เป็นเรื่องที่โต้เถียงกันมานานแล้วนะครับ ว่าการลงโทษทางอาญานั้นควรพิจารณาจากส่วนที่อยู่ภายในจิตใจของผู้กระทำผิด หรือควรพิจารณาตามความเสียหายที่เกิดขึ้น
ฝ่ายอัตวิสัย (Subjective) เห็นว่าการลงโทษทางอาญาควรพิจารณาถึงจิตใจของผู้กระทำเป็นสำคัญว่าเขามีเจตนาเช่นไร หากเจตนาเขาชั่วร้ายมากก็ต้องลงโทษให้หนักตามเจตนา แต่หากจิตใจเขาชั่วร้ายน้อยก็ลงโทษเบา หากการกระทำของเขาประมาทโดยรู้ตัวก็ควรลงโทษหนักกว่าประมาทโดยพลั้งเผลอ โดยที่การลงโทษหนักเบาไม่ได้ขึ้นอยู่ว่าผลของการกระทำนั้นจะเป็นเช่นไร ไม่ว่าผลของการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ แต่เมื่อจิตใจเขาชั่วร้ายแล้วก็สมควรถูกลงโทษ
ฝ่ายภววิสัย (Objective) เห็นว่าการลงโทษบุคคลควรพิจารณาถึงความเสียหายที่ผู้กระทำได้ก่อให้เกิดขึ้น หากเขาได้กระทำให้เกิดความเสียหายมากเขาก็ต้องถูกลงโทษหนัก แต่หากความเสียหายเกิดขึ้นน้อยหรือไม่เกิดขึ้นเลยเขาก็ไม่ควรถูกลงโทษ แนวความคิดของฝ่ายนี้ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ การลงโทษฐานพยายามกระทำความผิด (Attempt) ที่ลงโทษผู้ที่พยายามกระทำความผิดเพียงสองในสามส่วนของโทษฐานนั้น ๆ ทั้งที่หากพิจารณาแล้วเราจะเห็นว่า เจตนาของการพยายามกระทำความผิดเป็นเช่นเดียวกับความผิดสำเร็จ
อิทธิผลของแนวคิดฝ่ายภววิสัยที่มีต่อกฎหมายอาญา มีอยู่หลายประการ เช่น
1. การลงโทษฐานพยายามกระทำความผิดไม่เท่ากับความผิดสำเร็จ ถึงแม้ว่าเจตนาของผู้ที่พยายามกระทำความผิดสำเร็จ กับผู้ที่ได้พยายามกระทำความผิดนั้นจะเป็นเจตนาเช่นเดียวกัน และได้แสดงออกถึงเจตนาอันชั่วร้ายของผู้กระทำแล้ว แต่กฎหมายก็พิจารณาโทษทางอาญาจากผลของการกระทำด้วย หากผลของการกระทำนั้นสำเร็จก็ลงโทษตามโทษที่กำหนดไว้ในความผิดฐานนั้น แต่หากผลไม่สำเร็จก็รับโทษเพียงสองในสามเท่านั้น
2. การรับโทษหนักขึ้นในกรณีที่ผลของการกระทำความผิดเกินเจตนา หรือเรียกว่า เงื่อนไขการลงโทษทางภววิสัย เช่น เจตนาทำร้ายแต่ผลคือผู้ถูกทำร้ายถึงตาย ตาม ป.อ.มาตรา 290 ผู้กระทำก็ต้องรับโทษหนักขึ้นตามผลที่เกิดขึ้นนั้นด้วย หรือชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย แม้ผู้กระทำจะไม่ได้มีเจตนาให้มีคนตายเลยก็ตาม ก็ต้องรับโทษหนักขึ้นตามผลที่เกิดขึ้นนั้นด้วย
3. การลงโทษในความผิดที่กระทำโดยประมาท หากผลคือความเสียหายไม่เกิดขึ้นผู้กระทำไม่มีความผิดเลย แต่ถ้าหากความเสียหายเกิดขึ้น โทษของผู้ที่กระทำโดยประมาทจะหนักหรือเบาขึ้นอยู่กับผลที่เกิดขึ้น เช่น กรณีขับรถโดยประมาทแต่ไม่ชนใครเลยหรือชนแต่ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ เลยความรับผิดของผู้กระทำไม่มี เพราะความเสียหายไม่เกิด แต่หากเกิดความเสียหายขึ้น เช่น ได้รับบาดเจ็บ ได้รับบาดเจ็บสาหัส หรือถึงแก่ความตาย ผู้ที่กระทำโดยประมาทจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามความเสียหายที่เกิดขึ้น แม้จะกระทำด้วยความประมาทเท่า ๆ กัน
จะเห็นว่า การลงโทษตามแนวความคิดของฝ่ายภววิสัย (Objective) มีอิทธิต่อกฎหมายอาญาของไทยเรามาก ด้วยเหตุผลหลายๆประการ เหตุผลประการหนึ่งคือ การลงโทษตามผลที่เกิดขึ้นนั้นค่อนข้างจะพิสูจน์ง่าย เพราะมีความเป็นภววิสัยสามารถมองเห็นความเสียหายได้ เช่น บาดเจ็บหรือตาย แต่หากลงโทษตามแนวความคิดของฝ่ายอัตวิสัย (Subjective) เป็นเรื่องที่พิสูจน์ค่อนข้างยาก เพราะเป็นการลงโทษตามองค์ประกอบที่อยู่ภายในจิตใจ ดังนั้นการลงโทษจึงอาจทำไม่ได้ง่ายและใช้เวลาในการพิสูจน์ค่อนข้างนาน
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
No comments:
Post a Comment