Friday 8 February 2013

การถอนฟ้องคดีอาญา



     ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.35 กำหนดไว้ว่า "คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมี คำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาต ให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด ถ้าคำร้องนั้นได้ยื่น ในภายหลังเมื่อจำเลยให้การแก้คดีแล้ว ให้ถามจำเลยว่าจะคัดค้าน หรือไม่ แล้วให้ศาลจดคำแถลงของจำเลยไว้ ในกรณีที่จำเลยคัดค้าน การถอนฟ้อง ให้ศาลยกคำร้องขอถอนฟ้องนั้นเสีย


     เมื่อได้ยื่นฟ้องต่อศาลแล้ว คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล โดยหลักแล้ว การจะถอนฟ้องคดีอาญาได้ต้องยื่นเป็นคำร้องขอถอนฟ้องต่อศาล เว้นเสียแต่ว่า คดีอาญานั้นหากเป็นคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายได้ขอถอนคำร้องทุกข์ต่อพนังงานสอบสวน ก็ถือว่าผู้เสียหายมีเจตนาต้องการจะถอนฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวด้วยเช่นกัน พนักงานอัยการก็ต้องยื่นคำร้องถอนฟ้องต่อศาลให้ เพราะเมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ในคดีความผิดต่อส่วนตัว มีผลทำให้คดีสิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปโดยผลของ ป.อ.มาตรา 39 "สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปดั่งต่อไปนี้ (2) ในคดีความผิดต่อส่วนตัว เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือยอมความกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย"


     เว้นแต่ในคดีความผิดอันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัว ที่ปรากฎว่าคำร้องขอถอนฟ้องนั้นได้ยื่นก่อนจำเลยยื่นคำให้การแล้ว ศาลไม่ต้องถามจำเลยว่าจะคัดค้านหรือไม่ หรือแม้จำเลยจะคัดค้านก็ไม่มีผลให้ศาลต้องยกคำร้องขอถอนฟ้อง เพราะถือว่าการถอนฟ้องก่อนที่จำเลยจะยื่นคำให้การไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของจำเลย แต่ถ้าจำเลยยื่นคำให้การแล้ว การที่จะอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้โดยไม่ถามจำเลย อาจเป็นไปได้ว่าโจทก์เห็นคำฟ้องของตนบกพร่อง เมื่อฟ้องต่อไปอาจทำคดีอาญานั้นเสียหายได้ จึงต้องการถอนฟ้อง กฎหมายจึงกำหนดให้ศาลถามจำเลยเสียก่อนว่าจะคัดค้านหรือไม่)





เมื่อได้ถอนฟ้องคดีอาญาแล้ว ผลของการถอนฟ้องจะเป็นประการใดเป็นไปตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 36 "คดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้ว จะนำมาฟ้อง อีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้ 

(1) ถ้าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไป การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิผู้เสียหาย ที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่  
(2) ถ้าพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไปโดย มิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย การถอนนั้นไม่ตัด สิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่  
(3) ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาไว้แล้ว ได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย การถอนนี้ไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ เว้นแต่ คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว" 







     พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวัยและนายรุ่นเป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายนายเต๋าผู้เสียหาย ก่อนสืบพยานโจทก์นัดแรก นายเต๋ายื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายเต๋าเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ ระหว่างดำเนินคดี นายเต๋าไม่พอใจแนวทางการดำเนินคดีของพนักงานอัยการโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมโดยระบุว่ามีความเห็นหลายอย่างไม่ตรงกับความเห็นของพนักงานอัยการโจทก์ หากโจทก์ร่วมดำเนินคดีนี้ต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่คดี ศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้นายเต๋าถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วม ต่อมาภายหลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จสิ้นก่อนที่ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดี นายเต๋าได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง โดยระบุว่าเพื่อจะใช้สิทธิชั้นอุทธรณ์ฎีกาต่อไป



     การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นายเต๋าเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ในครั้งแรก แสดงว่าศาลชั้นต้นฟังว่านายเต๋าเป็นผู้เสียหาย สามารถดำเนินคดีแก่จำเลยโดยอาศัยสิทธิตามฟ้องของพนักงานอัยการได้ เสมือนนายเต๋าเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ดังนั้น การที่นายเต๋าขอถอนตัวจากการเป็นโจทก์ร่วมระบุว่าหากดำเนินคดีต่อไปอาจเกิดความเสียหายแก่คดี โดยไม่ปรากฏว่านายเต๋าจะไปดำเนินการอะไรอีก ถือได้ว่านายเต๋าไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่จำเลยอีกต่อไป มีผลเท่ากับเป็นการถอนฟ้องในส่วนของโจทก์ร่วมโดยเด็ดขาดแล้ว ดังนั้น นายเต๋าจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในครั้งหลังอีกไม่ได้ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 (คำพิพากษาฎีกา 7241/2544)







1 comment:

  1. อยากทราบว่า
    หลังจากผู้ต้องหาทำการขอให้มีการรื้อฟื้นพิจารณาคดีใหม่ โจทย์สามารถยอมความได้หรือไม่

    ReplyDelete