Monday, 30 March 2015

เจตนา (Intention)

บทที่ 6
เจตนา (Intention)

เมื่อพิจารณาการกระทำตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญา โครงสร้างข้อที่ 1 การกระทำครบองค์ประกอบความผิด ซึ่งแยกพิจารณาออกเป็นสองส่วน คือ การกระทำครบองค์ประกอบภายนอก และการกระทำครบองค์ประกอบภายใน เมื่อการกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายนอกแล้ว (มีผู้กระทำ การกระทำ และวัตถุแห่งการกระทำ) สิ่งที่เราจะพิจารณาต่อไป คือ การกระทำนั้นครบองค์ประกอบภายในความผิดฐานนั้นหรือไม่ ซึ่งความผิดอาญาแต่ละฐานความผิดล้วนต้องมีองค์ประกอบภายใน เว้นแต่ความผิดที่เป็นความรับผิดเสร็จเด็ดขาด (Strict liability) ซึ่งต้องรับผิดแม้ไม่เจตนาและประมาท

องค์ประกอบภายใน (Internal elements)
          หมายถึงองค์ประกอบที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก เพราะเป็นส่วนที่อยู่ในจิตใจของผู้กระทำ ซึ่งเราจะพิจารณาส่วนที่อยู่ในจิตใจนี้ได้จากการกระทำ โดยอาศัยหลักการที่ว่าการกระทำเป็นสิ่งที่บกบอกจิตใจของผู้กระทำ หรือ กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา โดยที่องค์ประกอบภายในนั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท คือ เจตนาและประมาท
          ตาม มาตรา 59 วรรคแรก “บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาเว้นแต่จะได้กระทำความโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมาย บัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา” ดังนั้นบุคคลจะต้องรับผิดทางอาญาก็ต่อเมื่อ
          1. กระทำโดยเจตนา
          2. กระทำความโดยประมาท
          3. กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา หรือความรับผิดเด็ดขาด (strict liability) ซึ่งไม่ใช่องค์ประกอบภายใน เพราะไม่ใช่ส่วนที่อยู่ภายในจิตใจ

ตัวอย่างของความรับผิดทางอาญาของบุคคล
          1. ความรับผิดจากการกระทำโดยเจตนา เช่น ความผิดฐานฆ่าคานตายโดยเจตนาตาม ม. 288 ความผิดฐานลักทรัพย์ ตาม ม. 334 ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผุ้อื่น ตาม ม. 276
          2. ความรับผิดจากการกระทำประมาท เช่น ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตาม ม. 291 ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผุ้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตาม ม. 300
          3. ความรับผิดจากการกระทำที่ไม่มีเจตนาและไม่ได้ประมาท เช่น ความผิดฐานทำให้รางระบายน้ำ ร่องน้ำหรือท่อระบายขัดข้อง ตาม ม. 375 ความผิดฐานให้เกิดปฏิกูลแก่น้ำในบ่อ สระหรือที่ขังน้ำ ตาม ม. 380
ประเภทของเจตนา
          1. เจตนาตามความเป็นจริง (intention)
          2. เจตนาโดยผลของกฎหมาย (transfer intention)[1]
1. เจตนาตามความเป็นจริง ตาม ม.59 วรรค 2 และวรรค 3
          วรรค 2 “กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
          วรรค 3 “ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริง อันเป็นองค์ประกอบของความผิดจะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้”
          ดังนั้นการกระทำโดยเจตนา (Intent) จึงหมายถึง กระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำและรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ซึ่งความหมายของเจตนานั้นประกอบไปด้วย 2 ส่วน
          1. ส่วนที่ต้องรู้ ซึ่งหมายถึง ต้องรู้สำนึกในการกระทำและต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด
          2. ส่วนความต้องการ คือ ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นได้ว่าผลอันนั้นอาจเกิดขึ้นได้
          ตัวอย่างที่ 1 แดงใช้ปืนยิงดำที่หน้าอกของดำ จนดำถึงแก่ความตาย แดงกระทำโดยเจตนาหรือไม่ การจะพิจารณาว่าแดงมีเจตนาฆ่าดำหรือไม่ ต้องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ต้องรู้ และส่วนความต้องการ ดังนั้นต้องพิจารณาว่า
          แดงรู้สำนึกในการกระทำของตนและรู้ถึงข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ และแดงมีความต้องการ คือ ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลให้ดำตายหรือไม่
         
          1) ส่วนที่รู้สำนึกในการกระทำและต้องรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด
          การกระทำโดยเจตนา ผู้กระทำต้องรู้สำนึกในการกระทำเสมอ เพราะถ้าไม่รู้สำนึกก็ย่อมไม่มีการกระทำ
          ส่วนรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด เช่น
          ตัวอย่างที่ 1 แดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหวๆ เข้าใจว่าเป็นหมูป่า จึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้น ปรากฏว่าไม่ใช่หมูป่า แต่เป็นนายดำที่มาขุดหน่อไม้ นายดำถูกยิงตาย นายแดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่ ต้องพิจารณาดูว่านายแดงรู้ว่าเป็นการกระทำต่อคนหรือไม่ เพราะองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าคนโดยเจตนานั้น คือ การกระทำต่อผู้อื่น ดังนั้นหากไม่รู้ว่าเป็นการกระทำต่อคนแล้ว นายแดงก็ไม่มีเจตนา
          ตัวอย่างที่ 2 แดงต้องการฆ่าดำ จึงขึ้นไปบนบ้านของดำ แต่เจอขาวได้ถามว่านายดำอยู่ไหน ขาวรู้ว่าแดงจะมาฆ่าดำแต่ไม่อยากให้ดำตาย จึงหลอกว่าดำตายแล้ว แต่ความจริงดำยังไม่ตายนอนคลุมโปงอยู่ นายแดงเข้าใจว่าดำตายแล้วตามที่นายขาวบอก แต่ยังโกรธนายดำอยู่ จึงคิดว่าไม่ได้ยิงคนยิงศพก็ยังดี จึงเอาปืนยิงไปยังดำที่นอนคลุมโปงอยู่ จนนายดำถึงแก่ความตาย แดงมีเจตนาฆ่าหรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่าผู้กระทำนั้นรู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำต่อผู้อื่นหรือไม่
          ตัวอย่างที่ 3 แดงเป็นแพทย์ต้องการฆ่าดำซึ่งเป็นคนไข้ จึงหลอกให้ขาวซึ่งเป็นพยาบาลให้เอายาไปให้นายดำกิน โดยบอกว่าเป็นยาบำรุงแต่ความจริงแล้วเป็นยาพิษ ซึ่งนางพยาบาลขาวไม่ทราบว่าเป็นยาพิษ จึงเอายานั้นไปให้นายดำกิน จนถึงแก่ความตาย
          แดงและขาวมีเจตนาฆ่านายดำหรือไม่นั้นก็ต้องพิจาณาว่านายแดงและนางขาวนั้นรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดหรือไม่ แดงและขาวรู้หรือไม่ว่าการกระทำของตนเป็นการฆ่าผู้อื่น จะเห็นได้ว่านายแดงนั้นรู้ข้อเท็จจริงแน่นอน เพราะรู้ว่าเป็นยาพิษ ส่วนนางขาวนั้นไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นยาพิษ ขาวจึงไม่มีเจตนาฆ่า
          แต่หากปรากฏว่าหากขาวใช้ความระมัดระวังเพียงเล็กน้อยก็จะทราบได้ว่ายาดังกล่าวเป็นยาพิษ ขาวก็ยังไม่มีเจตนาอยู่ดี เพราะไม่รู้ว่าเป็นยาพิษ ขาวไม่มีเจตนาฆ่าดำ แต่ขาวประมาท จะมีความรับผิดหรือไม่ ก็พิจารณาตาม ม.62 วรรค 2 "ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่ง มาตรา 59 หรือความสำคัญผิดว่ามีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิดฐานกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าการกระทำ นั้นผู้กระทำจะต้องรับโทษแม้กระทำโดยประมาท" ดังนั้นขาวจะต้องรับผิดหรือไม่ ก็พิจารณาตาม ม. 62 วรรค 2 ว่าการที่ขาวไม่รู้นั้นขาวประมาทหรือไม่ หากขาวประมาทและมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ต้องรับผิด ขาวก็ต้องรับผิดตามมาตรานั้น ๆ
          แดงเข้าไปล่าสัตว์ในป่า เห็นพุ่มไม้ไหวๆ แต่แดงไม่ดูให้ดีเสียก่อน เข้าใจว่าเป็นหมูป่า จึงเอาปืนยิงไปยังพุ่มไม้นั้นด้วยความประมาท ปรากฏว่าไม่ใช่หมูป่า แต่เป็นนายดำที่มาขุดหาหน่อไม้ นายดำถูกยิงตาย นายแดงมีความรับผิดหรือไม่ จะเห็นว่ากรณีนี้นายแดงไม่มีเจตนาฆ่านายดำ เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงว่ากระทำต่อคน แต่เข้าใจว่ากระทำต่อสัตว์ แต่การที่นายแดงไม่รู้นั้นเกิดขึ้นจากความประมาทหรือไม่ หากเกิดขึ้นโดยประมาท มีกฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดหรือไม่
          การรู้ข้อเท็จจริงนี้รวมถึงข้อเท็จจริงที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำจะต้องรู้ด้วย หากไม่รู้ก็ถือว่าไม่มีเจตนา เมื่อไม่มีเจตนาเขาก็ไม่ต้องรับโทษหนักขึ้น
          แดงต้องการฆ่าดำ จึงไปดักซุ่มเพื่อจะยิงดำอยู่หน้าปากซอยที่ดำเดินเข้าออกประจำ เมื่อตกตอนกลางคืนนายแดงเห็นคนเดินมาเข้าใจว่าเป็นนายดำ จึงเอาปืนยิงตาย แต่ความจริงไม่ใช่นายดำ เป็นนายขาวซึ่งเป็นบิดาของนายแดง นายขาวถูกนายแดงยิงตาย ดังนี้ นายแดงมีความผิดฐานใด ระหว่างความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตาม ม. 288 หรือมีความผิดฐานยฆ่าบุพการี ตาม ม. 289 (1) ซึ่งโทษหนักกว่า ให้พิจารณาตาม ม.62 วรรคท้าย “บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จนั้น”
          ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงว่ากระทำต่อบุพการีนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น นายแดงก็ต้องรู้ด้วย หากนายแดงไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นบุพการีของตน ก็ถือว่าไม่มีเจตนาฆ่าบุพการี มีแต่เจตนาฆ่าคนธรรมดา นายแดงจึงไม่ต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ม. 62 วรรคท้าย
          หากผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดถือว่าผู้กระทำไม่มีเจตนา ซึ่งสรุปได้ดังนี้
          1) หากผู้กระทำไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกความผิด ก็ถือว่าผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำความผิดนั้น กล่าวโดยสรุปคือ “ไม่รู้ก็ไม่มีเจตนา”
          2) หากผู้กระทำความผิดรู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอกความผิด ก็ถือว่าผู้นั้นมีเจตนากระทำความผิดเท่านั้น กล่าวคือ “รู้เท่าใด มีเจตนาเท่านั้น” เช่น ไม่รู้ว่าเป็นการกระทำต่อบุพการีแต่รู่ว่าเป็นการกระทำต่อคนธรรมดา
          3) หลักที่ว่า “รู้เท่าใด ก็มีเจตนาเท่านั้น” ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “ไม่เกินความจริง” เช่น แดงต้องการฆ่านายดำซึ่งเป็นบิดา เห็นคนเดินมาจึงเอาปืนยิงโดยเข้าใจว่าเป็นนายดำ แต่ความจริงเป็นนายขาว ซึ่งเป็นเพื่อนของนายแดงจนขาวตาย
          คำพิพากษาฎีกา 504 / 2483 เด็กวิ่งสวนมาในเวลามืด จำเลยเข้าใจว่าเป็นสุนัข ได้ใช้มีดแทงถูกหัวเข่าของเด็กตายจำเลยไม่มีเจตนาฆ่า และไม่มีเจตนาทำร้าย จึงไม่ผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา หรือฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาฆ่า
          คำพิพากษาฎีกา 148/2513 ตำรวจเข้าค้นตัวจำเลยในที่เปลี่ยว โดยไม่ได้แต่งเครื่องแบบหรือแสดงหลักฐานว่าเป็นตำรวจกระทำการตามหน้าที่ และต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้จักกัน แม้จำเลยจะต่อสู้ชกต่อยขัดขวางไม่ให้ตำรวจค้นเอาเงินหรือทรัพย์สินของจำเลยไปก็ไม่มีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน
          คำพิพากษาฎีกา 693/2526 รถยนต์ของ ส.ซึ่งถูกคนร้ายลักไป อ.เคยนำมาซ่อมท่อไอเสียกับจำเลย และแสดงตนว่าเป็นเจ้าของรถ จำเลยขอยืมรถจาก อ.ไปใช้ แม้รถมีป้ายวงกลมแสดงการเสียภาษีประจำปีและป้ายทะเบียนรถยนต์ซึ่งต่างเป็นเอกสารราชการปลอม เมื่อจำเลยไม่รูความจริงดังกล่าว จำเลยก็ไม่มีความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมตาม ป.อ.ม.268

          2) ส่วนความต้องการ การจะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาหรือไม่ ผู้กระทำต้อง “ประสงค์ต่อผล” ของการกระทำของตนนั้น หรือมิฉะนั้นต้อง “เล็งเห็นผล”ของการกระทำของตนนั้น หากไม่ได้ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลของกากระทำ ก็ถือว่าไม่มีเจตนา ซึ่งสามารถแยกพิจารณาออกเป็น 2 ประเภท คือ
                    1. เจตนาประสงค์ต่อผล หรือเจตนาโดยตรง (Direct Intention)
                    2. เจตนาเล็งเห็นผล หรือเจตนาโดยอ้อม (Indirect Intention)

1. เจตนาประสงค์ต่อผล
          หมายถึง การที่ผู้กระทำมุ่งหมายจะให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา หากผลเกิดขึ้นตามความมุ่งหมายก็เป็นความผิดสำเร็จ แต่หากผลไม่เกิดตามที่มุ่งหมาย ก็เป็นความผิดเพียงฐานพยายามตามมาตรา 80 หรือมาตรา 81 แล้วแต่กรณี[2]
          ความประสงค์ต่อผลกับความคาดหมายเป็นคนละกรณีกัน ถ้าผู้กระทำประสงค์ต่อผล แม้คาดหมายว่าจะไม่เกิดผลก็ถือว่าประสงค์ต่อผลแล้ว เช่น แดงใช้ปืนยิงดำ โดยประสงค์ให้กระสุนถูกดำตาย แม้แดงคาดหมายว่าคงยิงไม่ถูกเพราะ ระยะห่างเกินความแม่นยำของปืน หากปรากฏว่ากระสุนปืนที่แดงยิงไปถูกดำตาย ถือว่าแดงประสงค์ต่อผลแล้ว
          การกระทำอันเดียวอาจก่อให้เกิดผลหลายประการ ซึ่งผลบางประการอาจเป็นผลที่ผู้กระทำประสงค์ ผลบางประการไม่ได้ประสงค์ เช่น แดงชกหน้าดำ ใบหน้าดำแตก แต่แว่นตาของดำก็แตกด้วย
          หากผู้กระทำประสงค์ให้ผลเกิดขึ้น และผลก็เกิดตามความประสงค์ต้องถือว่าเป็นเจตนาประสงค์ต่อผล แม้จะเกิดจากวิธีที่ผิดแปลกไปตามความตั้งใจของประกระทำก็ตาม เช่นแดงต้องการฆ่าดำ จึงเอาปืนเล็งยิงดำ แต่ก่อนที่แดงจะลั่นไกปืน ดำตกใจตายเสียก่อน

2. เจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผล
          หมายถึง เจตนาที่ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล ไม่ได้กระทำโดยมุ่งหมายต่อผลอย่าใดอย่างหนึ่ง แต่จากการกระทำนั้นผู้กระทำเล็งเห็น (คาดหมาย) ได้ว่าผลจะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน เท่าที่จิตใจของบุคคลในฐานะเช่นนั้นจะเล็งเห็นได้
          เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1697/2522 จำเลยขับรถยนต์หลอกหญิงว่าจะพาไปส่งบ้าน เมื่อรถผ่านบ้านกลับเร่งรถเร็วขึ้น พวกของจำเลยท้ายรถดึงมือหญิงไว้มิให้ลงจากรถ หญิงจะหลุดจากมือพวกจำเลย หรือพวกจำเลยปล่อยมือหญิงก็ตาม หญิงตกจากรถตาย ไม่ใช่พยายามโดดลงจากรถเอง เป็นการที่เล็งเห็นผลร้ายได้อย่างแน่ชัด เป็นเจตนาฆ่าหญิงนั้น ฟ้องว่าผลักตกจากรถ ได้ความดังกล่าวต่างจากฟ้อง ก็ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ จำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ลงโทษได้
          คำพิพากษาฎีกา 2255/2522 บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถบรรทุก 10 ล้อ ทางไม่ให้รถที่ตามมาแซง เมื่อเห็นรถโดยสารสวนมาใกล้จำเลยหยุดรถทันทีและหักหัวรถมาทางซ้าย รถที่ตามมาต้องหักหลบไปทางขวาและชนกับรถที่สวนมา เป็นเหตุให้คนตาย ทั้งนี้โดยจำเลยเล็งเห็นผลเจตนาให้คนตาย หรือประมาทเป็นเหตุให้คนตาย ดังนี้ ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ได้ความว่าจำเลยขับรถปิดทางและหยุดรถทันทีดังฟ้อง จำเลยเล็งเห็นผลว่าจะเกิดเหตุคนตายเป็นฆ่าคนโดยเจตนา ตาม ป.อ. ม.288
          คำพิพากษาฎีกา 1155/2520 จ.ปลูกข้าวในหนองสาธารณะ จ.อ้างสิทธิครอบครองในหนองไม่ได้ จำเลยมีสิทธิใช้หนองได้เท่าเทียมกับ จ.แต่จำเลยนำเรือเข้าไปตัดใบบัว ซึ่งปนอยู่กับต้นข้าวทำให้ต้นข้าวเสียหายเป็นการกระทำโดยเล็งเห็นผลตาม ม.59 จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. ม.359
          คำพิพากษาฎีกา 817/2510 จำเลยใช้ปืนลูกซองสั้นยิงตรงไปที่กลางวงการพนัน ซึ่งมี ผู้เสียหายกับพวกนั่งห่างกลางวงการพนันประมาณ 1 ศอกโดยจำเลยรู้ว่าปืน นั้นมีอำนาจ ทำให้กระสุนปืนแผ่กระจายไปในรัศมีประมาณ 0.5 เมตรจำเลย ย่อมจะรู้หรือควรจะรู้ได้ว่า กระสุนปืนที่ยิงไปนั้นอาจถูกผู้เสียหายหรือบุคคลที่ อยู่ในรัศมีของกระสุนปืนที่จำเลยยิงได้ ฉะนั้น เมื่อกระสุนปืนไปถูกผู้เสียหาย จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ถือว่าจำเลยกระทำโดยเจตนา

ข้อสังเกตเกี่ยวกับเจตนาประสงค์ต่อผลกับเล็งเห็นผล
          1. การกระทำอันหนึ่ง หากมีผลเกิดขึ้นอันเดียว ผลนั้นจะต้องเป็นผลของการกระทำโดยเจตนาประสงค์ต่อผล หรือเล็งเห็นผล อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
          2. แต่หากมีผลเกิดขึ้นหลายอัน ผลหนึ่งอาจเป็นผลของการกระทำโดยประสงค์ต่อผล ส่วนอีกผลหนึ่งอาจะเป็นผลของการกระทำโดยเจตนาเล็งเห็นผลก็ได้ เช่น แดงชกดำไปที่ใบหน้าของดำครั้งหนึ่ง ผลของการชกปรากฏว่าดำใบหน้าแตกและแว่นตาดำที่สวมอยู่ก็แตกด้วย
เจตนาพิเศษ Special Intention
          เจตนาพิเศษ หรือเรียกอีกอย่างว่า มูลเหตุชักจูงใจ เป็นองค์ประกอบภายในของความผิดอาญาบางฐานความผิด ความผิดอาญาที่ต้องมีเจตนาพิเศษ ส่วนใหญ่กฎหมายจะบัญญัติไว้ เช่น โดยทุจริต เพื่อสนองความใคร เพื่อเรียกค่าไถ่ เป็นต้น
ความผิดฐานลักทรัพย์
          มาตรา 334 “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวม อยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวาง โทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท”
          ผู้กระทำต้องมีเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุชักจูงใจ คือ การเอาทรัพย์นั้นต้องเอาไปโดยโดยทุจริตด้วย จึงจะมีความผิดฐานลักทรัพย์
          ข้อสังเกตเกี่ยวกับเจตนาพิเศษ
          1) เจตนาพิเศษเป็นองค์ประกอบภายในเพิ่มเติมจากเจตนาธรรมดา
          2) เจตนาพิเศษแตกต่างจากเจตนาธรรมดา เพราะเจตนาธรรมดามีทั้งประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ส่วนเจตนาธรรมดานั้น กฎหมายใช้คำว่า “เพื่อ...” หรือ “โดย...” ผู้กระทำจะต้องมีเจตนามุ่งโดยตรงเพื่อการนั้นโดยเฉพาะ

2. เจตนาโดยผลของกฎหมาย
          เจตนาโดยผลของกฎหมาย หรือ เจตนาโอน (Transfer Intention) ไม่ใช่เจตนาตามความเป็นจริง (ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล) แต่เป็นเจตนาโดยกฎหมายกำหนด
          มาตรา 60 ผู้ใดเจตนาที่จะกระทำต่อบุคคลหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดแก่อีกบุคคลหนึ่งโดยพลาดไป ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำโดยเจตนาแก่บุคคลซึ่งได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้น แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้ายมิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น
          หลักเกณฑ์ของการกระทำโดยพลาด
          1. ต้องมีผู้ถูกกระทำ 2 ฝ่ายขึ้นไป ฝ่ายแรก คือ ผู้เสียหายคนแรกที่ผู้กระทำมุ่งหมายกระทำต่อโดยเจตนาประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผล ส่วนฝ่ายที่สอง คือ ผู้เสียหายอีกคนหนึ่งที่ได้รับผลร้ายจากการกระทำนั้นด้วย
          ตัวอย่างที่ 1 แดงต้องการฆ่าดำ ดำหลบกระสุนทัน กระสุนไม่ถูกดำ แต่พลาดไปถูกขาวตาย จะเห็นได้ว่าดำคือผู้เสียหายคนแรกที่ผู้กระทำมุ่งหมายกระทำต่อ ส่วนขาวเป็นผู้เสียหายฝ่ายที่สอง ซึ่งเป็นผู้ที่แดงไม่ได้มุ่งหมายกระทำต่อแต่เป็นผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำของแดง เจตนาที่แดงมีต่อดำนั้นโอนมายังขาวผู้ได้รับผลร้ายจากการกระทำด้วย
          ตัวอย่างที่ 2 แดงต้องการฆ่าดำ ดำหลบกระสุนทัน กระสุนไม่ถูกดำ แต่พลาดไปถูกรถยนต์ของดำที่จอดไว้แตก จะเห็นได้ว่าตามตัวอย่างนี้มีผู้เสียหายเพียงฝ่ายเดียว คือ นายดำ จึงไม่ใช่กรกระทำโดยพลาดตาม ม.60
          2. การกระทำโดยผู้กระทำต้องไม่ประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลต่อผู้ที่ได้รับผลร้ายด้วย หากเล็งเห็นผลก็เป็นเจตนาตาม ม.59 มิใช่เจตนาโดยพลาด
          ตัวอย่างที่ 1 แดงต้องการฆ่าดำจึงเอาปืนยิงดำแต่ดำหลบกระสุนทันกระสุนปืนแฉลบไปถูกขาวตาย และกระเด้งกลับมาโดนดำตาย ความรับผิดของแดงต่อขาวเป็นเรื่องของการกระทำโดยพลาดเจตนาที่แดงมีต่อดำโอนมายังขาวด้วย แดงจึงมีความผิดฐานฆ่าขาวตายโดยเจตนา ส่วนกรณีที่กระสุนปืนยังกระเด้งกลับมาโดนดำตายนั้นไม่ใช่เรื่องพลาดตาม ม.60 เพราะดำเป็นบุคคลที่แดงประสงค์ให้ตายอยู่แล้วเป็นเจตนาตาม ม.59
          ตัวอย่างที่ 2 แดงต้องการฆ่าดำแต่ดำยืนอยู่ติดกับขาว แดงใช้ปืนลูกซองยิงไปที่ดำ กระสุนปืนถูกดำตาย และยังถูกขาวตายด้วย ความรับผิดของแดงต่อดำนั้นเป็นเรื่องเจตนาประสงค์ต่อผล เพราะประสงค์ให้ดำตาย ส่วนเจตนาต่อขาวนั้นเป็นเรื่องของการเล็งเห็นผลได้ว่าการใช้ปืนลูกซองซึ่งกระสุนกระจายอาจไปโดนนายขาวได้ เป็นเจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผล ไม่ใช่กระทำโดยพลาดตาม ม.60
          ตัวอย่างที่ 3 นายม่วงมีเรื่องทะเลาะกับนายเขียวที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง นายม่วงเจตนาจะขู่ให้นายเขียวกลัวจึงเอาปืนลูกซองยิงไปที่ขวดเหล้าที่อยู่บนโต๊ะที่นายเขียวนั่งอยู่ กระสุนปืนถูกขวดเหล้าแตก และกระสุนยังกระจายไปถูกนายเขียวตาย และยังแฉลบไปโดนนายแสดที่อยู่โต๊ะถัดไปได้รับบาดเจ็บ และยังเลยไปถูกกระจกรถของนายฟ้าเจ้าของร้านแตกอีกด้วย จะเห็นว่าการกระทำของนายม่วงต่อนายเขียวที่เอาปืนลูกซองยิงไปที่ขวดเหล้านั้นย่อมเล็งเห็นได้ว่ากระสุนปืนอาจไปถูกนายเขียวด้วย ดังนั้นจึงเป็นเจตนาฆ่าโดยเล็งเห็นผลตาม ม. 59 และกระสุนยังแฉลบไปโดนนายแสดที่อยู่โต๊ะถัดไปได้รับบาดเจ็บ จะเห็นได้ว่าการกระสุนไปถูกนายแสดนั้นนายเขียวไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดผลต่อนายแสด แต่ตามมาตรา 60 ให้ถือว่านายเขียวมีเจตนาต่อนายแสดผู้ได้รับผลร้ายด้วย
          3. การที่ผลไปเกิดแก่ผู้ที่ได้รับผลร้ายนั้น ไม่ต้องคำนึงว่าผู้กระทำจะประมาทหรือไม่ กล่าวคือ แม้ประมาทหรือไม่ประมาทก็ตาม ถือว่าผู้กระทำมีเจตนาต่อผู้ที่ได้รับ     
          ตัวอย่างที่ 1 แดงใช้ปืนยิงดำโดยไม่ระมัดระวัง กระสุนไม่ถูกดำ แต่กระสุนไปถูกขาวที่อยู่ข้างหลังดำจนถึงแก่ความตาย หากแดงดูให้ดีเสียก่อนว่าขาวยืนอยู่หลังดำ ขาวก็คงไม่โดยยิงตาย จะเห็นว่าเมื่อแดงเจตนาฆ่าดำโดยใช้ปืนยิงดำแล้วผลร้ายไปเกิดขึ้นกับขาวโดยพลาดไป ถือว่าแดงมีเจตนาฆ่าขาวด้วย เป็นเจตนาที่โอนมาตามผลร้ายที่เกิดขึ้น โดยไม่ต้องพิจารณาเลยว่าแดงจะประมาทหรือไม่ เพราะถือว่าแดงมีเจตนาฆ่าขาว
          กรณีที่ผู้รับผลร้ายจากการกระทำโดยพลาดมีความสัมพันธ์กับผู้กระทำหรือเพราะฐานะความสัมพันธ์ เช่น ผู้ที่ได้รับผลร้ายเป็นบุพการีของผู้กระทำผิด หรือผู้ที่ได้รับผลร้ายเป็นเจ้าพนักงานผู้กระทำตามหน้าที่ ซึ่งตาม ม. 60 ตอนท้ายได้บัญญัติไว้ว่า “...แต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคล หรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้ายมิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับเพื่อลงโทษผู้กระทำให้หนักขึ้น”
          ตัวอย่างที่ 1 แดงต้องการฆ่าดำ จึงเอาปืนยิงดำ กระสุนปืนถูกดำตาย และยังไปถูกขาวซึ่งเป็นบิดาของแดงตายด้วย ความรับผิดของแดงต่อดำเป็นเรื่องของเจตนาฆ่าโดยประสงค์ต่อผล เพราะแดงประสงค์ให้ดำตาย ส่วนความรับผิดของแดงต่อขาวซึ่งเป็นบิดานั้นเป็นเรืองของเจตนาโดยผลของกฎหมาย โดยถือว่าเจตนาที่แดงมีต่อดำได้โอนมายังขาวผู้รับผลร้ายจากการกระทำของแดงด้วย ดังนั้นแดงจึงมีเจตนาฆ่าขาวด้วย แต่โดยผลของ มาตรา 60 ตอนท้ายที่กำหนดไม่ให้ลงโทษหนักขึ้นเพราะฐานะของบุคคลหรือเพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้กระทำกับบุคคลที่ได้รับผลร้ายมาใช้บังคับ ดังนั้นแม้นายขาวผู้ที่ได้รับผลร้ายในกรณีนี้จะเป็นบุพการีของนายแดง นายแดงก็ไม่ต้องรับโทษตาม ม. 289 (1) ฐานฆ่าบุพการีซึ่งโทษหนักกว่าความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
          ตัวอย่างที่ 2 แดงต้องการฆ่าดำซึ่งเป็นบิดาของตน จึงเอาปืนยิงดำ กระสุนปืนถูกดำตาย และยังไปถูกขาวตายอีกด้วย ความรับผิดของแดงต่อดำนั้นเป็นเรื่องของเจตนาประสงค์ต่อผล นายแดงมีความผิดฐานฆ่าบุพการีตาม ม. 289 (1) เพราะรู้ข้อเท็จจริงว่ากระทำต่อบุพการี[3] ส่วนความรับผิดของแดงต่อขาวนั้นเป็นเรื่องของเจตนาโดยผลของกฎหมาย โดยถือว่าเจตนาที่แดงมีต่อดำโอนมายังขาวด้วย ดังนั้นจึงถือว่าแดงมีเจตนาฆ่าขาวด้วย แดงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ตาม ม. 288 เท่านั้น ไม่ผิดฐานฆ่าบุพการีเนื่องจากความจริงขาวไม่ใช่บุพการีของแดง
          ตัวอย่างที่ 3 แดงต้องการฆ่าดำซึ่งเป็นบิดาของตน จึงเอาปืนยิงดำ กระสุนปืนถูกดำตาย และยังไปถูกขาวซึ่งเป็นมารดาของแดงตายอีกด้วย ความรับผิดของแดงต่อดำซึ่งเป็นบุพการี นายแดงย่อมมีความผิดฐานฆ่าบุพการีโดยเป็นเจตนาประเภทประสงค์ต่อผล ส่วนความรับผิดต่อนางขาวซึ่งเป็นมารดานั้นเป็นเรื่องของเจตนาโอน ซึ่งเจตนาที่โอนมานั้นเป็นเจตนาฆ่าบุพการี และเมื่อผลร้ายเกิดขึ้นกับบุพการีของแดงคือนางขาวด้วยเช่นกัน นายแดงจึงมีความผิดฐานฆ่าบุพการีด้วยเช่นเดียวกัน
          ตัวอย่างที่ 4 แดงต้องการฆ่าดำซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน จึงเอาปืนยิงดำขณะดำปฏิบัติหน้าที่ กระสุนปืนไม่ถูกดำ แต่กระสุนเลยไปถูกขาวซึ่งเป็นบิดาของแดงตาย ตามตัวอย่างนี้นายแดงมีความผิดกรณีฆ่าดำฐานฆ่าเจ้าพนักงานตาม ม. 289 (2) และเจตนาที่โอนมาเป็นเจตนาฆ่าเจ้าพนักงานแต่ผู้ได้รับผลร้ายคือนายขาวซึ่งเป็นบุพการีของนายแดงแต่ไม่ใช่เจ้าพนักงานดังนั้นนายแดงจึงไม่มีความผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงาน และนายแดงก็ไม่มีความผิดฐานฆ่าบุพการีด้วยเนื่องจากเจตนาที่โอนมานั้นไม่ใช่เจตนาฆ่าบุพการี





             [1] เจตนาโดยผลของกฎหมาย หรือเจตนาโอน ต้องไม่ใช่เจตนาตามความเป็นจริง แต่เป็นเจตนาที่กฎหมายถือว่าผู้กระทำมีเจตนา
            [2] ประเภทของความผิดอาญาที่พิจารณาจากผล แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ความผิดที่ต้องมีผลปรากฏ เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ม.288 และ 2. ความผิดที่ไม่ต้องมีผลปรากฏ เช่น ความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน ตาม ม.137
            [3] ข้อเท็จจริงที่ทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น ผู้กระทำต้องรู้ข้อเท็จจริงนั้นด้วย ตาม ม. 62 วรรคท้าย


No comments:

Post a Comment