ความรับผิดในทางอาญา โดยหลักแล้วเป็นความรับผิดในการกระทำของตนเอง การกระทำอันเป็นความผิดอันนั้นนำมาซึ่งความรับผิดและต้องรับโทษ ซึ่งเราแยกพิจารณาผู้กระทำความผิดในทางอาญาออกเป็น 3 กรณีด้วยกัน
1. ผู้กระทำความผิดด้วยตนเอง ความรับผิดเกิดจากการกระทำของตนเอง เช่น เป็นคนเอาขวดตีหัวคนอื่น ขับรถชนคนอื่นเอง
2. ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ความรับผิดเกิดจากการใช้บุคคลที่ไม่มีเจตนากระทำความผิดเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด
3. ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด ความรับผิดกรณีนี้เกิดจากการเจตนาเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ในการกระทำความผิด เมื่อมีส่วนร่วมก็ต้องสมควรได้รับโทษ
แล้วในทางอาญาความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นมีได้หรือไม่
ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น (Vicarious liability) เป็นทฤษฎีความรับผิดในทางละเมิด ที่ทำให้เกิดความรับผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการทำละเมิดของบุคคลอื่น โดยที่ผู้ต้องรับผิดร่วมนั้นไม่มีความผิดเลย แต่เพราะฐานะหรือความสัมพันธ์บางอย่าง เช่น เป็นนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างทำละเมิดในทางการที่จ้างนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้าง โดยที่นายจ้างไม่ต้องจงใจหรือประมาทใดๆเลย
ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น (Vicarious liability) ก็ปรากฎในกฎหมายอาญาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก ป.อ.มาตรา 213 ถ้าสมาชิกอั่งยี่หรือซ่องโจรคนหนึ่งคนใดได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอุ่งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิกอั่งยี่หรือซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิด หรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงกระทำความผิดและบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการ หรือมีตำแหน่งหน้าที่ในอั่งยี่หรือซ่องโจรนั้น ต้องระวางโทษ...
จะเห็นว่ามาตรานี้ผู้ที่ต้องรับผิดไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย ไม่ได้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน แต่ต้องรับผิดเพราะฐานะบางอย่างเช่น เป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือเป็นสมาชิก
เมื่อมีสมาชิกอื่นในอั่งยี่หรือซ่องโจรได้ไปกระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั่งยี่หรือซ่องโจร คนที่ไม่ได้กระทำก็ต้องรับผิดกับเขาด้วย เป็นความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น
.............................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
No comments:
Post a Comment