Showing posts with label ข้อสอบเน. Show all posts
Showing posts with label ข้อสอบเน. Show all posts

Saturday, 27 July 2019

แนวข้อสอบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

แนวข้อสอบในหนังสือ ถาม-ตอบ วิอาญา หากสนใจสามารถสั่งซื้อได้ทั้งในแบบอีบุ๊คและแบบพิมพ์กระดาษครับ


sds

แนวข้อสอบกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา


1. นายแดงเคยสมรสและยังไม่ได้หย่าขาดจากภริยา ได้หลอกลวงนางสาวขาวว่าตนเองไม่เคยสมรส และได้พานางสาวขาวไปจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอ โดยนายทะเบียนก็หลงเชื่อว่านายแดงไม่เคยสมรส จึงจดทะเบียนสมรสให้ แต่ต่อมานางขาวรู้ว่านายแดงมีภริยาอยู่แล้ว ดังนี้ ในความผิดฐานแจ้งความเท็จของนายแดงนั้นมีผู้ใดเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายแดง (แนวคำตอบ หน้า 19)

2. นายแดงเคยสมรสและได้หย่าขาดจากภริยา แต่ได้หลอกลวงนางสาวขาวว่าตนเองไม่เคยสมรสมาก่อน และได้พานางสาวขาวไปจดทะเบียนสมรส ณ ที่ว่าการอำเภอ โดยนายทะเบียนก็หลงเชื่อว่านายแดงไม่เคยสมรส จึงจดทะเบียนสมรสให้ แต่ต่อมานางขาวรู้ว่านายแดงเคยมีภริยามาแล้ว ดังนี้ ในความผิดฐานแจ้งความเท็จของนายแดงนั้นมีผู้ใดเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายแดง (แนวคำตอบ หน้า 19)

3. ตำรวจสายสืบต้องการแกล้งนายแดงให้ถูกดำเนินคดีอาญา จึงไปเสนอกับแดงว่าหากนายแดงหายาบ้ามาขายให้ตนได้ จะซื้อต่อจากนายแดงในราคาที่สูงเพื่อจูงใจให้นายแดงไปหายาบ้ามาขายให้ตนทั้ง ๆ ที่นายแดงไม่เคยขายยาบ้ามาก่อน เมื่อนายแดงไปหายาบ้ามาขายให้จริง สายสืบและตำรวจก็แสดงตัวเข้าจับกุมนายหนึ่งในความผิดฐานมียาเสพติดไว้เพื่อจำหน่าย ดังนี้ ตำรวจสายสืบถือว่าเป็นผู้เสียหายในความผิดดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 20)

4. นายดำทราบว่านายแดงอยากให้ลูกชายสอบติดตำรวจ จึงเสนอต่อนายแดงว่าตนเองเป็นกรรมการสอบคัดเลือกตำรวจสามารถช่วยเหลือลูกของนายแดงเป็นตำรวจได้ แต้ต้องเสียค่าดำเนินการให้นายดำเป็นเงิน 100,000 บาท นายแดงอยากให้ลูกได้เป็นตำรวจจึงยินยอมจ่ายเงินให้นายดำ ต่อมาลูกของนายแดงสอบตำรวจไม่ติดเพราะนายดำไม่ได้เป็นกรรมการสอบคัดเลือก นายแดงรู้ว่าถูกหลอกจึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ดังนี้ นายแดงถือเป็นผู้เสียหายหรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 21)

5. นายแดงได้เช่าซื้อรถยนต์มาจากบริษัทรถดี จำกัด โดยในสัญญาเช่าซื้อมาข้อสัญญาระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธิที่จะนำรถไปโอนหรือจำนำกับบุคคลอื่นได้ หลังจากที่นายแดงได้ชำระค่าเช่าซื้อมาได้ 1 ปี นายแดงอยากเปลี่ยนรถใหม่ นายดำกับพวกทราบจึงได้เข้ามาเสนอขอซื้อรถยนต์คันดังกล่าวต่อโดยให้จะให้ค่าดาวน์รถและค่างวดที่นายแดงได้ส่งไปแล้ว และเปลี่ยนสัญญาผู้เช่าซื้อกับบริษัท รถดี จำกัด มาเป็นชื่อของนายดำ นายแดงหลงเชื่อจึงได้ขายดาวน์และมอบรถให้นายดำ เมื่อนายดำได้รับมอบรถยนต์จากนายแดงแล้วไม่ยอมดำเนินการเปลี่ยนสัญญาตามข้อตกลงและได้เอารถยนต์คันดังกล่าวหายไป ดังนี้ผู้ใดเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง ตาม มาตรา 2 (4) (แนวคำตอบ หน้า 22)

6. นายหนึ่งเป็นตัวแทนและผู้จัดการร้านขายรองเท้าชื่อดังยี่ห้อหนึ่ง นายหนึ่งได้แจ้งลูกค้าของร้านว่า ร้องเท้ารุ่นใหม่ของทางร้านปรับราคาขึ้นจากเดิมที่ขายอยู่คู่ละ 1,900 บาท เป็น 2,400 บาท ซึ่งความจริงทางบริษัทไม่ได้มีการขึ้นราคาแต่อย่างใด นายหนึ่งจึงเอาเงินส่วนต่างราคาที่แอบขึ้นราคาไปใช้ส่วนตัว ต่อมาทางบริษัทเจ้าของร้านจับได้ ในการกระทำความผิดของนายหนึ่งผู้ใดถือเป็นผู้เสียหายที่มีอำนาจดำเนินคดีกับนายหนึ่งบ้าง (แนวคำตอบ หน้า 22)

7. นายแดงถูกนายดำทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส นายขาวซึ่งเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายแดง ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญากับนายดำ พนักงานสอบสวนเห็นว่านายขาวไม่ใช่ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย เพราะไม่ใช่บิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่พนักงานสอบสวนไม่รับร้องทุกข์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 24)

8. นายแดงได้ลักทรัพย์ในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ และได้หลบไปแต่ไปถูกจับได้ที่อำเภอดอยสะเก็ต จังหวัดเชียงใหม่ พนักงานสอบสวน สภ.ดอยสะเก็ตได้ทำการสอบสวนและสรุปสำนวนส่งให้พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญาหรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 38)

9. พนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยในความผิดฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บ ตาม ป.อาญามาตรา 295 ซึ่งได้มีการสอบสวนโดยชอบมาตลอด ในชั้นพิจารณาคดีของศาลปรากฎว่าดวงตาของผู้เสียหายได้บาดจนไม่สามารถรักษาให้หายได้ เป็นอันตรายสาหัสตาม มาตรา 297 พนักงานอัยการจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง เพื่อขอให้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 ดังนี้อัยการจะขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องในความผิดดังกล่าวได้หรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 38)

10. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ตามที่พนักงานสอบสวนได้สอบสวนมา ครั้นสืบพยานโจทก์ไปได้ 2 ปาก พนักงานอัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องเป็นว่า จำเลยกระทำผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 โดยพนักงานสอบสวนยังมิได้มีการสอบสวนในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์มาก่อน ดังนี้พนักงานอัยการจะมีอำนาจฟ้องในคดีดังกล่าวหรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 39)

sds

11. ร้อยตำรวจตรีสมหมายซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนของ สภ.เมืองพะเยา ได้ใช้ให้จ่าสิบตำรวจเอกสมศักดิ์ทำการสอบปากคำผู้ต้องหาแทน เนื่องจากร้อยตำรวจตรีสมหมายหิวข้าว เมื่อทานข้าวเสร็จแล้วร้อยตำรวจตรีสมหมายก็กลับมาสอบปากคำผู้ต้องหาต่อจนเสร็จ ดังนี้การสอบสวนที่เกิดขึ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 40)

12. นายแดงยิงนายดำที่เขตอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา นายดำถูกนำมาส่งโรงพยาบาลพะเยาเพื่อรักษา และต่อมานายดำได้ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลซึ่งเป็นท้องที่สอบสวนของ สภ.เมืองพะเยา ดังนี้ หากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพะเยา ได้ทำการสอบสวนความผิดที่เกิดขึ้น การสอบสวนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 43)

13. นายหนึ่งทราบดีว่านายสองจะเดินทางจากหมอชิดไปจังหวัดเชียงราย นายหนึ่งต้องการฆ่านายสองจึงแอบเอายาพิษในในน้ำดื่มของนายสอง นายสองดื่มน้ำขณะอยู่ที่สถานีหมอชิด ปรากฏว่าเมื่อถึงจังหวัดพิษณุโลก นายสองถึงแก่ความตายจากการถูกวางยาพิษ ดังนี้พนักงานสอบสวนในท้องที่ใดมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้น (แนวคำตอบ หน้า 43)

14. นายหนึ่งทราบดีว่านายสองจะเดินทางจากหมอชิดไปจังหวัดเชียงราย นายหนึ่งต้องการฆ่านายสองจึงแอบเอายาพิษในในน้ำดื่มของนายสอง นายสองดื่มน้ำขณะอยู่ที่สถานีหมอชิด ปรากฏว่าเมื่อถึงจังหวัดพิษณุโลก นายสองถึงแก่ความตายจากการถูกวางยาพิษ หากพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลกได้ทำการสอบสวนคดีอาญาที่เกิดขึ้น นายสามซึ่งเป็นบิดาของนายสองรู้ว่าพนักงานสอบสวน สภ.เมืองพิษณุโลกไม่มีอำนาจสอบสวนแต่ก็ไม่ได้คัดค้านการสอบสวนดังกล่าว จนพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล พนักงานอัยการจังหวัดพิษณุโลกมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 44)

15. นายแดงยิงนายดำที่เขตอำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา นายดำได้รับบาดเจ็บสาหัสถูกนำมาส่งโรงพยาบาลพะเยา และตายที่โรงพยาบาลซึ่งเป็นท้องที่สอบสวนของ สภ.เมืองพะเยา พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพะเยาได้สอบสวนโดยการสอบปากคำผู้ต้องหาและพยานที่เกี่ยวข้อง และได้ส่งสำนวนให้กับพนักงานสอบ สภ.แม่ใจ ทำการสอบสวนต่อเพราะพนักงานสอบสวน สภ.แม่ใจ เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การสอบสวนที่เกิดขึ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 44)

16. นายแดงได้ลักทรัพย์ของนายดำบนรถไฟความเร็วต่ำ ซึ่งแล่นจากจังหวัดลำปางไปจังหวัดพิษณุโลก เมื่อถึง อ.เมือง จังหวัดพิษณุโลก นายดำรู้ว่าทรัพย์ของตนเองหายไป ดังนี้ หากนายดำต้องการร้องทุกข์ต้องร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนท้องที่ใด (แนวคำตอบ หน้า 47)

17. นายแดงได้ลักทรัพย์นายจอนห์คนอังกฤษที่ประเทศอังกฤษ และได้หลบหนีมาที่ประเทศไทย รัฐบาลอังกฤษได้ร้องขอให้ลงโทษนายแดงตามกฎหมาย ดังนี้ พนักงานสอบสวนท้องที่ใดเป็นพนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวน (แนวคำตอบ หน้า 50)

18. นายหนึ่งเป็นผู้จัดการร้านของบริษัท พะเยา การค้าจำกัด ได้หลอกขายสินค้าแพงกว่าราคาที่บริษัทกำหนด และเอาเงินส่วนต่างจากราคาที่แท้จริงไป เมื่อบริษัท พะเยาการค้า จำกัดทราบเรื่องจึงให้ นายสองกรรมการผู้จัดการของบริษัท เข้าร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวน สภ.เมืองพะเยาได้ทำการสอบสวนจนเสร็จและส่งสำนวนพร้อมความเห็นควรสั่งฟ้องนายหนึ่งต่อศาลให้อัยการจังหวัดพะเยา นายสามพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนจึงฟ้องคดีนายหนึ่งต่อศาลในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ดังนี้การฟ้องคดีดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 53)

19. นายหนึ่งถูกนายสองฉ้อโกงเงินไปหนึ่งหมื่นบาท นายหนึ่งได้ไปทวงถามหลายครั้งให้นายสองคืนเงิน นายสองก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนเงิน นายหนึ่งจึงเข้าไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน โดยกล่าวกับพนักงานสอบสวนว่า มาแจ้งความเพื่อให้ตำรวจลงบันทึกประจำวันว่าตนไม่ได้ประสงค์จะไม่ดำเนินคดี แต่หากนายสองไม่จ่ายเงินคืน จะดำเนินคดีอาญากับนายสองในอนาคต ต่อมาปรากฎว่านายสองไม่จ่ายเงินคืน นายหนึ่งจึงได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีนายหนึ่ง พนักงานสอบสวนจึงได้เรียกตัวนายหนึ่งไปสอบสวน พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนคดีดังกล่าวหรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 55)

20. นายหนึ่งและนายสองถูกนายสามทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส นายหนึ่งได้ยื่นฟ้องนายสามต่อศาลในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และคดีได้อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีของศาล ดังนี้นายสองจะยื่นฟ้องนายสามเป็นจำเลยในความผิดดังกล่าวได้อีกหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 59)

21. นายหนึ่งและนายสองถูกนายสามทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บสาหัส นายหนึ่งได้ยื่นฟ้องนายสามต่อศาลในความผิดฐานทำร้ายร่างกาย และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ดังนี้นายสองจะยื่นฟ้องนายสามเป็นจำเลยในความผิดดังกล่าวอีกได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 59)

22. นายแดงถูกลักทรัพย์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายดำในความผิดฐานลักทรัพย์ต่อศาล โดยนายแดงได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม เมื่อศาลอนุญาต ระหว่างคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา นายแดงตายลง นายขาวบุตรของนายแดงจะดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 61)

23. นายแดงถูกลักทรัพย์ได้เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คดีอยู่ในระหว่างการสอบสวน นายแดงหัวใจวายถึงแก่ความตาย ดังนี้นายขาวลูกของนายแดงจะดำเนินคดีต่อไปได้หรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 61)

24. นายแดงซึ่งเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานทำร้ายร่างกายได้ยื่นฟ้องนายดำต่อศาล คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล นายแดงประสบอุบัติเหตุทำให้ถึงแก่ความตาย นายขาวบุตรของนายแดงจะดำเนินคดีต่อไปแทนนายแดงได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 62)

25. นายหนึ่งบิดาของนายสองซึ่งถูกนายสามทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บไม่สามารถจะจัดการเองได้ นายหนึ่งได้ยื่นฟ้องนายดำในความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297 คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาปรากฎว่านายหนึ่งป่วยเสียชีวิตกระทันหัน นายสี่ซึ่งเป็นบุตรของนายหนึ่งอีกคนและเป็นพี่ชายของนายสองจะดำเนินคดีต่อไปแทนนายหนึ่งได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 62)

26. พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยใน 2 ข้อหา คือ กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 และความผิดฐานขับรถโดยประมาท ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ต่อมาผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในความผิดที่ฟ้องจำเลยทั้งสอง ดังนี้ ผู้เสียหายจะขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 63)

27. นายจันทร์เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่านายอังคารได้ลักทรัพย์ไป พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนและส่งสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาล คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา ต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่านายอังคารไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตัวจริงจึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อต่อศาล ศาลมีคำสั่งอนุญาต นายจันทร์ผู้เสียหายจะฟ้องนายอังคารต่อศาลได้อีกหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 69)

28. นายจันทร์เข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่านายอังคารได้ยักยอกทรัพย์ไป พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนและส่งสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลต่อมาพนักงานอัยการเห็นว่านายอังคารไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดตัวจริง จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อต่อศาล ต่อมาศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง นายจันทร์จะยื่นฟ้องนายอังคารในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ได้อีกหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 69)

29. นายจันทร์ผู้เสียหายเป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้องนายอังคารเป็นจำเลยต่อศาลในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ในระหว่างการพิจารณาคดีนายจันทร์สงสารนายอังคารที่ตกเป็นจำเลยได้รับความลำบากจึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลมีคำสั่งอนุญาต พนักงานอัยการจะยื่นฟ้องนายอังคารได้อีกหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 69)

30. นายจันทร์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีอาญาความผิดฐานยักยอกทรัพย์กับนายอังคาร แต่การสอบสวนยังไม่เสร็จนายจันทร์รีบร้อนจึงเป็นโจทก์ได้ยื่นฟ้องนายอังคารเป็นจำเลยต่อศาลในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ในระหว่างการพิจารณาคดีนายจันทร์สงสารนายอังคารที่ตกเป็นจำเลยได้รับความลำบากจึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลมีคำสั่งอนุญาต การถอนฟ้องของผู้เสียหายนั้นจะตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะฟ้องคดีใหม่ หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 69)

sds

31. พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลในความผิดฐานหมิ่นประมาท คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ต่อมาผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน การถอนคำร้องทุกข์ดังกล่าวมีผลทำให้คดีอาญาระงับลงหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 74)

32. นายหนึ่งได้ถูกนายสองลักรถยนต์ นายหนึ่งจึงได้แจ้งเรื่องรถหายต่อบริษัทประกันภัยที่ทำประกันโจรกรรมรถไว้ โดยบริษัทประกันได้ชำระเงินให้กับนายหนึ่งตามสัญญาประกันภัยที่ทำไว้กับบริษัทตามมูลค่าราคารถที่เอาประกัน ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายสองต่อศาลในความผิดฐานลักทรัพย์ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณา บริษัทประกันภัยผู้รับช่วงสิทธิจึงยื่นคำร้องขอต่อศาลให้นายสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการที่นายสองลักรถยนต์ของนายหนึ่งไป ดังนี้ บริษัทประกันภัยมีอำนาจร้องขอให้ศาลสั่งให้นายสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 91)

33. เจ้าพนักงานตำรวจได้สืบทราบมาว่านายแดงผู้ต้องหากระทำในคดีลักทรัพย์ได้หลบหนีไปอยู่ในบริเวณหมู่บ้านแห่งหนึ่ง เจ้าพนักงานตำรวจจึงได้ไปร้องขอให้ศาลออกหมายจับนายแดง ศาลเห็นว่ามีพยานพอสมควรว่านายแดงได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์ และเป็นคดีที่มีโทษจำคุกสามปี จึงออกหมายจับให้ การออกหมายจับของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 95)

34. นายหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนบ้านของนายสองทราบวานายสองได้ทะเลาะกับภริยาและได้กักขังภริยาไว้ในห้องไม่ยอมให้ออกมาเป็นเวลาหลายเดือน นายหนึ่งจะนำเรื่องดังกล่าวไปแจ้งตำรวจ เมื่อตำรวจทราบและเห็นว่าการกักขังดังกล่าวเป็นการหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยมิชอบ จึงขอให้ศาลออกหมายค้นบ้านของนายสอง เพื่อหรือช่วยเหลือภริยาของนายสองที่ถูกกักขังไว้ได้ ดังนี้ ศาลจะออกหมายค้นให้ในกรณีดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะเหตุใด (แนวคำตอบ หน้า 97)

35. สิบตำรวจเอกสมชายและสิบตำรวจโทสมหมายได้ออกตรวจพื้นที่ในเวลากลางคืน เห็นนายหนึ่งกำลังจะปีนข้ามรั้วบ้านของประชาชน จึงขอเข้าตรวจค้นร่างกายพบในตัวของนายหนึ่งมีอุปกรณ์ในการงัดบ้านอยู่จึงจับกุมตัวนายหนึ่งไปยังสถานีตำรวจ ดังนี้ การจับที่เกิดขึ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 99)

36. นายแดงแอบปีนเข้ามาในบ้านของนายดำเพื่อขโมยไก่ชน พอดีนายดำเห็นจึงได้ร้องเอะอะขึ้นจนเพื่อนบ้านซึ่งเป็นญาติของนายดำพากันวิ่งมาดู นายแดงได้ยินเสียงคนร้องกลัวว่าจะถูกจับได้จึงปีนรั้วหนี แต่นายดำและญาติช่วยกันจับนายแดงไว้ โดยที่คนที่จับนั้นไม่มีใครเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ และไม่มีหมายจับ ดังนี้ การจับที่เกิดขึ้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 102)

37. ตำรวจจับกุมนายหนึ่งได้ในข้อหาพยายามฆ่านายแดง นายหนึ่งให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าปืนของกลางที่นำมาใช้ยิงนายแดงนั้นได้ไปเก็บไว้ที่ห้องพักในหน่วยบริการประชาชนของตำรวจ ตำรวจจึงได้เข้าไปตรวจค้นในห้องพักดังกล่าวพบปืนของกลางเก็บอยู่ในตู้จึงเก็บมาเป็นหลักฐานดำเนินคดีกับนายหนึ่ง นายหนึ่งต่อสู้ว่าการค้นในสถานที่ซึ่งเป็นที่พักนั้นไม่ชอบเพราะเป็นที่รโหฐานต้องมีหมายค้น ดังนี้ให้วินิจฉัยว่าการค้นเกิดขึ้นโดยชอบหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 110)

38. พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายแดงเป็นจำเลยต่อศาลในความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ในระหว่างการสอบสวนนายแดงได้ขอให้ศาลปล่อยชั่วคราว โดยศาลให้ปล่อยชั่วคราวโดยมีประกัน เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องต่อศาลปรากฎว่าไม่ได้นำตัวนายแดงมาศาลเพื่อฟ้องคดีด้วย ศาลจึงไม่รับฟ้องของพนักงานอัยการโดยอ้างว่าต้องนำตัวจำเลยมาศาลด้วย ดังนี้ คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 133)

39. พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องคดีอาญาโดยกล่าวในฟ้องว่าจำเลยถูกจำคุกอยู่ในคดีอื่นของศาลนั้น แต่ได้หลบหนีไปจากเรือนจำเสียแล้วก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ เมื่อโจทก์ไม่มีตัวจำเลยอยู่ในขณะที่ยื่นฟ้อง ศาลจึงไม่รับฟ้อง คำสั่งของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 134)

40. พนักงานอัยการยื่นฟ้องนายดำเป็นจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ศาลได้มีคำสั่งประทับฟ้องโดยที่ไม่ได้ไต่สวนมูลฟ้อง คำสั่งศาลที่ประทับฟ้องไว้พิจารณาโดยไม่ได้มีการไต่สวนมูลฟ้องก่อนชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 141)

41. นายหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องนายสองเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง ในวันไต่สวนมูลฟ้อง แต่ศาลเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโดยที่ไม่ได้สั่งประทับรับฟ้องไว้ก่อน คำพิพากษาของศาลที่ยกฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 142)

42. นายหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องนายสองเป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง ในวันไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์ไม่ได้นำพยานมาสืบให้ศาลเห็นได้ว่าคดีมีมูล ศาลจึงพิพากษายกฟ้องโดยที่ โจทก์เห็นว่าคำสั่งของศาลไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคดีใหม่ ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง เพราะเห็นว่าเป็นกรณีที่ศาลได้วินิจฉัยเนื้อหาของคดีแล้วชอบที่โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์คดีต่อศาลอุทธรณ์เท่านั้น คำสั่งยกคำร้องของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 144)

43. ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องเอง ศาลส่งสำเนาคำฟ้องของโจทก์ให้จำเลยพร้อมทั้งวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง ปรากฎว่าจำเลยทราบวันนัดแต่ไม่มาศาล ศาลจึงทำการไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย เมื่อศาลเห็นว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำมาแสดงนั้นมีมูลจึงมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา ดังนี้คำสั่งประทับฟ้องของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 146)

44. นายจันทร์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนว่านายอังคารได้ลักทรัพย์ของตนเองไป เมื่อร้องทุกข์เสร็จนายจันทร์เห็นว่าการสอบสวนของตำรวจช้ามาก จึงยื่นฟ้องนายอังคารต่อศาลเอง ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง แต่เมื่อถึงวันนัดไต่สวนมูลฟ้องนายจันทร์และทนายความโจทก์มาศาล และศาลเห็นโจทก์ขาดนัดไต่สวนมูลฟ้อง จึงมีคำสั่งยกฟ้อง ต่อมาพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องนายอังคารในความผิดฐานลักทรัพย์ ดังนี้ พนักงานอัยการจะฟ้องนายอังคารได้อีกหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 149)

45. ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่ากระทำความผิดฐานฉ้อโกง ศาลนัดไต่สวนมูลฟ้อง แต่จำเลยไม่ได้มาในวันไต่สวนมูลฟ้อง ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณา และต่อมาในชั้นพิจารณาคดี ทนายความฝ่ายโจทก์ได้เบิกคำให้การของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายต่อศาล ศาลจะรับฟังคำให้การของโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 152)

46. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายแดงเป็นจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดจริงตามฟ้อง ศาลจึงสั่งงดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา คำสั่งงดสืบพยานของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 156)

47. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายแดงเป็นจำเลยในความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และถามจำเลยว่าได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดจริงตามฟ้อง ศาลจึงสั่งงดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษา คำสั่งงดสืบพยานของศาลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 156)

48. โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และขอให้ศาลลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 แต่ในทางพิจารณาปรากฏว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ไม่ใช่ลักทรัพย์ ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ตามที่พิจารณาได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 164)

49. ในกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 แต่ในทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เท่านั้น ศาลจะลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์ ตามที่พิจารณาได้หรือไม่อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 165)

50. โจทก์ฟ้องและบรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 แต่ในทางพิจารณาของศาลได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามที่พิจารณาได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 165)

51. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 แต่ในทางพิจารณาคดีศาลเห็นว่า จำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 167)

52. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นได้พิจารณาและได้มีคำพิพากษาว่ายกฟ้อง เพราะเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิด ดังนี้ หากโจทก์ต้องการจะอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จะยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 170)

53. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 297 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นได้พิจารณาและได้มีคำพิพากษาว่ายกฟ้อง เพราะเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้อง ดังนี้ โจทก์จะยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 170)

54. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นได้พิจารณาและได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีลดโทษให้กึ่งหนึ่ง พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ดังนี้ หากโจทก์และจำเลยต้องการจะอุทธรณ์ โจทก์และจำเลยจะยื่นอุทธรณ์ได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 171)

55. พนักงานอัยการโจทก์และนายจันทร์จำเลยต่างยื่นอุทธรณ์ โดยโจทก์ขอให้ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยโดยไม่ลดโทษให้ ส่วนจำเลยขอให้ศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาโดยศาลเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยนั้นไม่ชอบ ชอบที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่ลดโทษให้ จึงแก้เป็น จำคุกนายจันทร์จำเลย 5 ปี ดังนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (แนวคำตอบ หน้า 176)

56. พนักงานอัยการโจทก์พอใจคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่ได้ยื่นอุทธรณ์อีก มีแต่นายจันทร์จำเลยแต่ฝ่ายเดียวที่ยื่นอุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าการที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้จำเลยนั้นไม่ชอบ จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลชั้นต้นเป็นไม่ลดโทษให้ เป็นจำคุกจำเลย 5 ปี กรณีเช่นนี้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย (แนวคำตอบ หน้า 177)

57. ในคดีซึ่งจำเลยผู้หนึ่งอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษา ซึ่งให้ลงโทษจำเลยหลายคนในความผิดฐานเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน ถ้าศาลอุทธรณ์กลับหรือแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ลงโทษหรือ ลดโทษให้จำเลยจะมีผลต่อจำเลยคนอื่นหรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 179)

58. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายหนึ่งว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้าง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (11) ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่านายหนึ่งกระทำความผิดตามฟ้องพิพากษาลงโทษนายหนึ่งในความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ไม่ได้กระทำความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรรมดา ตามาตรา 334 เท่านั้น ลงโทษจำคุก 3 ปี โจทก์และจำเลยต่างยื่นอุทธรณ์ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าขอให้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้าง ตามาตรา 335 ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วมีคำพิพากษายื่นตามศาลชั้นต้น คู่ความจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 183)

59. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องนายหนึ่งว่ากระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาว่านายหนึ่งกระทำความผิดตามฟ้องพิพากษาลงโทษนายหนึ่งในความผิดฐานชิงทรัพย์ ลงโทษจำคุก 6 ปี โจทก์และจำเลยต่างยื่นอุทธรณ์ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าขอให้ศาลลงโทษจำเลยสถานหนัก ส่วนจำเลยอุทธรณ์ขอให้ศาลยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วมีคำพิพากษายื่นตามศาลชั้นต้น คู่ความจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้หรือไม่ อย่างไร (แนวคำตอบ หน้า 184)

sds