ความผิดฐานฉ้อโกง
Offence of Cheating and Fraud
Overview
- ความผิดฐานฉ้อโกง เป็นการหลอกลวงให้หลงเชื่อ โดยไม่มีการใช้กำลังประทุษร้าย
- แตกต่างจากความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นการหลอกลวงให้ได้มาซึ่งทรัพย์ เจ้าของหรือผู้ครอบครองส่งมอบให้ โดยเข้าใจผิด ไม่ได้เป็นการเอาไปโดยใช้กลฉ้อฉลเหมือนลักทรัพย์
- วัตถุแห่งการกระทำในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้มีหลายประเภท เช่น กรรมสิทธ์ในทรัพย์สิน และเอกสารสิทธิ
มาตรา 341 ผู้ใด*โดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความ อันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอก ลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามหรือ ทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สามทำ ถอนหรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ ปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อสังเกต ความผิดฐานนี้ร่างโดย เอาคำว่า โดยทุจริตมาก่อนการกระทำ เพื่อเน้นให้เห็นว่า ต้องมีเจตนาที่ทุจริตมาแต่ต้น ก่อนหลอกลวง
1. หลอกลวงด้วย
ก) แสดงข้อความอันเป็นเท็จ
ข) ปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอก
2. ผู้อื่น
3. โดยการหลอกลวงดังว่านั้น
ก) ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม
ข) ทำให้ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
องค์ประกอบภายใน
เจตนาธรรมดา มูลเหตุชัดจูงใจ โดยทุจริต
การหลอกลวง ได้แก่ การทำให้เข้าใจผิด
1. แสดงข้อความอันเป็นเท็จ (The assertion of a falsehood) หมายถึง ข้อความที่แสดงนั้นไม่ตรงกับความจริงในขณะที่แสดง จึงต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่แล้ว ก่อนหรือขณะแสดง ดังนั้นข้อเท็จจริงในอนาคตหรือการทำนายเหตุการณ์ในอนาคตจึงไม่ใช่การแสดงข้อความอันเป็นเท็จ เพราะไม่มีความจริงอยู่
2. ปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้ง (The concealment of the fact which should be revealed ) หมายถึง การไม่บอกความจริง ซึ่งตนมีหน้าที่ต้องเปิดเผย มิฉะนั้นผู้อื่นจะหลงผิดได้ เช่น คนขายของเก่าและใหม่ปนกัน ไม่ยอมบอกลูกค้าว่าอันไหนเก่า อันไหนใหม่ ทำให้ลูกค้าเข้าใจผิด ต้องการซื้อของใหม่ แต่ได้ของเก่าไป
ซึ่งการหลอกลวงนั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สิน
หมายถึง การหลอกลวงดังกล่าวนั้นทำให้ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจาก ผู้ถูกหลอกหรือบุคคลที่สาม แต่หากได้ทรัพย์ไป ไม่ใช่เพราะถูกหลอก เช่น สงสารหรือเพื่อเป็นหลักฐานในการจับกุม ก็ไม่ผิดฐานฉ้อโกง
ทำให้ผู้ถูกหลอกลวง หรือบุคคลที่สามทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ
เป็นเอกสารสิทธิ ม.1 (9) "เอกสารสิทธิ" หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ ซึ่่งจะเป็นเอกสารสิทธิของใครก็ได้
องค์ประกอบภายใน
ผู้กระทำจะต้องกระทำโดยเจตนาธรรมดา และมีมูลเหตุชักจูงใจโดยทุจริต
เช่น หากแดงเอาพระเครื่องของตนเองที่ได้รับมรดกตกทอดมา เอาไปขายให้นายดำ โดยบอกกับนายดำว่าเป็นพระของแท้ โดยที่นายแดงไม่ทราบมาก่อนเลยว่าพระเครื่ององค์นั้นเป็นของเลียนแบบ เช่นนี้การกระทำของแดงขาดเจตนาในการกระทำผิด เพราะไม่รู้ว่าการกระทำของตนเป็นการหลอกลวง(เข้าใจว่าเป็นของพระแท้)
ส่วนมูลเหตุชักจูงใจ "โดยทุจริต" ผู้กระทำจะต้องหลอกลวง เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นเช่นเดียวกับความผิดฐานลักทรัพย์
และหากความผิดฐานฉ้อโกงนี้หากได้กระทำต่อ "ประชาชน" หรือ Public จะมีความผิดตาม ม.343 ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ซึ่งเป็นความผิดฐานฉ้อโกงที่ยอมความไม่ได้
ประชาชน (Public) ได้แก่ บุคคลทั่วไป ไม่จำกัด ไม่ว่าจะจำนวนเท่าใด
เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 709/2523 คำว่า ประชาชน หมายถึงบรรดาพลเมือง ซึ่งมีความหมายถึงชาวเมืองทั้งหลาย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งหกหลอกลวงโจทก์และประชาชนที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ประมาณ 30 คน จึงเป็นการหลอกลวงเฉพาะบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 4 ซึ่งมีจำนวนมากเท่านั้น มิใช่เป็นการหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไป ฟ้องโจทก์ไม่มีมูลตาม ป.อ.ม.343
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
No comments:
Post a Comment