Friday, 10 April 2015

ความยินยอม

ความยินยอม


          ความยินยอมที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดมาจากหลักที่ว่า Volenti non fit injuria” ซึ่งมีความหมายว่า “ความยินยอมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ทำให้เป็นละเมิด” ซึ่งหลักการนี้ถูกนำมาใช้ยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง (กฎหมายละเมิด) และยังถูกนำมาใช้เพื่อยกเว้นความรับผิดทางอาญาด้วย โดยที่หลักความยินยอมนี้แม้ไม่ถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในกฎหมายทั้งกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา แต่ก็ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป (General principle of law) ซึ่งในทางอาญาก็สามารถนำหลักดังกล่าวมาใช้ได้ เพราะเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิด เพราะนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุยกเว้นความผิด ไม่ได้นำมาใช้เพื่อเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด ดังนั้นแม้หลักความยินยอมจะไม่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาก็สามารถนำมาใช้ได้

          ความยินยอมที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดซึ่งอยู่ในโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่ 2 นี่หมายถึง การกระทำนั้นจะต้องครบองค์ประกอบความผิดตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่ 1 มาแล้ว จึงค่อยมาพิจารณาว่าผู้กระทำได้กระทำความผิดโดยได้รับความยินยอมหรือไม่ สำหรัยความผิดอาญาบางฐานความผิดความยินยอมของผู้เสียหายถือว่าเป็นองค์ประกอบความผิด ถ้าผู้เสียหายยินยอมการกระทำก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิดเลย ไม่ใช้เป็นเหตุยกเว้นความรับผิด เช่น หญิงอายุ 20 ปี ยินยอมให้ชายกระทำชำเรา ชายที่กระทำชำเราหญิงย่อมไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เพราะไม่ได้มีการข่มขืน จะเห็นว่าความยินยอมในกรณีนี้เป็นการทำให้การกระทำไม่ครบองค์ประกอบความรับผิดตามโครงสร้างข้อที่ 1 เมื่อไม่ผ่านโครงสร้างข้อที่ 1 แล้วก็ไม่ต้องไปพิจารณาในโครงสร้างข้อที่ 2 อีก

          แต่ความผิดอาญาในบางฐานความผิดไม่ว่าผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ถือว่าเป็นความผิด เพราะกฎหมายประสงค์จะคุ้มครองผู้เสียหายที่ยังเป็นเด็กไม่รู้ผิดชอบในการกระทำของตนดีมากนัก เช่น ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กตาม ม.277 ที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กอายุมไม่เกิน 15 ปี จะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตามผู้กระทำก็มีความผิดฐานดังกล่าว

          ความยินยอมที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุยกเว้นความผิดในโครงสร้างความรับผิดทางอาญา โครงสร้างที่ 2 นั้นจะต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

          1) ผู้ให้ความยินยอม จะต้องมีความสามารถที่จะให้ความยินยอมได้ หากเป็นบุคคลที่ไม่รู้ถึงการกระทำของตนเพราะขาดความสามารถ เช่น เด็ก หรือคนวิกลจริต ผู้กระทำความผิดก็อ้างความยินยอมของบุคคลดังกล่าวไม่ได้ เช่น หลอกเอาสร้อยทองที่เด็กใส่อยู่เพื่อแลกกับขนม แม้เด็กจะยินยอมให้ถอดเอาสร้อยไป ผู้กระทำก็ไม่อาจอ้างความยินยอมดังกล่าว เพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิดฐานลักทรัพย์ได้

          2) ต้องเป็นความยินยอมที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ ความยินยอมดังกล่าวจะต้องปราศจากการบังคับ ขู้เข็ญหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้เสียหายต้องยินยอมโดยไม่สมัครใจ แต่ความยินยอมนั้นในบางกรณีอาจเกิดขึ้นเพราะการหลอกลวง เช่น ชายหลอกหญิงว่าถ้ายินยอมให้มีอะไรด้วยจะให้พ่อแม่มาสู่ขอไปเป็นภริยา หญิงจึงยินยอมให้ชายกระทำชำเราโดยหวังว่าชายจะทำตามที่บอกไว้ได้ แต่หลังจากนั้นชายก็ไม่ได้ทำตามที่บอกไว้แก่หญิง ดังนี้ถือว่าหญิงยินยอมให้ผู้อื่นกระทำชำเราซึ่งความยินยอมเกิดขึ้นโดยสมัครใจ การกระทำของชายไม่เป็นความผิด

          3) เวลาที่ให้ความยินยอม โดยหลักแล้วความยินยอมที่เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดทางอาญาจะต้องให้ก่อนการกระทำความผิด ไม่ว่าความยินยอมนั้นจะไว้ล่วงหน้านานเท่าใดก็ตาม แต่อย่างน้อยจะต้องมีอยู่เวลากระทำและมีอยู่ตลอดการกระทำนั้น จนกว่าจะมีการถอนหรือเลิกให้ความยินยอม ดังนั้นความยินยอมที่ผู้เสียหายให้หลังจากที่ได้กระทำความผิดอาญาจนสำเร็จไปแล้ว เช่น ผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรายินยอมรับเงินค่าทำขวัญและไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดอีกตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.39 ซึ่งทำให้คดีอาญาระงับไปนั้น ไม่ใช่ความยินยอมที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดแต่อย่างใด

          4) ความยินยอมนั้นต้องไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน[1] ความยินยอมอันเป็นเหตุยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อที่ 2 นั้น หากเป็นความยินยอมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เช่น ยินยอมให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายเพื่อทดลองวิชาอาคม หรือความยินยอมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เช่น ยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก คนที่ทำให้หญิงแท้งลูกแม้หญิงจะยอมให้ทำก็มีคฝามผิด และไม่อาจอ้างความยินยอมให้พ้นจากความรับผิดไปได้ เพราะความยินยอมนั้นขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน

          5) การให้ความยินยอมอาจกระทำได้หลายวิธี การให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งหรืออาจให้ความยินยอมโดยปริยายก็ได้ เช่น ก่อนแพทย์ที่ทำการรักษาจะผ่าตัดจะให้ผู้ป่วยลงลายมือในหนังสือยินยอมให้ผ่าตัด ซึ่งทำให้การผ่าตัดของแพทย์นั้นไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เนื่องจากได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความยินยอมได้ เช่น สลบไม่ได้สติ แพทย์ไม่สามารถขอความยินยอมจากผู้ป่วยได้ ในกรณีเช่นนี้จะทำเช่นไร ในทางปฏิบัติถ้าขอความยินยอมจากผู้ป่วยไม่ได้หรือผู้ป่วยไม่มีความสามารถให้ความยินยอมได้ แพทย์จะขอความยินยอมจากญาติของผู้ป่วย เช่น สามีภริยา ลูก หลาน เป็นต้น หากไม่มีบุคคลที่ให้ความยินยอมได้เลย แต่มีความจำเป็นที่แพทย์ต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ แพทย์ก็อ้างการกระทำด้วยความจำเป็นซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษในโครงสร้างข้อที่ 3 ได้




[1] พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาอันไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 9 “ความตกลงหรือความยินยอมของผู้เสียหายสำหรับการกระทำที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนจะนำมาอ้างเป็นเหตุยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเพื่อละเมิดมิได้”







กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

No comments:

Post a Comment