Thursday, 16 April 2015

เหตุยกเว้นโทษ : การกระทำความผิดของคนวิกลจริต ตาม ม.65



ภาพจาก https://www.sanook.com/news/7365170/



           เหตุผลที่กฎหมายยกเว้นโทษให้กับคนวิกลจริตที่กระทำความผิดอาญาก็มีเหตุผลเช่นเดียวกับการกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี และเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ที่กฎหมายถือว่ายังไร้เดียงสาไม่รู้ผิดและชอบเพราะอายุ ส่วนคนวิกลนั้นหมายถึงบุคคลมีความประพฤติหรือกิริยาผิดปรกติ หรือไม่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดี เพราะสติวิปลาส ซึ่งอาจมีสาเหตุหลายประการ เช่น ปัญญาอ่อน โรคจิตบกพร่อง เป็นต้น คนวิกลจิตกฎหมายถือว่าเป็นบุคคลที่ไม่รู้ผิดชอบ แม้จะได้กระทำความผิดอาญาไปโดยเจตนาก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงสมควรได้รับการยกเว้นโทษ เพราะกระทำความผิดไปโดยปราศจากจิตใจที่ชั่วร้ายนั้นเอง

        ในกฎหมายอาญาของไทยก็ได้บัญญัติไว้ใน ม. 65 “ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือ จิตฟั่นเฟือนผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น” จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายไทยถ้าได้กระทำความผิดในขณะที่วิกลจริตอยู่ ไม่ว่าการวิกลจริตนั้นจะมีสาเหตุเพราะจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน กฎหมายก็ยกเว้นโทษให้ แต่ต้องปรากฏว่าผู้กระทำนั้นไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองไม่ได้เลย ถ้าหากว่ายังพอรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถควบคุมตัวเองได้อยู่ กฎหมายไม่ยกเว้นโทษให้ แต่ถือเป็นเหตุลดโทษตามวรรคสอง “แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

          ตัวอย่างเช่น นายแดงป่วยเป็นโรคจิตซึ่งต้องทานยาที่จิตแพทย์สั่งทุกวัน แต่วันเกิดเหตุนายแดงไม่ได้ทานยาจึงเกิดประสาทหลอน เข้าใจว่ารถยนต์ของนายดำที่จอดอยู่ริมถนน คือ มนุษย์ต่างดาวแปลงกายมา ด้วยความกลัวนายแดงได้เอาก้อนหินขว้างใส่รถของนายดำจนกระจกแตก จะเห็นว่าการที่นายแดงเอาก้อนหินปาใส่รถของนายดำนั้น นายแดงได้กระทำความผิดโดยเจตนาเพราะรู้สำนึกในการกระทำและประสงค์ต่อผล จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่การที่นายแดงกระทำความผิดนั้นเพราะไม่รู้ผิดชอบเนื่องจากป่วยเป็นโรคจิตและไม่ทานยาทำให้อาการกำเริบ นายแดงจึงได้รับการยกเว้นโทษตาม ม.65 วรรคแรก

          แต่ทั้งนี้การจะวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นบุคคลวิกลจริตหรือไม่ ต้องให้แพทย์ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านจิตเป็นคนวินิจฉัย พนักงานสอบสวนไม่อาจจะวินิจฉัยได้ว่าใครวิกลจริตหรือไม่ เพราะไม่มีความรู้ ไม่ได้จบแพทย์มา อีกทั้งแม้จะวิกลจริตก็ต้องดูว่าตอนกระทำความผิดนั้ถึงขั้นไม่รู้ผิดชอบหรือไม่



No comments:

Post a Comment