Monday, 30 June 2014

ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น


ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นVicarious Liability

 ชื่อ นายเฉลิมวุฒิ   สกุล สาระกิจ
คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยพะเยา
อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา รหัสไปรษณีย์ 56000
บทคัดย่อ
      บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นทั้งความรับผิดทางแพ่งและความรับผิดทางอาญา ซึ่งโดยหลักแล้วบุคคลย่อมต้องรับผิดในการกระทำของบุคคลเอง แต่มีบางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น โดยที่บุคคลที่ต้องรับผิดนั้นไม่ได้มีการกระทำที่เป็นความผิด (Fault) เช่น ในทางกฎหมายแพ่ง กรณีนายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในการทำละเมิดในทางการที่จ้าง แม้จะปรากฏว่านายจ้างได้ใช้ความระมัดระวังในการเป็นจ้างแล้วอย่างไรก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุที่นายจะนำมาอ้างเพื่อไม่ต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้างในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคที่ถูกลูกจ้างทำละเมิด ส่วนในทางกฎหมายอาญา บุคคลที่จะต้องรับผิดในทางอาญานั้น โดยหลักแล้วต้องมีการกระทำความผิด อาจจะกระทำความผิดด้วยตัวเอง กระทำความผิดโดยอ้อม หรือต้องรับผิดเพราะเข้าไปเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด เช่น เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่า ในทางอาญาเหตุที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับผิดนั้นล้วนมาจากการกระทำของตนทั้งสิ้น แต่ในอาญาบางฐานความผิดนั้นได้กำหนดให้ผู้ที่ไม่มีการกระทำต้องร่วมรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น โดยที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีการกระทำความผิด แต่เพราะความเป็นสมาชิกที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิดหรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 213 ซึ่งได้รับแนวความคิดมาจากความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นในทางแพ่ง
คำสำคัญ : ละเมิด, ความรับผิด, นายจ้างลูกจ้าง,ความรับผิดทางอาญา, ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น,
1. บทนำ

      แนวความคิดเกี่ยวกับการละเมิดนั้นได้ก่อกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลานานในยุคเริ่มแรกนั้นความหมายของละเมิดอาจจะมีความแตกต่างจากปัจจุบัน โดยเฉพาะความมุ่งหมายที่ในปัจจุบันนั้นมุ่งเยียวยาผู้เสียหายให้เสมือนความเสียหายไม่ได้เกิดขึ้นเลย[1] และในยุคโรมันนั้นการละเมิด คือหนี้ที่เกิดการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่ได้มีการแยกความรับผิดออกเป็นความรับผิดทางแพ่งและความรับผิดทางอาญาออกจากกันอย่างชัดเจน แต่ในปัจจุบันได้มีการแบ่งความรับผิดทางแพ่งและความรับผิดทางอาญาออกจากกันอย่างชัดเจน เพราะวัตถุประสงค์ของกฎหมายแพ่งและอาญานั้นต่างกัน[2] โดยความรับผิดทางแพ่งที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย คือ การทำละเมิด ผู้ที่ทำละเมิดต่อผู้อื่นต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน[3] ส่วนความรับผิดทางอาญานั้น ผู้ที่กระทำผิดทางอาญาต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย[4] เช่น จำคุก หรือปรับ

      โดยหลักแล้วบุคคลย่อมมีความรับผิดในการกระทำของตนเอง เช่น การทำร้ายผู้อื่นในทางอาญา ผู้ที่ได้กระทำโดยเจตนาให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับ ในทางแพ่งก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยจงใจให้ผู้อื่นเสียหายแก่กาย แต่มีบางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น โดยที่บุคคลที่ต้องรับผิดนั้นไม่ได้มีการกระทำที่เป็นความผิด (Fault) จึงเกิดปัญหาว่าในทางแพ่งความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นมีได้หรือไม่ และจะผู้ที่ต้องรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นนั้นจะปฏิเสธความรับผิดได้หรือไม่ ส่วนในทางอาญานั้นความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นมีได้หรือไม่ และจะมีข้อปฏิเสธความรับผิดหรือไม่

2.  ความรับผิดทางแพ่ง

ความรับผิทางแพ่ง คือ ความรับผิดในการทำละเมิดนั้น โดยหลักแล้ว เป็นความรับผิดที่ตั้งอยู่บนการกระทำความผิดของตนเอง เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ก็จำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น แต่อย่างไรก็ตามความรับผิดในการทำละเมิดยังได้ขยายความรับผิดออกไป ในบางกรณียังต้องรับผิดในการทละเมิดของบุคคลอื่นอีกด้วย ซึ่งความรับผิดในการทำละเมิดสามารถแยกพิจารณาได้ดังต่อไปนี้

1) ความรับผิดในทางละเมิดของตนเอง (Fault Liability)

บุคคลใดเมื่อก่อความเสียต่อผู้อื่นขึ้นมาแล้วย่อมต้องรับผิดในการกระทำของตน โดยการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดของตนเอง ซึ่งเป็นหลักความยุติธรรมในการเยียวยาความเสียหายอันเกิดแต่การกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นให้กับผู้เสียหาย ซึ่งความรับผิดในการละเมิดของตนเองนี้เป็นตามหลักปรกติที่ว่าใครกระทำความผิด ผู้นั้นเท่านั้นที่ต้องรับผิด คนอื่นไม่เกี่ยว[5] ซึ่งได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

1.1) กรณีบุคคลทำละเมิดตาม มาตรา 420 ซึ่งเป็นความรับผิดในการกรทำของตนเอง เมื่อได้กระทำอันเป็นารลเมิดต่อผู้อื่นย่อมต้องรับผิดในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

1.2) กรณีนิติบุคคลรับผิดในการทำละเมิดของผู้แทนนิติบุคคลตาม มาตรา 76 ซึ่งกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำตามหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้น

 2) ความรับผิดในการทำละเมิดของบุคคลอื่น (Vicarious Liability)

ตามปกติแล้วความรับผิดในการละเมิดนั้นจะมีขึ้นได้ก็แต่โดยการกระทำของตนเองไม่ว่าความเสียหายนั้นจะกระทำด้วยความจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เมื่อก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นแล้ว ย่อมต้องรับผิด แต่มีบางกรณีที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่มีความเกี่ยวข้องต้องรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้อื่น แม้บุคคลนั้นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำละเมิดของบุคคลอื่นเลยแต่อย่างใด แต่ก็ต้องรับผิด ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของหลักการทั่วไปของละเมิดที่เป็นการรับผิดในการกระทำของตนเอง

ความรับผิดในการละเมิดของผู้อื่น(Vicarious Liability) จึงเป็นบทยกเว้นของกฎหมายละเมิดในสมัยดั้งเดิมที่เน้นความรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง ที่ถือหลักว่า “ใครทำ คนนั้นรับ” ดังนั้นเมื่อความรับผิดในการละเมิดของผู้อื่นเป็นข้อยกเว้น ต้องมีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ต้องรับผิดในการละเมิดของผู้อื่น และต้องตีความบทบัญญัติดังกล่าวอย่างจำกัด โดยพิจารณาเหตุผลประกอบในการตีความบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อคุ้มครองผู้เสียหายที่ต้องได้รับการเยียวยาและเป็นธรรมต่อผู้ที่ต้องรับผิดในการละเมิดของผู้อื่น ซึ่งความรับผิดเพื่อการละเมิดของผู้อื่นนั้นได้แก่กรณีดังต่อไปนี้[6]

2.1) กรณีของนายจ้างร่วมรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้าง ตามมาตรา 425 นั้นหากปรากฎว่าลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทาการที่จ้างแล้ว นายจ้างต้องร่วมรับผิดเสมอ โดยที่กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้นายจ้างปฏิเสธความรับผิดแต่อย่างได แม้ตัวนายจ้างเองจะได้ใช้ความระมัดระวังในการจ้างและควบคุมการทำงานของลูกจ้างดีแล้วก็ตาม นายจ้างก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดร่วมกับลูกจ้างได้

2.2) กรณีตัวการร่วมรับผิดในการทำละเมิดของตัวแทน ตามมาตรา 427 โดยกฎหมายกำหนดให้นำบทบัญญัติในเรื่องนายจ้างลูกจ้างมาใช้ หมายถึง ตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดในกรณีที่การทำละเมิดนั้นอยู่ในขอบวัตถุประสงค์แห่งการเป็นตัวแทนเท่านั้น และหากอยู่ในขอบวัตถุประสงค์แล้ว ตัวการไม่มีข้อปฏิเสธความรับผิดได้ เช่นเดียวกับนายจ้าง

2.3) กรณีความรับผิดของบิดามารดา ผู้อนุบาลร่วมรับผิดในการทำละเมิดของผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถ ตามมาตรา 429 เมื่อผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถไปทำละเมิดต่อผู้อื่น ผู้ที่มีอำนาจปกครองหรือเป็นผู้ที่คอยอนุบาลคนไร้ความสมารถตามกฎหมายก็ต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิด หากสามารถพิสูจน์ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ซี่งทำอยู่นั้นแล้ว ซึ่งหากพิจารณาดูจะเห็นว่า หากบิดามารดา ผู้อนุบาลใช้ความระมัดระวังในการทำหน้าที่ของตัวเองก็ไม่ต้องรับผิดร่วมในผลแห่งละเมิด แต่ถ้าไม่ได้ใช้ความระมัดวังในการทำหน้าที่ก็ต้องร่วมรับผิด

2.4) กรณีความรับผิดของครูบาอาจารย์ นายจ้าง บุคคลอื่นผู้ดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ ตามมาตรา 430 เมื่อผู้ที่อยู่ในความดูแลได้ไปทำละเมิดกฎหมายให้บุคคลที่มีหน้าที่ดูแลผู้ไร้ความสามารถต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ผู้ไร้ความสามารถได้กระทำ แต่ทั้งนี้จะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ ความระมัดระวังตามสมควร

จะเห็นได้ว่าความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นนั้นมีหลายกรณี ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าผู้ที่ต้องรับผิดในการทำละเมิดของบุคคลอื่นนั้นล้วนแต่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ที่ทำละเมิด เช่น เป็นนายจ้างลูกจ้าง เป็นตัวการตัวแทนกัน เป็นบิดามารดาหรือผู้ปกครอง หรือเป็นผู้ที่ดูแลบุคคลไร้ความสามารถอยู่ แต่ความรับผิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นที่กล่าวมานี้ มีบางกรณีที่ผู้นั้นสามารถอ้างหรือปฏิเสธความรับผิดได้ เช่น อ้างว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังในการทำหน้าที่ดูแลแล้วก็ไม่ต้องรับผิด ดังนั้นเมื่อปฏิเสธความรับผิดได้จะถือว่าเป็นความรับผิดในการกระทำของผู้อื่นได้หรือไม่

3.ความรับผิดในทางอาญา

โดยหลักแล้วความรับผิดในทางอาญานั้นเป็นความรับผิดในการกระทำของตนเอง การกระทำอันเป็นความผิดอันนั้นเองนำมาซึ่งความรับผิดและโทษทางอาญา ซึ่งเราแยกพิจารณาผู้กระทำความผิดในทางอาญาออกเป็น 3 กรณีด้วยกัน[7]

3.1) ผู้กระทำความผิดด้วยตนเองหรือผู้กระทำความผิดโดยทางตรง ความรับผิดเกิดจากการกระทำทุกๆ อย่างต้องตามบทบัญญัติของความผิดฐานใดฐานหนึ่งที่กฎหมายบัญญัติด้วยตนเอง[8] เช่น เป็นคนเอาขวดตีหัวคนอื่น ขับรถชนคนอื่นด้วยตัวเอง

3.2) ผู้กระทำความผิดโดยอ้อม ความรับผิดเกิดจากการใช้บุคคลที่ไม่มีเจตนากระทำความผิด (Innocent Agent) เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด โดยที่ไม่ถือว่ากระทำความผิดโดยอ้อมไม่ใช่ผู้ใช้[9] เพราะผู้ถูกใช้ไม่มีเจตนากระทำความผิด[10]

3.3) ผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด (Parties to Crime) ความรับผิดกรณีนี้เกิดจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะเป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด เมื่อมีส่วนร่วมก็ต้องสมควรได้รับโทษ

จะเห็นได้ว่าผู้ที่ต้องรับผิดในทางอาญาทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวข้างต้นนั้นล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น กล่าวคือเป็นการกระทำความผิดของตนเอง[11] เพราะได้กระทำความผิดโดยตรง ได้กระทำความผิดโดยอ้อม หรือเพราะมีส่วนร่วมในการกระทำความผิด

จะเห็นว่าเหตุที่ทำให้ผู้นั้นต้องมีความรับผิดทางอาญามาจากการที่เป็นผู้กระทำความผิดด้วยตัวเองหรือเป็น้พราะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ซึ่งล้วนแต่เป็นความรับผิดอันเกิดจากการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นในทางอาญาจะมีความรับผิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่นได้หรือไม่



4. บทวิเคราะห์ความรับผิดในการกระทำของผู้อื่น

4.1 กฎหมายแพ่ง

          ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น (Vicarious Liability) นั้นคือความรับผิดที่เกิดขึ้นโดยที่ผู้นั้นไม่มีความผิด แต่เป็นความรับผิดอันเกิดการทำละเมิดของผู้อื่น แต่เพราะเหตุผู้นั้นมีฐานะเกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิด ในกฎหมายแพ่งความรับผิดในการทำละเมิดของผู้อื่นนั้นมีอยู่หลายกรณีด้วยกัน แต่หากพิจารณาแล้วจะเห็นว่าในกรณีความรับผิดของบิดามารดา ผู้อนุบาล ตามมาตรา 429 และกรณีความรับผิดของครูบาอาจารย์ นายจ้าง บุคคลอื่นผู้ดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ ตามมาตรา 430 กฎหมายได้เปิดช่องให้บิดามารดา ผู้อนุบาล หากพิสูจน์ได้ว่าตนเองได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้นก็ไม่ต้องรับผิด แสดงให้เห็นว่าแท้จริงแล้งความรับผิดร่วมกับผู้เยาว์หรือคนวิกลจริตตามมาตรานี้ คือ การไม่เอาใจใส่ในการเลี้ยงดูของบิดามารดา หรือผู้อนุบาลนั้นเอง ซึ่งถือเป็นความผิดของตนเอง จึงมิใช่ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น เช่นเดียวกันกับกรณีของความรับผิดของครูบาอาจารย์ นายจ้าง บุคคลอื่นผู้ดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ ตามมาตรา 430 ที่ต้องรับผิดเพราะตนเองบกพร่องในการดูแลบุคคลที่ต้องดูแล ซึ่งถือเป็นความรับผิดอันเกิดจากการกระทำของตนเองเช่นกัน

          ส่วนกรณีความรับผิดของนายจ้างที่ต้องร่วมรับผิดในการทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้างตาม ม.426 นั้น กฎหมายไม่เปิดช่องให้นายจ้างปฏิเสธความรับผิดเลย หากการทำละเมิดนั้นอยู่ในทางการที่จ้างของนายจ้างแล้ว แม้นายจ้างจะได้ใช้ความระมัดระวังอย่างดีในการจ้าง ไม่ขาดตกบกพร่องในการทำหน้าที่นายจ้างเลยก็ตาม นายจ้างก็ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ จะเห็นได้ว่าความรับผิดของนายจ้างนั้น เช่นเดียวกับคามรับผิดของตัวการที่ต้องร่วมรับผิดในการกระทำของตัวแทนที่ได้กระทำภายในขบวัตถุประสงค์ของการเป็นตัวแทนที่ไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ ซึ่งถือเป็นความรับผิดอันเกิดจากการกระทำของผู้อื่นโดยแท้

4.2 กฎหมายอาญา

      แม้โดยหลักแล้วความรับผิดทางอาญาจะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนเอง หากไม่ไม่ได้ลงมือเองแล้วก็ต้องเป็นเพราะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด เช่น การเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน แต่มีบางกรณีบุคคลอาจต้องมีความรับผิดทางอาญาในการกระทำของบุคคลอื่น (Vicarious Liability) ซึ่งมีแนวความคิดมาจากความรับผิดในทางละเมิด ที่ทำให้เกิดความรับผิดต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการทำละเมิดของบุคคลอื่น โดยที่ผู้ต้องรับผิดร่วมนั้นไม่มีความผิดเลย แต่เพราะฐานะหรือความสัมพันธ์บางอย่าง เช่น เป็นนายจ้างกับลูกจ้าง เมื่อลูกจ้างทำละเมิดในทางการที่จ้างนายจ้างต้องรับผิดร่วมกับลูกจ้าง โดยที่นายจ้างไม่ต้องจงใจหรือประมาทใด ๆ เลย

ความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น (Vicarious Liability) ที่ปรากฏในกฎหมายอาญา ในมาตรา 213 ถ้าสมาชิกอั่งยี่หรือซ่องโจรคนหนึ่งคนใดได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอุ่งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิกอั่งยี่หรือซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิด หรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงกระทำความผิดและบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการ หรือมีตำแหน่งหน้าที่ในอั่งยี่หรือซ่องโจรนั้น ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นทุกคน

จะเห็นว่ามาตรานี้ผู้ที่ต้องรับผิดไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำผิดด้วย ไม่ได้ร่วมลงมือกระทำความผิดนั้นด้วยเลย[12] ไม่ได้เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน แต่ต้องรับผิดเพราะฐานะบางอย่างเช่น เป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือเป็นสมาชิก เมื่อมีสมาชิกอื่นในอั่งยี่หรือซ่องโจรได้ไปกระทำความผิดตามความมุ่งหมายของอั่งยี่หรือซ่องโจร คนที่ไม่ได้กระทำก็ต้องรับผิดกับเขาด้วย จึงเป็นความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น

5. บทสรุป

            ความรับผิดในการการกระทำของผุ้อื่น (Vicarious Liability) คือความรับผิดที่ผู้นั้นไม่มีความผิด (Fault) เลย แต่ที่ต้องรับผิดเพราะที่ต้องรับผิดเพราะฐานะบางอย่างที่เป็นเหตุให้ต้องร่วมรับผิด เช่น นายจ้างที่ต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้าง ตัวการที่ต้องร่วมรับผิดกับตัวแทน ส่วนกรณีของบิดามารดา ผู้อนุบาล ตามมาตรา 429 และกรณีความรับผิดของครูบาอาจารย์ นายจ้าง บุคคลอื่นผู้ดูแลบุคคลผู้ไร้ความสามารถ ตามมาตรา 430 นั้นเมื่อบุคคลดังกล่าวสามารถพิสูจน์ได้ว่าได้ใช้ความระมัดระวัง หรือต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ได้ใช้ความระมัดระวังแล้วก็ไม่ต้องรับผิด จึงไม่ใช่ความรับผิดในการกระทำของผู้อื่น (Vicarious Liability) แต่เป็นความรับผิดในการกระทำของตนเองที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลผู้เยาว์ คนวิกลจริต หรือบุคคลผู้ไร้ความสามารถ

          ส่วนในทางอาญานั้นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนในการกระทำความผิด แม้จะไม่ได้เป็นผู้ลงมือกระทำความผิดเองก็ต้องรับโทษร่วมกับผู้ลงมือกระทำความผิด แต่ก็ไม่ใช่ความรับผิดในการกระทำของผู้อื่น แต่เป็นความรับผิดอันเกิดจากการกระทำของตนเอง







กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

No comments:

Post a Comment