ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น
ควรเป็นความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้จริงหรือ?
มีปัญหาที่ถกเถียงกันมาตลอดนะครับ ว่าความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญาได้กำหนดให้เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว
ทั้งๆหากพิจารณาดู ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้นบ่อยมาก มีความร้ายแรงและมีผลกระทบต่อผู้เสียหายมากมาย ทั้งร่างกาย ชื่อเสียง สังคม และที่กระทบมากที่สุด คือ จิตใจ
ในเมื่อมันร้ายแรงและส่งผลกระทบมากมายขนาดนี้ เหตุใด ไม่กำหนดให้ความผิดฐานนี้เป็นความผิดอันยอมความไม่ได้ เป็นอาญาแผ่นดินไปเสียเลย เพื่อจะให้ผู้กระทำความผิดมันถูกจับกุมดำเนินคดีให้หมด โดยที่ไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ก่อนจึงจะดำเนินคดีได้
ก่อนอื่นขออธิบายให้เห็นความแตกต่างของความผิดทั้งสองประเภทก่อนนะครับ
1) ความผิดอันยอมความได้
ความผิดอันยอมความได้ หรือความผิดต่อส่วนตัว หมายถึง คดีอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิด อาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ อนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน เป็นต้น
ความผิดอาญาอันยอมความได้นี้เจ้าพนักงานของรัฐจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้ เสียหายร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสียก่อน และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด สำหรับคดีความผิดอันยอมความได้นี้ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้ ซึ่งก็จะเป็นผลให้คดีดังกล่าวระงับไป
2) ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้
ความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ หรือความผิดอาญาแผ่นดิน หมายถึง คดีอาญาประเภทที่นอกจากจะทำให้เกิดความ เสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย ความผิดอาญานอกจากที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความ ได้แล้ว จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนอื่น วางเพลิงเผาทรัพย์ ขับรถประมาท เป็นต้น ซึ่งความผิดอาญาแผ่นดินนี้ แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็ไม่ทำให้คดีระงับ เจ้าพนักงานของรัฐก็สามารถดำเนิน คดีกับผู้กระทำผิดต่อไปได้ โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องร้องทุกข์ก่อนแต่อย่างใด
แล้วอะไรคือความแตกต่างของความผิดทั้งสองประเภท
1. ความผิดอันยอมความได้นั้นส่งผลเสียหายต่อเอกชน ไม่ได้ส่งผลเสียหายต่อสังคมโดยรวม
2. ความผิดอันยอมความได้ ถือความประสงค์ของผู้เสียหายเป็นหลักในการดำเนินคดี หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดี เจ้าพนักงานก็จะดำเนินคดีไม่ได้ ส่วนความผิดอาญาแผ่นดิน ไม่ต้องอาศัยความประสงค์ของผู้เสียหาย
ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา สมควรเป็นความผิดอันยอมความได้ เพราะเหตุใด
1. ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เป็นความผิดที่มุ่งคุ้มครองเสรีภาพทางเพศ ที่จะไม่มีใครมาบังคับให้ใครกระทำชำเราใครได้ เป็นเรื่องของความยินยอม หากยินยอมไม่มีความผิด แต่หากฝืนใจกันเมื่อไหร่จะมีความผิดทันที
เสรีภาพทางเพศจึงเป็นเรื่องของเอกชนแต่ละคน ไม่ใช่เรื่องของสังคมส่วนร่วม การละเมิดเสรีภาพของเอกชน จึงไม่กระทบต่อสังคมโดยรวม
2. ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรานั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ผู้เสียหาย ดังนั้นควรให้ผู้เสียหายเป็นผู้ตัดสินใจว่า จะประสงค์จะดำเนินคดีตามกฎหมายหรือไม่ เพราะผู้เสียหายบางคนอาจไม่ประสงค์จะดำเนินคดี เพราะกลัวเสียชื่อเสียงไม่อยากเป็นเรื่องราว เป็นข่าว กฎหมายจึงให้ ผู้เสียเป็นคนตัดสินใจ
บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่ควรจะเข้าไปตัดสินใจแทน แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ เพราะเหตุว่า ไม่อาจเข้าใจถึงความต้องการของผู้เสียหายได้และเป็นเสรีภาพของผู้เสียหาย
3. การที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ เปิดช่องให้ผู้เสียหายสามารถไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมกับผู้กระทำความผิดได้ เพราะผู้กระทำความผิดฐานนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดผู้เสียหาย เช่น เป็นสามีภรรยา เป็นแฟนหรือคนรัก เป็นเพื่อน เป็นคนในครอบครัว เป็นญาติกัน
หากผู้เสียหายได้รับการเยียวยาหรือมีการไกล่เกลี่ยจนผู้เสียหายพอใจ ไม่ประสงค์จะดำเนินคดี ก็สามารถทำได้ แต่หากผู้เสียหายไม่ต้องการไกล่เกลี่ยหรือยอมความ ประสงค์จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยที่บุคคลอื่นๆ ไม่สามารถมาบังคับให้ยอมได้
หากว่ามีการแก้ไขให้ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ยอมความไม่ได้ จะมีผลอย่างไรต่อผู้เสียหาย
1. ผู้เสียหายต้องเข้าสู่กระบวนยุติธรรมทางอาญาในฐานะผู้เสียหาย ต้องมีการสอบปากคำ ตรวจร่างกาย เก็บพยานหลัก เป็นพยานในชั้่นศาล ตรงนี้ถ้าผู้เสียหายประสงค์จะดำเนินคดี คงไม่มีปัญหา แต่สำหรับผู้เสียหายที่ไม่ประสงค์จะเข้าสู่กระบวนยุติธรรม แต่ก็ต้องฝืนใจไปให้ปากคำ ไปให้ตรวจร่างกาย ไปเป็นพยานในชั้นศาล
2. หากผู้กระทำความผิดกับผู้เสียหายเป็นคนใกล้ชิดกัน เช่น สามีภรรยาซึ่งอาจจะไม่ได้สมรสกันตามกฎหมาย หรือเป็นแฟน เพื่อน คนในครอบครัว ญาติ ต่อมามีการไกล่เกลี่ยหรือยอมความกัน ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อไป จะไม่มีช่องให้เกิดการยุติการดำเนินคดีได้เลย
3. ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนยุติธรรม เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานสอบสวน ต้องดำเนินคดีอาญาอย่างไม่มีทางเลือก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อผู้เสียหายที่ประสงค์จะดำเนินคดีอยู่แล้ว เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่สารถไกล่เกลี่ย ซึ่งสามารถป้องกัน เจ้าหน้าที่ที่กระทำโดยไม่ชอบ เช่น พยายามไกล่เกลี่ยให้ผู่เสียหายยอมความเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิด
ขอสรุป เป็นความเห็นส่วนตัวในเรื่องนะครับ
ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ควรให้ที่เขาเสียหายเป็นคนตัดสินใจ ว่าเขาประสงค์จะดำเนินคดีหรือไม่ หากเขาไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต้องเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เกิดขึ้นเพราะถูกผู้เสียหายข่มขู่ หรือกลัวที่จะเข้าสู่กระบวนยุติธรรมเพราะกลัวว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนยุติธรรมจะไม่เก็บเป็นความลับ มีการทำข่าวให้เสียหาย
หากเขาประสงค์จะดำเนินคดี ก็ต้องมีกระบวนยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ เก็บความลับได้ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องไม่กระทำการอันเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำผิด เช่น พยายามไกล่เกลี่ยช่วยผู้กระทำผิด และให้ความคุ้มครองผู้เสียหายจากการข่มขู
ความเห็นต่างคือความหลากหลาย และความหลากหลายมันทำให้โลกเรามีสีสัน
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
No comments:
Post a Comment