Monday, 20 January 2014

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ (Offence of Cheating against Creditors)



ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
(Offence of Cheating against Creditors)

ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้เป็นคนละเรื่องกับความผิดฐานฉ้อโกง เพราะความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ไม่มีการหลอกลวง แต่เป็นการทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้ทั้หมดหรือแต่บางส่วน  ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้มี 2 ฐานความผิด คือ ความผิดฐานโ กงทรัพย์ที่จำนำไว้ ตาม ม. 349 และความผิดฐานย้ายทรัพย์หรือแกล้งเป็นหนี้ ตาม ม.350

ความผิดฐานโกงทรัพย์ที่จำนำไว้ ม. 349

ผู้ใดเอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น ถ้าได้กระทำ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

องค์ประกอบภายนอก
เอาไปเสีย ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า หรือทำให้ไร้ประโยชน์
          ทรัพย์อันตนจำนำไว้แก่ผู้อื่น
องค์ประกอบภายใน
เจตนาธรรมดา
มูลเหตุชักจูงใจ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้รับจำนำ

ความหมายของ จำนำ
มาตรา 747 อันว่าจำนำนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้



คำพิพากษาฎีกาที่ 490/2502 กู้เงินกันและในสัญญากู้มีข้อความด้วยว่า จำเลยได้นำโคมาจำนำไว้ แต่ปรากฏว่า เมื่อทำสัญญากู้กันแล้ว ผู้ให้กู้ (โจทก์) ได้ยินยอมมอบโคกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลย เช่นนี้ ถือว่าจำเลยหาได้มอบโคไว้เป็นประกันการชำระหนี้ตามความหมายในลักษณะจำนำไม่  จึงขาดองค์ความผิดข้อสำคัญ ตาม มาตรา 349

คำพิพากษาฎีกาที่ 650/2510 จำเลยนำสร้อยคอของตนไว้กับผู้เสียหาย เพื่อเอาเงินมาเล่นการพนัน แล้วจำเลยกระชากสร้อยเส้นนั้นไปจากคอผู้เสียหาย ไม่เป็นผิดฐานลักทรัพย์ เพราะสร้อยเส้นนั้นเป็นของจำเลยเองและเมื่อไม่เป็นการลักทรัพย์ก็ไม่อาจเป็นผิดฐานชิงทรัพย์ได้ การกระทำของจำเลยดังกล่าวแล้วนั้น อาจเป็นผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 349 แต่โจทก์ฟ้องว่าชิงทรัพย์ จะลงโทษฐานโกงเจ้าหนี้ไม่ได้ เพราะถือว่าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องในข้อสารสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรค2 คดีต้องยกฟ้องโดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่คดีอาญา ส่งสำเนาฎีกาให้จำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาก็พิจารณาพิพากษาต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 201


ความผิดฐานย้านทรัพย์และโอนและความผิดฐานแกล้งให้ตนเป็นหนี้

มาตรา 350 ผู้ใดเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้ผู้อื่นซึ่งทรัพย์ใดก็ดี แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใดอันไม่เป็นความจริงก็ดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความผิดที่ 1 “ฐานย้ายทรัพย์”

องค์ประกอบภายนอก
ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้ผู้อื่น
ทรัพย์ใดๆ
องค์ประกอบภายใน
เจตนาธรรมดา
มูลเหตุชักจูงใจ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้

ต้องมีหนี้ระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้ และเจ้าหนี้สามารถเรียกร้องสิทธิทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 93/2507 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น เมื่อมีคำพิพากษาว่าโจทก์และจำเลยมิได้เป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ต่อกันแล้ว ย่อมไม่อาจมีการกระทำความผิดฐานนี้ได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 2533/2523 จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในเขตโฉนดที่ดินของโจทก์ โดยการครอบครองปรปักษ์ใช้ยันโจทก์ซึ่งได้ที่ดินมาโดยเจ้าของเดิมยกให้ แต่จำเลยจะฟ้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการโอนใส่ชื่อจำเลย และจัดการแบ่งแยกให้จำเลยไม่ได้  และศาลจะพิพากษาให้โจทก์จัดการแบ่งแยกให้แก่จำเลยไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่มีหน้าที่อย่างใดในทางนิติกรรมที่จะต้องโอนให้จำเลย เป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้มีชื่อของตนในโฉนดต่อไป

ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้

ความผิดฐานนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้

          หากเจ้าหนี้ไม่ได้จะใช้สิทธิ หรือกำลังใช้สิทธิแล้วลูกหนี้โอนทรัพย์ไป ก็ไม่มีความผิด
คำพิพากษาฎีกาที่ 392/2506 (สบฎ เน 38) ฟ้องไม่ปรากฏว่า จำเลยโอนทรัพย์ “โดยรู้ว่าเจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาล” ไม่ครบองค์ประกอบความผิด
 ไม่ได้ถึงเฉพาะหนี้เงินเท่านั้น การโอนขายที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขาย (ฎ.755/5818) หนี้เงินกู้เกินกว่าสองพันขึ้นไปไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือ(ฎ.1406/2512) ลูกหนี้เอาที่ดินไปจำนองไว้กับเจ้าหนี้ หลังจากนั้นเอาที่ดินไปขายให้คนอื่น ผิดโกงเจ้าหนี้หรือไม่ (ฎ.1074/2511) เอาที่ดินไปให้เช่าเป็นเวลา 20 ปี
          เอาที่ดินไปจำนอง

ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้นหรือโอนไปให้ผู้อื่น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 143/2517 คำว่า 'ผู้อื่นตามมาตรา 350 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น หมายความถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้ จำเลยที่ 1 เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์ร่วม แล้วจำเลยที่ 1โอนที่ดินของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ผู้มิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์ร่วม ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นผู้อื่น ตามความหมายแห่งมาตรา 350 นั้นแล้ว

คำถาม
ลูกหนี้สมคบกับบุคคลภายนอก ทำนิติกรรมโอนขายรถยนต์ของตนไปให้บุคคลภายนอก เพื่อไม่ให้ถูกเจ้าหนี้ที่กำลังฟ้องคดียึดไปชำระหนี้ โดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอื่น
ลูกหนี้มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่

บุคคลภายนอกที่สมคบกับลูกหนี้ในการโอนขายรถยนต์ จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่ จะเป็นตัวการร่วม ผู้สนับสนุน หรือไม่มีความผิดฐานใดเลย???

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 563/2523 ลูกหนี้โอนที่ดินของตนให้แก่ผู้อื่นเพื่อมิให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งเจ้าหนี้ได้ฟ้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้ว ลูกหนี้ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ส่วนผู้อื่นที่รับโอนทรัพย์นั้นจะมีความผิดตาม มาตรา 350 ก็ต่อเมื่อรู้ว่าลูกหนี้มีหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ใช้สิทธิทางศาลแล้ว ถ้าไม่รู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็ไม่มีความผิด ตามมาตรา 350

ความผิดที่ 2  “ความผิดฐานแกล้งให้ตนเป็นหนี้”

องค์ประกอบภายนอก
 แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำนวนใด
อันไม่เป็นความจริงก็ดี
องค์ประกอบภายใน
เจตนาธรรมดา
มูลเหตุชักจูงใจ เพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือของผู้อื่นได้รับชำระหนี้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1134/2537 ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อมิให้เจ้าหนี้ของตนหรือผู้อื่นได้รับชำระหนี้ จำเลยเป็นหนี้ธนาคารเป็นเงิน 696,252.59 บาท โดยจำเลยเอาที่ดินจำนองเป็นประกันธนาคารเจ้าหนี้ได้เร่งรัดให้จำเลยชำระหนี้จำเลยจึงได้ขายที่ดินที่จำนองให้แก่ ก. ไปในราคา 700,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ไม่ต่ำกว่าความเป็นจริง แล้วนำเงินนั้นชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้อันเป็นการชำระหนี้ที่จำเลยมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องปฏิบัติ แม้จะเป็นการขายภายหลังจากจำเลยทราบว่าเป็นหนี้โจทก์ตามคำพิพากษาแล้วก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยขายที่ดินโดยเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้



คำถาม
ลูกหนี้สมคบกับบุคคลภายนอก แกล้งทำสัญญาเงินกู้ขึ้นมาฉบับหนึ่งว่าลูกหนี้เป็นหนี้บุคคลภายนอกอยู่ 1 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ถูกเจ้าหนี้ที่กำลังฟ้องคดียึดไปชำระหนี้ โดยไม่ปรากฏว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินอื่น
ลูกหนี้มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้หรือไม่
บุคคลภายนอกที่สมคบกับลูกหนี้ จะมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ด้วยหรือไม่ จะเป็นตัวการร่วม ผู้สนับสนุน หรือไม่มีความผิดฐานใดเลย???
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1474/2517 จำเลยที่ 1 แกล้งให้ตนเองเป็นหนี้จำเลยที่ 2 อันไม่เป็นความจริง ย่อมมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ ส่วนจำเลยที่ 2 ผู้รับสมอ้างเป็นเจ้าหนี้ ถือว่าได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย

มาตรา 351 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้


No comments:

Post a Comment