ตัวอย่างที่
1 หากท่านเป็นพนักงานสอบสวน
ซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ ได้รับการแจ้งจากสายตรวจทางวิทยุว่า พบศพชายไม่ทราบชื่อนอนตายอยู่ริมถนน
บริเวณที่เกิดเหตุใกล้แยกวังเหนือ ในฐานะพนักงานสอบสวนท่านทราบข้อเท็จจริงอะไรบ้าง
เราไม่มีทางจะทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในคดีอาญาได้
ไม่เหมือนกับการทำข้อสอบกฎหมายอาญาที่โจทย์หรือคำถามจะมีข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนมาให้
เราเพียงแต่นำข้อเท็จจริงในโจทย์นั้นมาวินิจฉัยกับหลักกฎหมายให้ถูกต้อง
ผิดถูกก็ว่ากันไป แต่ในการดำเนินคดีอาญาจริง ๆ กว่าข้อเท็จจริงจะปรากฏชัดเจนจนสามารถวินิจฉัยได้นั้นต้องมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่ามีการกระทำอันเป็นความผิดหรือไม่
โดยสิ่งที่สามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ คือ พยานหลักฐาน (Evidence) ดังนั้นหากจะพิสูจน์ข้อเท็จจริง (Fact) ต้องอาศัยพยานหลักฐานในการพิสูจน์ ส่วนข้อกฎหมายนั้นไม่ต้องอาศัยพยานหลักฐานในการพิสูจน์
เป็นเรื่องที่ศาลสามารถใช้ดุลพินิจในการตัดสินปัญหาข้อกฎหมายได้เลย
พยานชั้น 1 พยานชั้น 2 ไม่มีในกฎหมายไทย
แต่นำมาจากหลักกฎหมายของประเทศอังกฤษ ตามหลักที่ว่า
ต้องนำพยานหลักฐานที่ดีที่สุดมาสืบในศาล (The best Evidence) เช่นการนำสืบพยานเอกสารต้องนำต้นฉบับเอกสารมาสืบเท่านั้น
หลักการสำคัญการดำเนินคดีอาญา
General Principle of Criminal Procedure
1. แนวความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีรูปแบบของกระบวนยุติธรรมทางอาญา[2]
รัฐ (State) ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
เป็นรัฐที่ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต
อย่างเสรี เว้นแต่บางกรณี บางเรื่องเท่านั้นที่ไม่สามารถจะทำได้
ซึ่งเรื่องที่ทำไม่ได้หรือห้ามนั้นถือเป็นข้อยกเว้นของระบอบการปกครองนี้
และการที่รัฐจะจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
จะทำได้จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้นตามหลักนิติรัฐ(Legal
state) เมื่อเกิดการละเมิดต่อกฎหมายที่รัฐห้ามแล้ว(เฉพาะคดีอาญา)
รัฐจำเป็นจะต้องมีกระบวนการที่จะคุ้มครองความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนในรัฐไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากการละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว
ดังนั้นในแต่ละรัฐ จึงมีกระบวนการในการที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อคุ้มครองประชาชนคนอื่นๆ
ให้ปลอดภัยจากการกระทำละเมิดกฎหมายอาญานั้น
ในปัจจุบันนั้นมีแนวความคิดที่เกี่ยวกับการจัดรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime
Control Model) และทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due
Process Model) โดยแต่ละแนวนั้นมีความแตกต่างกันในแนวความคิดและมีความขัดแย้งกันคอยถ่วงดุล
(balance ) กันอยู่
1)
ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model)
เป็นรูปแบบที่เน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
โดยมุ่งควบคุม ระงับ
และปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก(ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องรวบรัด
และมีประสิทธิภาพ)
แม้การกระทำของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นจะกระทบกระเทือนต่อสิทธิ ของประชาชนก็ตาม
แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมแล้วย่อมทำได้ เช่น
ตำรวจเป็นผู้ออกหมายจับได้เอง มีอำนาจในการสืบสวนและสอบสวนคดีอย่างมาก
เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นเอง
รูปแบบนี้จะเน้นไปที่การควบคุมและปราบปรามอาชญากรรมอย่างเต็มที่
ส่วนเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นเป็นเรื่องรองลงไป เช่น
กระบวนการในการได้พยานหลักฐานมานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
แต่หากว่าพยานหลักฐานนั้นสามารถที่จะพิสูจน์ถึงความผิดของจำเลยได้
ศาลก็อาจจะรับฟังได้ เพื่อลงโทษจำเลย
2.
ทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process Model)
รูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ
และเป็นรูปแบบที่ยึดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม (Rule of
Law) ที่ถือค่านิยมในเรื่องกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนต่าง ๆ
ในกระบวนการต้องชอบด้วยกฎหมาย และต่อต้านการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบซึ่งมักจะเกิดจากการที่รัฐมุ่งที่จะควบคุมอาชญากรรมโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชน
เป็นเหตุให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกกระทบกระเทือนจากการปราบปรามอาชญากรรมของรัฐอย่างมาก
ดังนั้นรัฐที่ยึดถือทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย
(Due Process
Model) จึงต้องมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เน้นหนักไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและ
เสรีภาพของผู้บริสุทธิ์มิให้ถูกล่างละเมิดโดยไม่เป็นธรรมจากเจ้าพนักงานของ รัฐ
เช่น สิทธิของผู้เสียหาย สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา สิทธิของจำเลย การค้น
การจับจะต้องมีหมายซึ่งออกโดยศาล เป็นต้น
และหากบางกรณีมีพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
แต่หากว่ากระบวนการที่ได้มานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ก็ไม่อาจจะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้
แม้พยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบก็ตาม
ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยก็มีการนำหลักการของทั้ง
2 ทฤษฎีมาเป็นแนวทางในการบัญญัติเป็นกฎหมายด้วย
มาตรา
78 "พนักงานฝ่ายปกครองหรือ
ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
(1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำ
ความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 80
(2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติ
การณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น
โดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
(3)
เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตาม มาตรา 66 (2)
แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
(4)
เป็นการจับผู้ต้องหาหรือ
จำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตามมาตรา 117"
จะเห็นว่า
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 วรรคแรกบัญญัติว่า
พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลัก
Due Process
Model ต้องมีหมายของศาลเสียก่อน
ซึ่งถือว่าเป็นการคุมครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการจับหรือค้นของเจ้าหน้าที่รัฐ
โดยให้ศาลเป็นผู้คอยกลั่นกรองว่ามีเหตุอันสมควรให้ออกหมายหรือไม่
ส่วนตาม
(1) - (4) นั้นเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้สามารถปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างทันถ่วงที
ซึ่งเป็นไปตามหลัก Crime Control Model ที่เน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
จะเห็นว่าทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม
(Crime
Control Model) และทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due
Process Model) นั้น
แม้จะมีขึ้นมาเพื่อให้สังคมนั้นอยู่รวมกันอย่างสงบสุขและมีความปลอดภัยจากอาชญากรรมก็ตาม
แต่มีความแตกต่างกันในแนวความคิดอยู่ หากรัฐมุ่งที่จะควบคุมอาชญากรรมอย่างมีประสิทธิภาพเด็ดขาด
สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็จะถูกกระทบกระเทือนมากตามไปด้วย และหากรัฐมุ่งที่จะให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนมาก
การควบคุมอาชญากรรมอาจทำได้ไม่สะดวกซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพของการควบคุมอาชญากรรมก็ลดตามไปด้วย
เมื่อพิจารณาแล้วเหมือนกับว่าทั้งสองแนวความคิดทั้ง
2 แนวนั้นแตกต่างกัน จนอาจจะดูเหมือนเส้นขนานที่ไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้
หากให้น้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งอีกทางก็ต้องเอนเอียง ต่ำหรือสูงไปด้วย(เปรียบดั่ง Crime
Control Model นั้นเป็นแกน X ส่วน Due
Process Model นั้นเป็นแกน Y)
ดังนั้นจึงเป็นความยากของรัฐและนักกฎหมายที่จะหาจุดสมดุล
ระหว่างแนวคิดทั้ง 2 ทฤษฎี
เพื่อให้กระบวนการดำเนินคดีอาญาของไทยมีประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญากรรมและ
ในขณะเดียวกันก็กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้น้อยที่สุด
และเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเสรี
หากให้น้ำหนักไปทางแนวความคิดใดแนวหนึ่งย่อมเสียสมดุลของกระบวนการยุติธรรม
ทางอาญาไป
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ทฤษฎีว่าด้วยการควบคุมอาชญากรรม
(Crime Control Model) เป็นรูปแบบที่เน้นประสิทธิของกระบวนยุติธรรม
โดยมุ่งควบคุม ระงับ ปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้จะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชน
ทำให้มีสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ที่สูง นอกจากนี้มีการดำเนินคดีตามขั้นตอน
จับ ควบคุมตัว การสอบสวน การฟ้องร้อง การพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลย เป็นขั้นตอนที่รวบรัด
และมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อว่าการค้นหาความจริงโดยพนักงานตำรวจ
อัยการก็เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้กระทำมีความผิดจริง
จะเห็นได้ว่าตามทฤษฎีว่าด้วยการควบคุมอาชญากรรม
(Crime Control
Model) เน้นการการปราบปรามอาชญากรรมเป็นเรื่องหลัก
เรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นเรื่องรองลงไป ดังนั้นถ้าประเทศใดเน้นการควบคุมอาชญากรรมเป็นหลัก
กฎหมายวิธีพิจารณาความของประเทศนั้นจะมีบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก
ส่วนทฤษฎีว่าด้วยความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย
(Due Process
Model) นั้นยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ (rule
of law) และยึดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
กระบวนขั้นตอนต่าง
ๆ เช่น การจับ การค้น การควบคุมตัว การพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยต้องเป็นธรรม
และต่อต้านการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบ
ซึ่งตรงข้ามกับทฤษฎีว่าด้วยการควบคุมอาชญากรรม (Crime
Control Model) ดังนั้นถ้าประเทศใดเน้นความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย
การเป็นหลัก กฎหมายวิธีพิจารณาความของประเทศนั้นจะมีบทบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมาก
2. ระบบการพิจารณาคดีอาญา
ระบบในการพิจารณาคดีอาญาในปัจจุบันมี
2 ระบบ โดยพิจารณาตามระบบกฎหมายกฎหมาย ในระบบกฎหมายแบบคอมมอนลอว์ (Common
Law) จะใช้ระบบกล่าวหา (Adversarial system) สวนประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบ
(Civil Law) ใช้การพิจารณาแบบระบบไต่สวน (Inquisitorial
system) แม้การพิจารณาคดีอาญาจะมีขึ้นมาเพื่อพิจารณาความผิดและลงโทษจำเลยเพื่อให้เกิดความยุติธรรมก็ตาม
แต่การพิจารณาคดีอาญาทั้ง 2 ระบบก็มีความแตกต่างกันในหลาย ๆ
เรื่อง ดังต่อไปนี้
1)
แนวความคิดที่แตกต่างกัน
ระบบกล่าวหา (Adversarial
system) นั้นแนวคิดของระบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย
(แนวความคิดค่อนไปทาง Due process) ดังนั้นในระบบนี้การพิจารณาคดีจะมีกระบวนขั้นตอนต่าง
ๆ มากมายที่จะพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธ์ของผู้ถูกกล่าวหาและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่
แต่แนวความคิดของระบบไต่สวน (Inquisitorial system) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะในการที่จะดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด
(แนวคิดค่อนไปทาง Crime Control) ดังนั้นหากการดำเนินคดีอาญาเรื่องนั้นเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะ
(Public Interest) แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความก็ต้องดำเนินคดีอาญาต่อไป
ดังนั้นการที่แนวความคิดพื้นฐานที่ต่างกันนี้ทำในระบบกล่าวหาศาลมักจะวางตัวเป็นกลาง
ส่วนในระบบไต่สวนศาลจะมีบทบาทในการถามพยานเพื่อค้นหาความจริง
2.
วิธีพิจารณาที่แตกต่างกัน
ระบบกล่าวหา
(Adversarial
system) มีวิธีพิจารณาแบบเปิดเผย ทุกคนมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาได้ (เห็นได้จากห้องพิจารณาคดีของระบบนี้จะเป็นห้องใหญ่และมีที่นั่งสำหรับประชนสามารถเข้าไปฟังการพิจารณาได้
แม้ไม่ได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี) และมีวิธีพิจารณาคดีด้วยวาจา (Oral proceedings) ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากการพิจารณาแบบเปิดเผย
เพื่อให้ทุกคนที่ฟังการพิจารณาคดีได้ทราบข้อเท็จจริงในคดี และในระบบนี้มีการพิจารณาคดีแบบคู่พิพาท
(ฝ่ายที่กล่าวหากับฝ่ายที่ถูกกล่าวหา หรือโจทก์และจำเลยในคดี)
โดยที่ศาลจะวางตัวเป็นกลางและรับฟังการนำสืบของคู่พิพาทเพื่อตัดสินคดี การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระบบนี้จึงเป็นหน้าที่ของคู่พิพาท
ส่วนระบบไต่สวน
(Inquisitorial
system) มีการพิจารณาคดีด้วยลายลักษณ์อักษร ใช้เอกสารเป็นหลักในการฟ้องร้องและให้การสู้คดี
รวมถึงการชี้แจงต่าง ๆ ต่อศาลก็ทำเป็นลายลักษณ์อักษร มีการพิจารณาแบบไม่มีคู่พิพาท
มีเพียงแต่ฝ่ายผู้ไต่สวนกับผู้ถูกไต่สวน โดยที่ฝ่ายที่ถูกไต่สวนจะมีลักษณะตั้งรับ
(Passive) กระบวนการทั้งหมดมาจากฝ่ายผู้ไต่สวนเพียงฝ่ายเดียว
ดังนั้นในระบบนี้จึงมีแต่ฝ่ายที่เป็นผู้ไต่สวนกับฝ่ายที่ถูกไต่สวนเท่านั้น
นอกจากนี้ระบบไต่สวนยังมีการพิจารณาคดีแบบลับ กระบวนการไต่สวนจะไม่ทำในที่สาธารณะ
และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ทราบอะไรมากนัก บุคคลที่เป็นพยานในคดีเองก็ไม่ทราบว่าไต่สวนเรื่องอะไรและใครเป็นผู้ต้องหา
(ทั้งนี้เพื่อให้ได้ความจริงมากที่สุด)
3.
ที่มาของผู้พิพากษาต่างกัน
ระบบกล่าวหา
(Adversarial
system) ศาลในระบบกล่าวหาที่ทำหน้าที่มักจะไม่ใช่ผู้พิพากษาอาชีพในการตัดสินคดี
เนื่องจากระบบกล่าวหามีแนวคิดเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบ
ดังนั้นจึงใช้ระบบลูกขุนซึ่งเป็นประชาชนธรรมดา เมื่อคณะลูกขุนได้ฟังการพิจารณาคดีเสร็จแล้วคณะลูกขุนจะตัดสินว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่มีความผิด
(guilty or not guilty)
ส่วนระบบไต่สวน
(Inquisitorial
system) จะใช้ผู้พิพากษาอาชีพในการตัดสินคดี
เพราะการดำเนินคดีในระบบไต่สวนมีเทคนิคมากกว่าการดำเนินคดีระบบกล่าวหา
ศาลที่ทำหน้าที่ไต่สวนต้องใช้ความรู้ความสามารถในการดำเนินคดีอย่างมาก
ข้อแตกต่างนี้
ยังไม่สามารถแยกความแตกต่างของทั้งสองระบบออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด
เพราะในบางประเทศก็ใช้ผสมกัน เช่น ประเทศไทย
ที่การดำเนินคดีในศาลยุติธรรมใช้ระบบกล่าวหา แต่ศาลมาจากผู้พิพากษาอาชีพเป็นผู้คอยตัดสินผิดหรือถูก
4.
ผู้ริเริ่มคดีแตกต่างกัน
ระบบกล่าวหา
(Adversarial
system) ผู้ริเริ่มคดีจะเป็นองค์กรอื่นที่ไม่ใช่ศาล มีการแยกอำนาจฟ้องคดีออกจากอำนาจตัดสินคดีอย่างชัดเจน
เพื่อไม่ให้ศาลมีอคติในการตัดสินคดี เช่น ให้การฟ้องร้องคดีเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การอัยการ
ส่วนในระบบไต่สวน (Inquisitorial system) ผู้ฟ้องคดีจะเป็นศาลไต่สวนเอง
ผู้พิพากษามีอำนาจในการเริ่มทำการไต่สวนได้เองหากเห็นการกระทำผิด
แต่ในปัจจุบัน
ส่วนใหญ่อำนาจฟ้องคดีกับอำนาจตัดสินคดีมักจะแยกออกจากกัน
แม้ประเทศที่ใช้ระบบไต่สวน เช่น ฝรั่งเศส ก็มีการแยกอำนาจฟ้องคดีออกจากศาล
อัยการเป็นผู้มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาล
5.
วิธีการรวบรวมพยานหลักฐานต่างกัน
ระบบกล่าวหา
(Adversarial
system) คู่ความจะทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมดเพื่อนำเสนอต่อศาล
และยังต้องเปิดเผยพยานหลักฐานก่อนมีการสืบให้อีกฝ่ายได้รับรู้อีกด้วย (สังเกต ตาม
วิธีพิจารณาของไทย จะต้องมีการยื่นบัญชีระบุพยานก่อน) ส่วนในระบบไต่สวน (Inquisitorial
system) ศาลในระบบไต่ส่วนจะมีหน้าที่ในการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งปวง
6.
การดำเนินคดีรับสารภาพที่แตกต่างกัน
ระบบกล่าวหา
(Adversarial
system) ศาลจะถามคำให้การจำเลยว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ
ถ้าจำเลยรับสารภาพก็สามารถลงโทษจำเลยได้เลย
แต่ถ้าจำเลยปฏิเสธศาลก็ต้องดำเนินการสืบพยานต่อไปจนเสร็จคดี ส่วนในระบบไต่สวน
(Inquisitorial system) แม้จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลก็จะต้องดำเนินคดีไต่สวนความจริงต่อไป แต่ทั้งนี้การดำเนินคดีอาจจะไม่เต็มรูปแบบเหมือนจำเลยปฏิเสธ
การแยกความแตกต่างระหว่างระบบไต่สวน
(Inquisitorial
system) และระบบกล่าวหา(Adversarial system) หากศึกษาถึงวิวัฒนาการ
แนวคิด รวมถึงรายละเอียดของทั้งสองระบบให้ดีแล้วจะทำให้เราเข้าใจ
ระบบการดำเนินคดีมากขึ้น ทั้งสองระบบต่างก็มีข้อดีและข้อด้อยแตกต่างกัน
และถูกนำมาเป็นพื้นฐานในการพิจารณาคดีอาญาในศาลต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในศาลยุติธรรม
ศาลปกครอง รวมถึงศาลระหว่างประเทศ เช่น ศาลอาญาระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ทั้งนั้น
ในแต่ละประเทศ แม้จะใช้ระบบกล่าวหาหรือระบบไต่ส่วนเหมือนกัน
แต่รายละเอียดมักจะไม่เหมือนกัน หลาย ๆ ประเทศก็นำไปปรับเปลี่ยนให้เข้ากับระบบกฎหมายและวิธีพิจารณาของประเทศตัวเอง
แต่โดยหลักการแล้วไม่แตกต่างกัน
ส่วนหลักการดำเนินคดีอาญาของไทยนั้นใช้ระบบใดระหว่างระบบกล่าวหา
(Adversarial
system) หรือระบบไต่สวน (Inquisitorial system) ก็ต้องพิจารณาว่าการดำเนินคดีมีการแยกอำนาจฟ้องร้องออกจากอำนาจพิจารณาคดีหรือไม่
การวางตัวของศาลเป็นกรรมการหรือเป็นผู้ไต่สวนการพิจารณาคดีในศาลเปิดเผยหรือไม่ การสืบพยานนั้นกระทำด้วยวาจาหรือเอกสาร
และใช้ผู้พิพากษาอาชีพในการตัดสินคดีหรือไม่ รวมถึงมีการคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยหรือไม่
3. ความแตกต่างของคดีแพ่งกับคดีอาญา
คดีแพ่งเป็นเรื่องของการพิพาทกันระหว่างเอกชน
ไม่ได้กระทบกระเทือนถึงความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพและความสมัครใจของเอกชน
การพิจารณาคดีจึงไม่เข้มงวดเหมือนกับการพิจารณาคดีอาญา
เพราะคดีอาญาเป็นเรื่องที่กระทบต่อความสงบสุขของสังคมโดยรวม
ไม่ได้ยึดเสรีภาพและความสมัครใจของโจทก์จำเลยเหมือนกับคดีแพ่ง เช่น
ในคดีอาญาแผ่นดินนั้นแม้ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความ รัฐก็ต้องดำเนินคดีต่อไปเพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษตามกฎหมาย
ดังนั้นการดำเนินคดีอาญาจึงมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดมากกว่าคดแพ่ง
ในคดีแพ่งนั้นมาตรฐานการพิสูจน์
ใครสามารถทำให้ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายตนมีน้ำหนักมากกว่าก็ชนะคดี แต่สำหรับมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญานั้น
การพิสูจน์จะต้องทำให้ศาลที่พิจารณาคดีเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง
หากพิสูจน์ไม่ถึงหรือศาลยังสงสัยอยู่ ฝ่ายที่กล่าวอ้างก็แพ้คดี ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน
ทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง
และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และตามวรรคสองเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่
ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
การรับข้อเท็จจริงโดยคู่ความ
ในคดีแพ่ง หากคู่ความไม่ปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์ถือว่ารับ ส่วนในคดีอาญา
แม้คู่ความไม่ปฏิเสธข้อกล่าวอ้าง แต่ไม่ได้รับสารภาพ
ก็ถือว่าจำเลยปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์
ภาระการพิสูจน์ในคดีอาญาโจทก์เป็นผู้ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดอาญา
โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดจริงตามฟ้อง เช่น ในคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ
หรือจำเลยไม่ให้การใด ๆ เลย โจทก์ก็มีหน้าที่ต้องพิสูจน์ตามข้อกล่าวอ้างของโจทก์
ส่วนคดีที่จำเลยรับสารภาพโดยหลักแล้วเมื่อจำเลยรับแล้วก็ไม่ต้องสืบพยานกันอีก
เว้นเสียแต่ว่าเป็นคดีที่มีโทษหนัก
แม้จำเลยสารภาพแล้วก็ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 176 ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง
ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น
กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น
ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง
x
อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
[2] อ้างถึง เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, คำอธิบายหลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยการดำเนินคดีในขั้นตอนก่อนการพิจารณา
|
|
|
|
|
No comments:
Post a Comment