงกัน โดยโจทก์ขอนำนายแดงมานำสืบว่า มีการตกลงกันคิดดอกเบี้ยกันร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่ได้ระบุไว้ในเอกสาร กรณีเช่นนี้ ห้ามศาลรับฟังพยานบุคคลเพราะการฟ้องเรียกเงินตามสัญญาเงินกู้เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดง ดังนั้น เมื่อเป็นกรณีที่เป็นการสืบพยานประกอบข้ออ้างเอกสารว่ามีข้อความเพิ่มเติมจึงต้องห้าม ตาม มาตรา 94 (ข)
4. ข้อยกเว้นในการนำพยานบุคคลมาสืบแทนเอกสาร
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ใน อนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือสัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด
1) ต้นฉบับเอกสารสูญหาย หรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย มาตรา 93 (2)
มาตรา 93 การอ้างเอกสารเป็นพยานหลักฐานให้ยอมรับฟังได้เฉพาะต้นฉบับเอกสารเท่านั้น เว้นแต่ (2) ถ้าต้นฉบับเอกสารนำมาไม่ได้ เพราะถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัย หรือสูญหายหรือไม่ สามารถนำมาได้โดยประการอื่น อันมิใช่เกิดจากพฤติการณ์ที่ผู้อ้างต้องรับผิดชอบ หรือเมื่อศาลเห็นว่าเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะต้องสืบสำเนาเอกสาร หรือพยานบุคคลแทนต้นฉบับเอกสารที่นำมาไม่ได้นั้น ศาลจะอนุญาตให้นำสำเนาหรือพยานบุคคลมาสืบก็ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2486 การที่จะนำพยานบุคคลมาสืบแทนต้นฉบับเอกสารที่ว่าหายนั้นจะต้องให้ได้ความว่าเอกสารนั้นหายไปอย่างไร และเก็บไว้ที่ไหน เพราะศาลจะรับฟังคำพยานเช่นนี้ก็ต่อเมื่อเอกสารหาไม่ได้เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยเท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5859/2530 โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ทำสัญญาเช่าห้องพิพาทจากจำเลยเป็นหนังสือและสัญญาเช่าอยู่ที่จำเลย จำเลยให้การว่าไม่มีหลักฐานการเช่าเป็นหนังสือสัญญาเช่าไม่มีอยู่ที่จำเลย เช่นนี้ โจทก์นำ พยานบุคคลเข้าสืบว่าโจทก์จำเลยทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา93 (2) ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 94
2) มีการกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่าพยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน มาตรา 94 วรรคสอง 
แต่ว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ มิให้ใช้บังคับในกรณีที่บัญญัติไว้ใน อนุมาตรา (2) แห่งมาตรา 93 และมิให้ถือว่าเป็นการตัดสิทธิคู่ความในอันที่จะกล่าวอ้างและนำพยานบุคคลมาสืบประกอบข้ออ้างว่า พยานเอกสารที่แสดงนั้นเป็นเอกสารปลอม หรือไม่ถูกต้องทั้งหมดหรือแต่บางส่วน...
ฎีกา 1000/2494 โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกเงินกู้ตามสัญญากู้ จำเลยให้การว่าสัญญารายนี้ไม่สมบูรณ์เพราะจำเลยมิได้กู้เงินเอาเงินของโจทก์ไปเลย หากแต่จำเลยถูกหลอกลวงให้พิมพ์ลายมือลงในสัญญา ดังนี้จำเลยย่อมมีสิทธินำพยานบุคคลเข้าสืบประกอบข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.แพ่งมาตรา 94
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 295/2508 ในกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้ว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาจำนองนั้น ย่อมเป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญาขายฝากเกิดจากเจตนาลวงของคู่กรณี โดยคู่กรณีมีเจตนาที่แท้จริงจะทำสัญญาจำนองกันหากเป็นความจริงดังจำเลยอ้าง สัญญาขายฝากย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 118 ฉะนั้น การที่จำเลยขอสืบว่าสัญญาขายฝากเป็นโมฆะจึงมิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหากแต่เป็นการนำสืบหักล้างว่าสัญญาขายฝากไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด จำเลยจึงนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2321/2518 ทำสัญญากู้ใหม่รวมดอกเบี้ยที่ค้างมาก่อนรวมเข้าด้วยเป็นดอกเบี้ยเกินอัตรา สัญญากู้นี้เป็นโมฆะเฉพาะดอกเบี้ยศาลให้เสียดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่ง ต่อปีในต้นเงินตั้งแต่วันฟ้องขู่ให้ทำสัญญาค้ำประกันโดยกล่าวว่า ถ้าไม่ทำจะฟ้องริบทรัพย์สมบัติให้หมด เป็นการบอกว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ทำให้สัญญา ไม่สมบูรณ์ คำให้การว่าจำเลยลงชื่อในสัญญากู้โดยไม่ทราบจำนวนเงินที่โจทก์กรอกลงเกินจำนวน 5,000 บาท ที่ค้างจริง เป็นการต่อสู้ว่าการกู้และค้ำประกันไม่สมบูรณ์ แม้ในสัญญากู้ระบุว่ารับเงินไป 13,500 บาทจำเลยก็นำสืบหักล้างเอกสารได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2519 โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามจำนวนในสัญญากู้ 8,000 บาท แม้โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในคำฟ้องว่าจำเลยได้รับเงินจำนวนนี้ไปแล้ว แต่พอเข้าใจตามคำฟ้องนั้นได้ว่าจำเลยได้รับเงินตามสัญญากู้แล้ว จำเลยให้การว่ากู้ไปเพียง 300 บาทแต่โจทก์ตกลงให้มารับเงินกู้ไปจนครบจำนวนที่ลงไว้ในสัญญากู้ จำเลยได้รับเงินกู้ไปหลายครั้ง เป็นเงินรวมทั้งหมด 3,300 บาท เห็นได้ว่าจำเลยสู้คดีว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่สมบูรณ์ เพราะโจทก์ส่งมอบเงินตามสัญญากู้ให้จำเลยไม่ครบจำนวนที่ตกลงกัน จำเลยมีสิทธินำสืบตามข้อต่อสู้ของ จำเลยได้ว่าได้รับเงินจากโจทก์ไปแล้วเป็นจำนวนเท่าใด ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารอันเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 วรรคท้าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3125/2527 จำเลยทำสัญญากู้ให้โจทก์ไว้ 60,000 บาท แต่จำเลยให้การว่ากู้เพียง 30,000 บาท แต่ทำสัญญากู้ดังกล่าวเพราะโจทก์ต้องการจะผูกมัดจำเลยให้เลี้ยงดูน้องสาวโจทก์เป็นการกล่าวอ้างว่าสัญญากู้ที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นสัญญากู้ที่ไม่สมบูรณ์ เพราะโจทก์ส่งมอบเงินให้จำเลยไม่ครบถ้วนตามสัญญา จำเลยมีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบได้ตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง

3) กรณีคู่ความตีความหมายในเอกสารผิด
ม.94 วรรคท้าย ...สัญญาหรือหนี้อย่างอื่นที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น ไม่สมบูรณ์หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งตีความหมายผิด เป็นการนำสืบอธิบายความหมายของเอกสารที่ไม่ชัดแจ้ง ขัดแย้งกันเอง หรือเป็นเอกสารที่มีหลายความหมาย หรือเป็นการสืบเพื่อให้ทราบความหมายที่แท้จริงของเอกสาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่2346/2519 คดีพิพาทกันเรื่องซื้อขายที่ดิน โจทก์บรรยายฟ้องระบุเนื้อที่อาณาเขตกว้างยาวไว้ชัดเจน แต่ลงเลขโฉนดผิดโดยเข้าใจผิด ต่อมาโจทก์จึงขอแก้เลขที่โฉนดใหม่ ดังนี้เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อย ที่ดินที่พิพาทไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงมิใช่เป็นการฟ้องใหม่หรือตั้งประเด็นใหม่ โจทก์เพิ่งทราบข้อผิดพลาดนี้ในวันชี้สองสถาน จึงขอแก้ฟ้องได้หลังจากวันชี้สองสถานสัญญาซื้อขายที่ดินที่ระบุเลขโฉนดและเนื้อที่ดิน พร้อมทั้งลักษณะเขตที่ที่จะแบ่งขายไว้ด้วย แต่ปรากฏว่าโฉนดเลขที่นั้นมีเนื้อที่ไม่ตรงกับในสัญญา สัญญานั้นจึงมีข้อความกำกวมไม่ชัดเจนโจทก์ย่อมนำสืบพยานบุคคล เพื่อแสดงถึงเจตนาอันแท้จริงได้ เป็นการนำสืบเพื่อแปลความหมายของเอกสาร ไม่ใช่เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสาร
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1601/2520 เมื่อสัญญากู้ระบุเรื่องดอกเบี้ยไว้แต่เพียงร้อยละห้าไม่ชัดเจนว่าร้อยละห้าสลึงหรือร้อยละห้าบาท โจทก์มีสิทธิสืบพยานบุคคลได้ว่าดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญากู้นั้นร้อยละห้าสลึงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการสืบอธิบายความหมายของสัญญากู้ มิใช่เป็นการสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญากู้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4380/2540 สัญญาจะซื้อขายมีข้อความว่า ส่วนเงินที่เหลืออีก 1,850,000 บาท จะจ่ายในเมื่อทางธนาคารอนุมัติให้ ไม่ได้กำหนดให้เห็นต่อไปว่าหากธนาคารไม่อนุมัติให้จะมีผลเป็นอย่างไร การที่โจทก์นำสืบพยานบุคคลว่ามีข้อตกลงด้วยวาจาว่า หากธนาคารอนุมัติเงินกู้แก่โจทก์ไม่ครบ 1,850,000 บาท ให้ถือว่าสัญญาจะซื้อขายเลิกกัน โจทก์ย่อมมีสิทธินำสืบได้ เพราะเป็นการนำสืบอธิบายข้อความในเอกสารไม่ใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติมตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)
5. ข้อสังเกตเกี่ยวกับการนำพยานบุคคลแทนพยานเอกสารมีอะไรบ้าง
1. หลักการห้ามนำสืบพยานบุคคลแทนพยานเอกสาร ตาม ม.94 ไม่นำไปใช้บังคับในคดีอาญา
2. การนำสืบพยานบุคคลประกอบเอกสาร คือสืบทั้งพยานเอกสารและพยานบุคคลเพื่อยืนยันข้อความในเอกสารให้หนักแน่น ไม่ต้องห้ามตาม ม.94
3. กรณีสัญญาจะซื้อจะขาย ที่กฎหมายให้คู่กรณีเลือกได้หลายวิธี เช่น วางมัดจำ ชำระหนี้บางส่วน มีหลักฐานเป็นหนังสือ หากคู่กรณีเลือกการวางมัดจำ หรือการชำระหนี้บางส่วน ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 94
4. สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือไม่ต้องห้ามสืบพยานบุคคล
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2582/2535 จำเลยนำสืบว่าสัญญาที่แท้จริงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ไม่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่า (ฉบับหลัง) ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
5. มาตรา 94 ห้ามเฉพาะนำพยานบุคคลมาสืบแก้ไขเอกสาร แต่หากเป็นการนำเอกสารมาสืบไม่ต้องห้าม


No comments:

Post a Comment