Monday, 3 February 2014

ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร




ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร

Overview:
          ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร เป็นความผิดที่มุ่งคุ้มครองความมีอยู่และความถูกต้องของเนื้อความในเอกสาร เพื่อให้เอกสารที่ได้มีการทำขึ้น มีความน่าเชื่อถือ(Reliable) สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินกิจการต่างๆ ได้

ความผิดเกี่ยวกับเอกสารมีความผิดหลักๆ ที่สำคัญอยู่ ดังนี้

1. ความผิดฐานปลอมเอกสาร
2. ความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร
3. ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม

ความผิดฐานปลอมเอกสาร ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า เอกสารมีความหมายว่าอย่างไร ซึ่งในบทนิยาม ในประมวลกฎหมายอาญา ม.1 ได้มีการให้บทนิยามความหมายที่จะต้องทำความเข้าใจก่อน ดังนี้

          (7) "เอกสาร" หมายความว่า กระดาษหรือวัตถุอื่นใดซึ่งได้ทำให้ ปรากฏความหมายด้วยตัวอักษร ตัวเลข ผัง หรือแผนแบบอย่างอื่นจะเป็นโดย วิธีพิมพ์ ถ่ายภาพหรือวิธีอื่นอันเป็นหลักฐานแห่งความหมายนั้น
          (8) "เอกสารราชการ" หมายความว่า เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำ ขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ และให้หมายความรวมถึงสำเนาเอกสารนั้น ๆ ที่เจ้า พนักงานได้รับรองในหน้าที่ด้วย
         (9) "เอกสารสิทธิ" หมายความว่า เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ

          ดังนั้นเมื่อเจอ คำว่าเอกสาร เอกสารราชการ และเอกสารสิทธิ ต้องตีความตามบทนิยามใน ม.1 เท่านั้น

ใน ม. 264 ความผิดฐานปลอมเอกสาร (ทั่วไป) ก็ต้องแยกพิจารณาออกเป็น 2 ส่วนคือ

          1. การปลอมเอกสารโดย ปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใดๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร

          2. การปลอมเอกสารโดยการกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่น

         ซึ่งการปลอมทั้ง 2 วิธี มีผลในทางกฎหมายเป็นการปลอมเอกสารเช่นเดียวกัน

          และหากการปลอมเอกสารดังกล่าว เป็นการปลอมเอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการ ก็จะมีความผิดตาม ม.265 ซึ่งมีโทษสูงขึ้น และหากเป็นการปลอมเอกสารบางประเภทที่มีความสำคัญสูง เช่น เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ พินัยกรรม ฯลฯ ก็จะมีความผิดตาม ม.266 ซึ่งมีโทษหนักกว่าการปลอมเอกสารทั่วไปขึ้นไปอีก

ความผิดแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ ม.267

          ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าความผิดฐานนี้ เป็นคนละกรณีกับความผิดฐานแจ้งความเท็จ ใน ม.137 ซึ่งเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน กฎหมายมุ่งคุ้มครองเจ้าพนักงาน แต่ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกสารที่เจ้าพนักงานทำขึ้น ซึ่งจะต้องมีความถูกต้องและเชื่อถือได้

มีประเด็นที่น่าสนใจและชวนให้เกิดความสับสนกับผู้เรียน ดังนี้

          หากแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานแล้ว แต่เจ้าพนักงานไม่เชื่อเลยไม่ได้จดลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ผู้แจ้งความเท็จย่อมมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ม.137 แล้ว แม้เจ้าพนักงานจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ความผิดก็สำเร็จแล้ว

          แต่ในความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสาร ผู้กระทำจะมีความผิดฐานนี้หรือไม่ เป็นการพยายามกระทำความผิดแล้วหรือยัง

          หากพิจารณาเฉพาะตัวผู้กระทำเมื่อได้แจ้งความเท็จไปแล้วก็ไม่มีอะไรที่จะต้องกระทำอีกเป็น Last Act ของผู้กระทำอันเป็นการลงมือกระทำความผิดแล้ว เป็นพยายามกระทำความผิด

          แต่ถ้าหากพิจารณาให้ดีดีจะเห็นว่า ความผิดฐานนี้ องค์ประกอบความผิดคือ เจ้าพนักงานได้จดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ ถ้าเจ้าพนักงานยังไม่ได้จดก็ยังไม่ครบองค์ประกอบความผิด ใช่หรือไม่

ส่วนความผิดที่สำคัญสุดท้าย คือ ความผิดฐานใช้หรืออ้างเอกสารปลอม

          ประเด็นที่สำคัญ คือ จะมีความผิดฐานนี้ได้ต้องเป็นการใช้หรืออ้างเอกสารปลอมเท่านั้น ซึ่งก็จะเดี่ยวเนื่องกับการวินิจฉัยว่าเอกสารดังกล่าว เป็นเอกสารปลอมไหมนั่นเอง

          และประเด็นสำคัญอีกประการ คือ กรณีของผู้ใช้หรืออ้างเอกสาร เป็นผู้ปลอมเอกสารขึ้นมาเอง ความรับผิดและโทษตามกฎหมายก็จะเป็นไปตาม ม.268 วรรค 2

          ผมเขียนสรุปกว้างๆ เพื่อให้นิสิตได้เห็นภาพรวม ส่วนรายละเอียดนิสิตควรศึกษาเพิ่มเติมในหนังสือและตำรา และศึกษาแนวคำวินิจฉัยของศาลเพิ่มเติม





.....................................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

No comments:

Post a Comment