Sunday, 6 July 2014

กฎหมายอาญา : ผู้สนับสนุน (accessory)

 ผู้สนับสนุน



 Accessory ในทางอาญาไม่ได้หมายถึง เครื่องประดับ หรือของตกแต่งตามความหมายทั่วไปนะครับ ในทางอาญาคำว่า accessory หมายถึงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ซึ่งอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ม.86 ส่วนในทางแพ่ง accessory หมายถึงอุปกรณ์ (ในเรื่องกฎหมายทรัพย์ ทรัพย์ประธาน ทรัพย์อุปกรณ์)

          ผู้สนับสนุนในทางอาญา ถือเป็นผู้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด (parties to crime) แม้จะไม่ใช่ผู้ที่ลงมือกระทำความผิดอาญาด้วยตนเองก็ตาม แต่ก็มีความรับผิดร่วมกับผู้กระทำความผิดได้ สาเหตุที่ต้องรับผิดร่วมไปกับเขานั้นเพราะการกระทำของผู้สนับสนุนเองที่ได้ให้การช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด ซึ่งกฎหมายถือว่าเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้กระทำความผิดสามารถกระทำความผิดได้สำเร็จหรือสะดวกขึ้น 

         เช่น การให้ยืมอาวุธ การให้ยืมพาหนะไปใช้ในการกระทำความผิด เป็นการกระทำที่ทำให้การกระทำความผิดของผู้ลงมือสำเร็จหรือสะดวกขึ้นนั้นเอง

        โดยปรกติการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกนั้นอาจเกิดขึ้นก่อน หรือหลังการกระทำความผิดก็ได้ แต่ในตามกฎหมายอาญาของไทยเอาผิดเฉพาะบุคคลที่ช่วยเหลือก่อนลงมือกระทำผิดหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น (ในประมวลกฎหมายอาญา ม. 86 ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อน หรือขณะกระทำความผิด


          
การจะเป็นผู้สนับสนุนได้มีหลักการสำคัญอยู่ดังนี้

          1. ต้องมีการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือ(assist) หรือให้ความสะดวก (facility)

          2. ได้ให้ความช่วยเหลือหรือความสะดวกก่อน(before) หรือขณะกระทำความผิด (late time of committing)

          3. แม้ผู้กระทำผิดจะไม่ได้รู้ถึงการช่วยเหลือนั้นก็ตาม


มีข้อสังเกตเกี่ยวกับผู้สนับสนุนหลายประการดังนี้

          (1) การช่วยเหลือแม้ผู้กระทำความผิด (Participator) จะไม่ได้รู้ถึงการช่วยเหลือเลยก็ถือเป็นผู้สนับสนุนแล้ว เช่น นายแดงเจตนาจะไปยิงนายดำ แต่ปืนของตนเองถูกขโมยไปแล้วโดยที่นายแดงไม่ทราบ นายฟ้ารู้ว่านายแดงจะไปยิงดำก็อยากช่วยนายแดงให้ฆ่านายดำได้สำเร็จ จึงเอาปืนของตนเองไปไว้ที่บ้านของนายแดง นายแดงเห็นปืนเข้าใจว่าเป็นปืนของตนเองใช้ปืนนั้นยิงนายดำตาย
          ดังนี้นายฟ้าได้ช่วยเหลือนายแดงให้กระทำความผิด แม้นายแดงจะไม่รู้ถึงการช่วยเหลือนายฟ้าก็เป็นผู้สนับสนุน

          (2) หากได้ช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิดแล้ว แต่ผู้กระทำความผิดไม่ได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือนั้นเลย ก็ไม่ถึอว่าเป็นผู้สนับสนุน เช่น จากตัวอย่างในข้อสังเกตที่ (1) นายแดงไม่ได้เอาปืนของนายฟ้าไปยิงนายดำ แต่ได้ไปซื้อปืนมาใหม่เพื่อยิงนายดำ ดังนี้นายแดงไม่ได้ประโยชน์จากการช่วยเหลือของนายฟ้า นายฟ้าจึงไม่ใช่ผู้สนับสนุน

           (3) จะเป็นผู้สนับสนุนได้ ผู้กระทำความผิดต้องได้กระทำถึงขั้นลงมือแล้ว หากไม่ได้กระทำถึงขั้นลงมือ เช่น ฟ้าให้แดงยืมปืนเพื่อนำไปยิงนายดำ แต่เมื่อแดงไปเห็นหน้าดำ สงสารจึงไม่ได้ยิง ดังนี้นายฟ้ายังไม่เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งแตกต่างจากความรับผิดของผู้ใช้ (Instigator) ที่ได้ใช้แล้วมีความผิดรับโทษหนึ่งในสามทันที

......................................................................
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา







กฎหมายอาญาภาคทั่วไป
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
กฎหมายอาญาเบื้องต้น คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาคทั่วไป อ่านเข้าใจง่าย ใช้เวลาไม่นานในการอ่านก็เข้าใจกฎหมายอาญาได้



108 คำถามกฎหมายอาญา
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือ 108 คำถามกฎหมายอาญา เล่มที่ 1 (ภาคทั่วไป) จัดทำขึ้นมาโดยผู้เขียนประสงค์จะให้นิสิต นักศึกษำ รวมถึงผู้ที่สนใจกฎหมายอาญาภาคทั่วไปได้ทบทวนความรู้เกี่ยวกับ กฎหมายอำญาภาคทั่วไป ซึ่งคำถามทั้งหมดครอบคลุมเนื้อหา กฎหมายอำญาภาคทั่วไป เป็นการเรียนกฎหมายอาญาโดยอาศัยการถามตอบ เมื่ออ่านครบแล้วจะทำให้เข้าใจกฎหมายอาญา โดยที่ไม่รู้สึกเหมือนอ่านตำรา


ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
คำอธิบายกฎหมายอาญาภาคความผิด ความผิดต่อชีวิตและร่างกาย เช่น ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนา ความผิดฐานฆ่าคนตายโดยประมาท ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ความผิดฐานทำร้ายร่างกายสาหัส




ถามตอบวิอาญา เล่ม 1
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
ถามตอบวิอาญา เนื้อหากระบวนยุติธรรมทางอาญาก่อนถึงชั้นศาล หลักการสำคัญในทางอาญา ขั้นตอนการดำเนินคดีอาญา ผู้เสียหาย อำนาจสอบสวน อำนาจฟ้องคดี การระงับคดีอาญา การจับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อย

กฎหมายสำหรับสอบตำรวจ
เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
www.mebmarket.com
หนังสือเล่มนี้มีลักษณะเป็นคำอธิบายกฎหมาย ไม่ใช่หนังสือเรียบเรียงกฎหมายที่มีแต่ตัวบทกฎหมาย พระราชบัญญัติ เนื้อหาครอบคลุม 3 วิชาหลักสำหรับการสอบตำรวจ คือ กฎหมายอาญาภาคทั่วไป กฎหมายอาญาภาคความผิด กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายพยานหลักฐาน

No comments:

Post a Comment