Monday 26 February 2018

แนะนำหนังสือ ถามตอบวิอาญา


คำนำ

  ถามตอบวิอาญาเล่มนี้ทำขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนเนื้อหาให้กับผู้ที่ศึกษากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งเป็นวิชาที่ศึกษากระบวนยุติธรรมทางอาญาซึ่งมีทั้งหลักการ และวิธีปฏบัติ โดยผู้เขียนได้ตั้งคำถามและอธิบายคำตอบในหัวข้อที่สำคัญๆ และมีความจำเป็นที่ผู้ศึกษาจะต้องรู้ ในหนังสือถามตอบวิอาญาครอบคลุมเนื้อหาตั้งแต่หลักการทั่วไป ผู้เสียหาย การสอบสวน อำนาจฟ้องคดีอาญา คดีอาญาระงับ การจับ ขัง ค้น จำคุก ปล่อย และการสั่งคดีในชั้นพนักงานอัยการ การพิจารณาคดีในชั้นศาล การทำคำพิพากษา อุทธรณ์ รวมถึงฎีกา
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าหนังสือถามตอบวิอาญาเล่มนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามากขึ้น

เฉลิมวุฒิ สาระกิจ
chalermwut.up@gmail.com


ซื้อได้ที่ Ookbee และ Meb



(หากต้องการเล่มเป็นกระดาษ ราคา 250 บาท+ค่าส่ง 30 บาท)

1. วัตถุประสงค์ของการดำเนินคดีอาญาคืออะไร

เมื่อเกิดการละเมิดต่อกฎหมายที่รัฐโดยเฉพาะกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดการความสงบสุขและความเรียบร้อยของสังคม ดังนั้นรัฐจึงจำเป็นจะต้องมีกระบวนการที่จะคุ้มครองความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนในรัฐไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากการละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นในแต่ละรัฐจึงมีกระบวนการในการที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองประชาชนคนอื่น ให้ปลอดภัยจากการกระทำละเมิดกฎหมายอาญานั้น  กระบวนดังกล่าวเรียกว่า "กระบวนยุติธรรมทางอาญา" มีขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1) เพื่อปราบปรามการกระทำความผิด 
เมื่อมีความผิดเกิดขึ้นในสังคมแล้ว หากรัฐไม่ดำเนินการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ก็จะเกิดความไม่สงบสุขและไม่ปลอดภัยต่อคนในสังคม ดังนั้นรัฐจึงให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปราบปรามการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น โดยการจับ การค้น การควบคุมตัว การขัง เป็นต้น

2) เพื่อป้องกันการกระทำความผิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

การดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมายนั้น เป็นการแสดงออกให้สังคมได้รับรู้ว่า หากมีการกระทำความผิดเช่นเดียวกับผู้กระทำจะต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ซึ่งสามารถป้องกันคนที่คิดจะกระทำความผิดในอนาคตได้ และในขณะเดียวกันการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้น ก็จะทำให้ผู้กระทำความผิดได้ตะหนักว่า หากเขากระทำความผิดอาญาอีกเขาก็จะต้องถูกดำเนินคดีอาญาอีกเช่นกัน

3) เพื่อให้โอกาสผู้ที่ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสในการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง

การดำเนินคดีอาญานั้นไม่ได้มุ่งแต่จะเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นชั้นสอบสวน ชั้นศาล กฎหมายได้กำหนดสิทธิของผู้ต้องหา จำเลย ว่ามีสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างไรบ้าง เช่น สิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราว สิทธิในการมีทนายความเพื่อช่วยเหลือ สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาคำพิพากษาของศาล เป็นต้น ทั้งนี้สิทธิตามกฎหมายมีขึ้นมาเพื่อให้ผู้ที่กล่าวหาได้มีโอกาสต่อสู้คดีและพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดนั่นเอง




2. การดำเนินคดีอาญากับการดำเนินคดีแพ่งมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

การดำเนินคดีอาญานั้นเมื่อมีการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญากฎหมายอาญาเกิดขึ้น รัฐสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้ทันที ไม่ต้องไปฟ้องคดีให้ศาลตัดสินก่อน เช่น นายแดงกำลังทำร้ายร่างกายนายดำอยู่ ตำรวจสามารถจับนายแดงได้ทันที ไม่ต้องไปฟ้องศาลก่อน แต่หากมีการกระทำผิดกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น มีการผิดสัญญาเกิดขึ้น คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถที่จะใช้อำนาจได้เอง จะต้องไปฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลบังคับให้ฝ่ายที่ผิดสัญญาปฏิบัติตามสัญญา หรือกรณีละเมิดก็จะบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทันทีเลยไม่ได้
การดำเนินคดีอาญานั้นเป็นการบังคับให้เป็นไปตามโทษทางอาญา ซึ่งซึ่เป็นโทษที่บังคับกับเนื้อตัวร่างกาย หรือทรัพย์สินของผู้กระทำความผิด ซึ่งหากมีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น เป็นโทษที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ย่อมนำโทษที่กำหนดไว้มาลงได้ เช่น โทษประหารชีวิต โทษจำคุก โทษปรับ หรือริบทรัพย์สิน แต่โทษทางแพ่งไม่ได้บังคับเอากับเนื้อตัวร่ายกาย เพียงแต่ฝ่ายที่ผิดหน้าที่ทางแพ่งอาจถูกอีกฝ่ายฟ้องศาลให้บังคับให้ปฏิบัติตามสัญญา หรือหากไม่ปฏิบัติก็เรียกค่าเสียหาย




3. การดำเนินคดีอาญามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง

กฎหมายอาญานั้นเมื่อความผิดอาญาได้เกิดขึ้นรัฐสามารถใช้อำนาจตามกฎหมายได้ทันที ไม่จำต้องไปฟ้องคดีให้ศาลตัดสินก่อน ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินคดีแพ่งที่จะบังคับคดีได้ก็ต่อเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วเท่านั้น เช่น นายแดงกำลังทำร้ายร่างกายนายดำอยู่ ตำรวจสามารถจับนายแดงได้ทันที่ ไม่ต้องไปฟ้องศาลก่อน แต่การจะลงโทษนายแดงตามกฎหมายได้นั้นต้องผ่านกระบวนการพิสูจน์ว่าผู้กระทำความผิดนั้นเป็นผู้ที่ได้กระทำความผิดจริงตามขั้นตอนตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเสียก่อน โดยหลักการดำเนินคดีอาญานั้น ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะแน่ใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินคดีดังต่อไปนี้ 

ชั้นก่อนฟ้องคดี 
ก่อนที่คดีอาญาจะขึ้นสู่การพิจารณาของศาลต้องผ่านกระบวนหลายขั้นตอน โดยแต่ละขั้นตอนสร้างขึ้นมาเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อให้การดำเนินคดีกับผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำความผิดนั้นมีน้ำหนักน่าเชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิดจริง อันจะนำไปสู่การฟ้องร้องและพิจารณาลงโทษในอนาคต โดยการดำเนินคดีอาญาของไทยนั้น สามารถนำคดีอาญาไปสู่ศาลได้ 2 วิธี แยกพิจารณาดังนี้  
(1) การฟ้องคดีโดยผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทย ได้กำหนดให้ผู้เสียหายในคดีอาญามีอำนาจในการฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วย ซึ่งถือเป็นการให้สิทธิแก่ผู้เสียหายในการดำเนินคดีอาญาเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งรัฐในการดำเนินคดีอาญาให้ โดยผู้เสียหายสามารถทำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีนั้นได้เลย โดยไม่ต้องมีการสอบสวนของตำรวจ ซึ่งการฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหายนั้น มีหลักเกณฑ์ที่ผู้เสียหายจะต้องเป็นบุคคลนั้นจะต้องเป็นผู้เสียหายตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา .2(4) "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา
โดยการฟ้องคดีอาญาโดยผู้เสียหายนั้นกฎหมายกำหนดให้ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนที่จะรับฟ้องไว้พิจารณาเสมอ ซึ่งแตกต่างจากคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี (การฟ้องคดีอาญาโดยรัฐ) ที่ศาลไม่จำต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน ศาลสามารถรับฟ้องไว้พิจารณาได้เลย อยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165 วรรคท้าย ในคดีราษฎรเป็นโจทก์ ศาลมีอำนาจไต่สวนมูลฟ้องลับหลังจำเลย ให้ศาลส่งสำเนาฟ้องแก่จำเลยรายตัวไป กับแจ้งวันนัดไต่สวนให้จำเลยทราบจำเลยจะมาฟังการไต่สวนมูลฟ้อง โดยตั้งทนายให้ซักค้านพยานโจทก์ด้วยหรือไม่ก็ได้ หรือจำเลยจะไม่มาแต่ตั้งทนายมาซักค้านพยานโจทก์ก็ได้ ห้ามมิให้ศาลถามคำให้การจำเลยและก่อนที่ศาลประทับฟ้องมิให้ถือว่าจำเลยอยู่ในฐานะเช่นนั้น 
(2) การฟ้องคดีอาญาโดยพนักงานอัยการ การฟ้องคดีอาญาโดยพนักงานอัยการถือเป็นการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐเป็นผู้ดำเนินคดีอาญาทั้งหมด เริ่มตั้งแต่การร้องทุกข์กล่าวโทษ เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว พนักงานสอบสวนจะเริ่มทำการสอบสวนความผิด โดยออกหมายเรียกให้ผู้ต้องหามาให้การ หากไม่มาตามหมายก็ต้องมีการออกหมายจับต่อไป ซึ่งการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐ 





1) ขั้นตอนการร้องทุกข์กล่าวโทษ 
ในคดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวหรือความผิดอันยอมความได้ ผู้เสียหายต้องไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในกำหนดเวลาสามเดือนนับแต่รู้ถึงความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด มิฉะนั้นถือว่าคดีขาดอายุความ เพราะความผิดต่อส่วนตัวนี้ ความประสงค์ของผู้เสียหายถือเป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดี หากผู้เสียหายไม่ร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็ไม่สามารถดำเนินคดีอาญาได้ แต่หากความผิดนั้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน หรือความผิดอันยอมความไม่ได้ ผู้เสียหายไม่จำต้องไปร้องทุกข์ก่อน หากมีการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีอาญาได้เลย

2) ขั้นตอนการสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐาน 
เมื่อมีการร้องทุกข์กล่าวโทษแล้วขั้นตอนต่อไปคือการสอบสวน ในการดำเนินคดีอาญาโดยรัฐนั้นกฎหมายห้ามไม่ให้พนักงานอัยการฟ้องคดีหากคดีนั้นไม่ได้มีการสอบสวนโดยชอบ ซึ่งแตกต่างจากการฟ้องคดีอาญาโดยเอกชนผู้เสียหายที่ไม่จำต้องมีการสอบสวนก่อน เอกชนผู้เสียหายสามารถฟ้องคดีต่อศาลได้ทันที แต่คดีอาญาที่ผู้เสียฟ้องเองนั้นต้องมีการไต่สวนมูลฟ้องเสมอทั้งนี้เพื่อเป็นการกลั่นกรองคดีที่จะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล โดยผู้ที่มีอำนาจทำการสอบสวนคือพนักงานสอบสวน การสอบสวนนั้นคือการที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมหลักฐานทุกชนิด เท่าที่สามารถจะทำได้ เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา เพื่อจะรู้ตัวผู้กระทำผิดและพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา 
การดำเนินการในชั้นสอบสวนนั้นพนักงานสอบสวนจะต้องทำการแจ้งข้อหาให้แก่ผู้ต้องหาได้ทราบว่าเขาทำผิดข้อหาอะไร และจะต้องแจ้งสิทธิต่าง ตามกฎหมายให้แก่ผู้ต้องหาทราบด้วยเช่นกัน เช่น สิทธิที่จะไม่ให้การใด เลยก็ได้ สิทธิในการมีทนายความหากผู้ต้องหาไม่มีทนายความรัฐก็ต้องจัดหาให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย รวมถึงการได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวน ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องควบคุมผู้ต้องหาไว้เพื่อทำการสอบสวนต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินคดี ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ต้องหานั้นได้มีสิทธิในการต่อสู่คดีได้อย่างเต็มที่ 
เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จ พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบต้องสรุปสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นว่าควรสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการสั่งคดีต่อไป 





3) ขั้นตอนการสั่งคดีของพนักงานอัยการ 
การสั่งคดีเป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการซึ่งทำหน้าที่ในฐานะที่เป็นทนายความแผ่นดิน ดำเนินคดีในชั้นศาลแทนรัฐ การสั่งคดี คือ การที่พนักงานอัยการใช้ดุลพินิจการสั่งคดีอาญาว่าคดีอาญาที่เกิดขึ้นนั้นมีมูลที่จะฟ้องร้องต่อศาลต่อไปหรือไม่ โดยพิจารณาจากสำนวนการสอบสวนที่พนักงายสอบสวนได้ส่งมา พร้อมพยานหลักฐานที่รวบรวมมาทั้งหมด หากพนักงานอัยกาเห็นว่าคดีอาญานั้นไม่มีมูลที่จะฟ้องร้อง พนักงานอัยการอาจมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมได้ หรือหากว่าพนักงานอัยการเห็นว่าตามสำนวนการสอบสวนและพยานหลักฐานนั้นเป็นที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดจริง ก็มีคำสั่งฟ้องคดีและนำตัวผู้ต้องหาไปส่งฟ้องยังศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป 





ชั้นพิจารณาคดีและพิพากษา 
เมื่อคดีที่พนักงานอัยการยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแล้ว หรือในคดีที่เอกชนผู้เสียหายยื่นฟ้องต่อศาลและศาลได้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล จึงมีประทับรับฟ้องไว้พิจารณา ถือได้ว่าคดีอาญานั้นเข้าสู่การพิจารณาของศาลแล้ว การพิจารณาคดีอาญาในศาลนั้นต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพจารณาความอาญา โดยที่การค้นหาความจริงในคดีเป็นเรื่องของคู่ความ(โจทก์และจำเลย) โดยที่ศาลวางตัวเป็นกลางคอยทำหน้าที่ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิดกติกา ซึ่งมีลักษณะเป็นการพิจารณาคดีในระบบกล่าวหา ซึ่งแยกขั้นตอนในชั้นศาลออกเป็น 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนของการพิจารณา(สืบพยาน) และขั้นตอนของการทำคำพิพากษา 
1) การพิจารณาคดีอาญาในศาล ในการพิจารณาคดีอาญานั้นมีหลักการที่สำคัญอยู่หลายประการดังนี้ 
การพิจารณาและสืบพยานในศาลจะต้องให้ทำโดยเปิดเผย หมายความว่า ประชาชนโดยทั่วไปสามารถเข้าไปฟังการพิจารณาคดีอาญาของศาลได้ ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบการพิจารณาของศาลว่าเป็นไปโดยยุติธรรมหรือไม่ และการสืบพยานจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลยด้วย ทั้งนี้เพื่อให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เพราะหากจำเลยไม่ทราบว่าพยานการซัดทอดตนอย่างไร อาจทำให้เสียเปรียบในการสู้คดีได้ เว้นแต่ความผิดบางฐานคามผิดเท่านั้นที่ศาลอาจมีคำสังให้พิจารณาเป็นการลับได้ เช่น คดีเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับเพศที่ต้องรักษาไว้ซึ่งชื่อเสียงเกียรติยศของผู้เสียหาย เป็นต้น 
สิทธิในการมีทนายความในชั้นศาล การดำเนินคดีอาญานั้นนอกจากจะมุ่งปราบปรามการกระทำความผิดแล้ว ยังต้องให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยอีกด้วย ซึ่งในชั้นพิจารณาคดีของศาลก็เช่นเดียวกัน โดยกฎหมายได้คุ้มครองสิทธิของจำเลยไว้สิทธิในการมีทนายความเพราะถือว่าทนายความนั้นเป็นผู้ที่จะคอยมาพิทักษ์สิทธิของจำเลยให้การต่อสู้คดีในชั้นศาล เช่น การนำพยานมาหักล้างพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ซึ่งรวมถึงการซักค้านด้วย การขอให้ศาลปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างการพิจารณา รวมถึงช่วยเหลือจำเลยในการอุทธรณ์ ฎีกาต่อไป 
การพิจารณาคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ หมายถึง คดีนั้นเมื่อศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟังแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดจริงตามฟ้อง ศาลอาจไม่ต้องพิจารณาสืบพยานในคดีนั้นอีกต่อไปอีกก็ได้ ซึ่งเป็นไปตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 “ในชั้นพิจารณา ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ เว้นแต่คดีที่มีข้อหาในความผิดซึ่งจำเลยรับสารภาพนั้น กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง    
ในคดีที่มีจำเลยหลายคน และจำเลยบางคนรับสารภาพ เมื่อศาลเห็นสมควรจะสั่งจำหน่ายคดี สำหรับจำเลยที่ปฏิเสธเพื่อให้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ปฏิเสธนั้นเป็นคดีใหม่ภายในเวลาที่ศาลกำหนดก็ได้” 
2) การทำคำพิพากษา เมื่อศาลได้พิจารณาและสืบพยานในคดีเสร็จสิ้นแล้ว ศาลต้องทำคำพิพากษาเพื่อชี้ขาดคดีว่าจะตัดสินประการใด หากเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์มีน้ำหนักมากพอจนแน่ใจได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง ศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลย (ถือว่าโจทก์ชนะคดี) แต่หากว่าในคดีนั้นศาลเห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องของโจทก์ หรือตามน้ำหนักพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ยังเป็นที่สงสัยอยู่ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ยกความประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ศาลก็ต้องพิพากษายกฟ้อง (ถือว่าจำเลยชนะคดี

การยื่นอุทรณ์ ฎีกา 
สำหรับคู่ความ (โจทก์หรือจำเลย) ที่ไม่พอใจในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้น อาจอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งดังกล่าวต่อศาลต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้มี คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น โดยจะต้องยื่นอุทธรณ์ต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ซึ่งในการอุทธรณ์หรือฎีกานั้นมีหลักการอยู่หลายประการที่คู่ความจะต้องปฏิบัติตาม เช่น การอุทธรณ์จะต้องเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริง ซึ่งปัญหาเกี่ยวกับข้อกฎหมายนั้นคู่ความสามารถอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์หรือฎีกาได้ทุกกรณี แต่ปัญหาข้อเท็จจริงนั้นคู่ความจะต้องพิจารณาตาม . 193 ทวิ ในกรณีของการฎีกาก็ต้องพิจารณาตาม . 218 

ชั้นบังคับโทษ 
เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า โดยที่ศาลชั้นต้นมีหน้าที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาให้ลงโทษประหาร ชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ไปยังศาลอุทธรณ์ในเมื่อไม่มีการอุทธรณ์ คำพิพากษานั้นและคำพิพากษาเช่นว่านี้จะยังไม่ถึงที่สุด เว้นแต่ ศาลอุทธรณ์จะได้พิพากษายืน 
โดยที่โทษทางอาญา คือ สภาพบังคับของกฎหมายอาญา ตามมาตรา 18 ได้กำหนดโทษสำหรับผู้ทำความผิดอาญาไว้ 5 สถาน ซึ่งโทษแต่ละสถานก็มีวิธีการในการบังคับโทษที่แตกต่างกัน



4. ระบบการพิจารณาแบบไต่สวนกับแบบกล่าวหาแตกต่างกันอย่างไร

ระบบกล่าวหา (Adversarial system) แนวคิดของระบบกล่าวหาตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหา (แนวความคิดค่อนไปทาง Due process) แต่แนวคิดของระบบไต่สวน(Inquisitorial system) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะในการที่จะดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด การที่แนวความคิดพื้นฐานที่ต่างกันนี้ทำในระบบกล่าวหาศาลจะวางตัวเป็นกลาง ส่วนระบบไต่สวนศาลจะมีบทบาทในการถามพยาน เพื่อค้นหาความจริง
วิธีพิจารณาคดีของศาลที่ใช้ระบบกล่าวหา (Adversarial system) มีวิธีพิจารณาแบบเปิดเผย ทุกคนมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาได้ และใช้การสืบพยานด้วยวาจา ซึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณาแบบเปิดเผย เพื่อให้ทุกคนที่ฟังการพิจารณาคดีได้ทราบ และมีการพิจารณาคดีแบบคู่พิพาท โดยที่ศาลจะวางตัวเป็นกลางและรับฟังคู่พิพาทเพื่อตัดสิน การพิสูจน์เป็นหน้าที่ของคู่พิพาท ส่วนศาลที่ใช้ระบบไต่สวน (Inquisitorial system) จะมีการพิจารณาคดีด้วยลายลักษณ์อักษร การพิจารณาเป็นแบบไม่มีคู่พิพาท โดยที่ฝ่ายมีแต่ฝ่ายไต่สวนกับฝ่ายที่ถูกไต่สวนเท่านั้น และในระบบไต่สวนมีการพิจารณาคดีแบบลับ กระบวนการไต่สวนจะไม่ทำในที่สาธารณะ และไม่เปิดเผยเหมือนกับศาลที่ใช้ระบบการพิจารณาแบบกล่าวหา



5. ระบบการพิจารณาคดีอาญาของไทยเป็นระบบใด

ระบบการพิจารณาคดีในศาลไทยใช้ระบบใดในการพิจารณานั้นต้องพิจารณาจากบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เช่น มาตรา 172 "การพิจารณาและสืบพยานในศาลให้ทำโดยเปิดเผยต่อหน้าจำเลย เว้นแต่บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" จากบทบัญญัตินี้แสดงว่าการพิจารณาคดีในศาลของไทยเป็นการพิจารณาที่เอาแนวความคิดมาจากศาลในระบบกล่าวหา เพราะเป็นการพิจาณาและสืบพยานโดยเปิด หากเป็นการพิจารณาคดีในศาลไต่สวนจะต้องเป็นการพิจารณาแบบลับ และการพิจารณาจะต้องกระทำต่อหน้าจำเลยอีกด้วย ส่วนการพิจารณาคดีของศาลในระบบไต่สวนนั้นไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย
แต่อย่างไรก็ตามใน มาตรา 235 "ในระหว่างการพิจารณาถ้าศาลเห็นสมควรศาลมีอำนาจถามโจทก์ จำเลย หรือพยานคนใดได้" ซึ่งจากบทบัญญัติดังกล่าวแสดงว่า ศาลไม่จำต้องคอยให้คู่ความนำสืบเท่านั้น หากเห็นว่าสมควรจะถามพยานเองก็สามารถถามได้ ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวมาจากศาลในระบบไต่สวนที่ศาลมีอำนาจถามพยานเองได้
จากตัวอย่างของบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น แสดงให้เห็นว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของไทยก็ไม่ได้เน้นเป็นระบบใดระบบหนึ่งอย่างชัดเจน แต่แนวความคิดค่อนไปทางระบบกล่าวหา เพราะได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายอังกฤษซึ่งใช้ระบบการพิจารณาแบบกล่าวหา เนื่องจากนักกฎหมายในยุคแรก นั้นส่วนใหญ่จบจากโรงเรียนกฎหมายของประเทศอังกฤษนั่นเอง



6. หลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายคืออะไร

หลักการดำเนินคดีอาญาตามตามกฎหมาย (Legality Principle) นั้น เมื่อมีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น และการกระทำนั้นครบองค์ประกอบความผิดอาญาแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดและต้องถูกดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้เริ่มดำเนินคดีกับผู้ที่ได้การทำความผิดทุกกรณี โดยจะมีผู้ร้องทุกข์หรือไม่ ก็ต้องทำการสอบสวนฟ้องร้องผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดและเข้าสู่กระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่างนั้น ไม่สามารที่จะใช้ดุลพินิจไปในทางอื่นได้ ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้เท่านั้น และเมื่อฟ้องคดีต่อศาลแล้วอัยการจะถอนฟ้องคดีผู้นั้นต่อศาลไม่ได้ จะต้องดำเนินคดีจนกว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งเป็นหลักประกันความเท่าเทียมกันทางกฎหมายของประชาชน ว่าเมื่อใดก็ตาม หากมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แล้วประชาชนที่ได้กระทำความผิดนั้นจะต้องถูกดำเนินคดีและเข้าสู่กระบวนยุติธรรมอย่างเดียวกัน  และการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดทุกกรณีนั้นยังเป็นการป้องกันการใช้อิทธิพลเพื่อแทรกแซงการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐและกระบวนยุติธรรมด้วย และเมื่อเข้าสู่กระบวนยุติธรรมแล้ว ย่อมไม่อาจจะยุติการดำเนินคดีได้ เพราะถือว่าคดีได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้วตามหลักเปลี่ยนแปลงมิได้ซึ่งถือเป็นหลักประกันในทางอาญา และเมื่อพิจารณาตามหลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย (Legality Principles) แล้วจะเห็นว่ามาจากแนวคิดทฤษฎีแก้แค้น ซึ่งเปรียบเสมือนการดำเนินคดีอาญาของรัฐนั้นเปรียบเสมือนเป็นการแก้แค้นทดแทน ผู้ที่ได้กระทำความผิดแทนผู้เสียหาย 
การฟ้องคดีของอัยการในระบบนี้นั้นการพิจารณาว่าฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า การกระทำของผู้กระทำความผิดหรือผู้ที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นการกระทำครบองค์ประกอบความผิดอาญาครบถ้วนหรือไม่ หากพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ต้องหาได้กระทำครบองค์ประกอบความผิดจริงก็ต้องฟ้องผู้ต้องหานั้นต่อศาลเสมอ และในบางกรณีหากอัยการสั่งไม่ฟ้องคดี ศาลก็มีอำนาจที่จะเรียกสำนวนการสอบสวนไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และหากศาลมีความเห็นแตกต่างจากอัยการ ศาลก็มีอำนาจสั่งให้อัยการฟ้องคดีอาญาเรื่องนั้นต่อศาลได้ 
หลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย (Legality Principles) นั้นถือว่าเป็นหลักประกันความเสมอภาคให้กับประชาชนทุกคน หากมีการกระทำครบองค์ประกอบความผิดอาญาแล้ว ผู้นั้นต้องถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะกระทำความผิดด้วยเหตุใดก็ตาม ดังนั้นทำให้ตัดปัญหาเรื่องการใช้อิทธิพลในการเข้าแทรกแซงกระบวนยุติธรรม เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนยุติธรรมก่อนจะถึงชั้นศาลไม่อาจจะใช้ดุลยพินิจในการไม่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่มีมูลได้ แต่หลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายนั้นมีข้อเสีย คือ ไม่มีการกลั่นกรองคดีที่ขึ้นสู่ศาลทำให้มีประมาณที่ขึ้นสู่ศาลมีจำนวนมาก และเป็นการฟ้องคดีตามกฎหมายนั้นทำให้อัยการไม่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดี จะมีหน้าที่เพียงแต่เป็นผู้นำจำเลยฟ้องคดีต่อศาลเท่านั้น และเป็นการดำเนินคดีที่แข็งกระด้างเกินไปทำให้การดำเนินคดีอาญานั้นไม่ยืดหยุ่นและอาจไม่เหมาะสมกับสภาวะทางสังคม






7. หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจคืออะไร

หลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลพินิจ (Opportunity Principle) เป็นหลักที่ตรงกันข้ามกับหลักการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมาย ซึ่งให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจในการไม่ดำเนินคดีอาญาที่มีมูล ซึ่งปรากฏตามการสอบสวนและพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กระทำความผิด หรือมีมูลว่าน่าจะกระทำความผิด ซึ่งอัยการสามารถใช้ดุลยพินิจเป็นคดีๆ ไป โดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในแต่ละเรื่อง หากมีเหตุที่ไม่สมควรจะฟ้องผู้ต้องหารายนั้นต่อศาล  เช่น อายุ บุคลิกภาพลักษณะ สภาพแวดล้อมของผู้กระทำผิดและองค์ประกอบอื่น ซึ่งทำให้อัยการสามารถที่จะใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีกับผู้ต้องหารายนั้นได้ และจากหลักการดำเนินคดีอาญาตามดุลยพินิจนี้แม้อัยการจะได้ฟ้องคดีอาญาต่อศาลแล้ว หากเห็นว่าไม่ควรจะดำเนินคดีอาญากับจำเลยนั้นอีกต่อไป อัยการก็สามารถถอนฟ้องคดีนั้นจากศาลได้    
เนื่องจากการดำเนินคดีตามกฎหมายนั้นเป็นการเข้มงวดเกินไป ไม่เปิดโอกาสให้มีการกลั่นกรองคดีที่จะขึ้นสู่ศาล การที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในกระบวนยุติธรรมทางอาญา โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้อัยการสามารถใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ฟ้องคดีมีมูลได้นั้น เป็นการคลายความเข้มงวดของการดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีการลงโทษในปัจจุบันที่ได้เปลี่ยนแปลงไป จากการลงโทษที่มุ่งแก้แค้นทดแทน ซึ่งเรียกว่าทฤษฎีแก้แค้น (retributive theory) มาเป็นการลงโทษโดยมุ่งเพื่อการป้องกันทั่วไป”(General Prevention)4 กล่าวคือ การลงโทษควรกระทำเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเห็นว่าสังคมส่วนใหญ่ไม่ได้นิ่งดูดายกับการกระทำความผิดอันนั้น และเป็นการเตือนบุคคลที่ยังไม่ได้กระทำความผิดให้ตระหนักว่าหากเขาได้กระทำความผิด เขาอาจะจะต้องถูกดำเนินคดี และการลงโทษยังต้องเหมาะสมกับการกระทำความผิดและความชั่วของผู้กระทำเพื่อเปิดโอกาสให้เขาได้ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้นกลับตัวกลับใจไม่กระทำความผิดต่อไป ซึ่งเป็นการลงโทษโดยมีจุดประสงค์เฉพาะการป้องกันพิเศษ” (Special Prevention)   
ข้อดีของการฟ้องคดีของอัยการที่สามารถใช้ดุลพินิจในการดำเนินคดีอาญาได้อย่างยืดหยุ่น เพื่อปรับให้เข้ากับสภาพสังคมแลเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้อัยการสามารถที่จะกลั่นกรองคดีอาญาก่อนขึ้นสู่ศาลได้ หากคดีใดอัยการเห็นว่าการไม่ฟ้องคดีอาญาเรื่องนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมมากกว่า ก็จะช่วยกั่นกรองคดีที่ไม่สมควรจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ช่วยให้คดีอาญาไม่ล้นศาล และการสั่งไม่ฟ้องคดีมีมูลของอัยการยังสามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาสังคม โดยเฉพาะคดีอาญาที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง ที่ต่างฝ่ายต่างอาศัยกฎหมายอาญาเพื่อโจมตีอีกฝ่ายหนึ่ง และคดีความผิดทางการเมืองนั้น ซึ่งผู้กระทำความผิดมีความแต่ต่างจากผู้กระทำความผิดอาญาทั่วไป อัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีความผิดอาญาทางการเมืองที่มีมูลได้ 



8. รูปแบบการจัดกระบวนยุติธรรมทางอาญามีกี่ประเภท อะไรบ้าง


ในปัจจุบันนั้นมีแนวความคิดที่เกี่ยวกับการจัดรูปแบบของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอยู่ด้วยกัน 2 รูปแบบด้วยกัน คือ ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) และทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process Model)  โดยแต่ละแนวนั้นมีความแตกต่างกันในแนวความคิดและมีความขัดแย้งกันคอยถ่วงดุลกันอยู่ 
1) ทฤษฎีการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) เป็นรูปแบบที่เน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยมุ่งควบคุม ระงับ และปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก(ขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องรวบรัด และมีประสิทธิภาพ) แม้การกระทำของเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นจะกระทบกระเทือนต่อสิทธิ ของประชาชนก็ตาม แต่เพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมแล้วย่อมทำได้ เช่น ตำรวจเป็นผู้ออกหมายจับได้เอง มีอำนาจในการสืบสวนและสอบสวนคดีอย่างมาก เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นเอง 
รูปแบบนี้จะเน้นไปที่การควบคุมและปราบปรามอาชญกรรมอย่างเต็มที่ ส่วนเรื่องการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลนั้นเป็นเรื่องรองลงไป เช่น กระบวนการในการได้พยานหลักฐานมานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากว่าพยานหลักฐานนั้นสามารถที่จะพิสูจน์ถึงความผิดของจำเลยได้ ศาลก็อาจจะรับฟังได้ เพื่อลงโทษจำเลย 
2) ทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process Model) เป็นรูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่ยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ และเป็นรูปแบบที่ยึดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามหลักนิติธรรม (Rule of Law) ที่ถือค่านิยมในเรื่องกระบวนการยุติธรรมตามขั้นตอนต่าง ในกระบวนการต้องชอบด้วยกฎหมาย และต่อต้านการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบซึ่งมักจะเกิดจากการที่รัฐมุ่งที่จะควบคุมอาชญากรรมโดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชน เป็นเหตุให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนถูกกระทบกระเทือนจากการปราบปรามอาชญากรรมของรัฐอย่างมาก 
ดังนั้นรัฐที่ยึดถือทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย(Due Process Model) จึงต้องมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เน้นหนักไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและ เสรีภาพของผู้บริสุทธิ์มิให้ถูกล่างละเมิดโดยไม่เป็นธรรมจากเจ้าพนักงานของ รัฐ เช่น สิทธิของผู้เสียหาย สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา สิทธิของจำเลย การค้น การจับจะต้องมีหมายซึ่งออกโดยศาล เป็นต้น และหากบางกรณีมีพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ แต่หากว่ากระบวนการที่ได้มานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่อาจจะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ แม้พยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบก็ตาม



9. คดีอาญามีกี่ประเภทและแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร

การแบ่งประเภทคดีอาญานั้นพิจารณาจากอำนาจในการดำเนินคดีอาญา ซึ่งพิจารณาจากผู้เสียหายเป็นสำคัญ โดยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทดังนี้ 

คดีอาญาความผิดอันยอมความได้ 
ความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว  หมายถึง คดีอาญาประเภทซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อเอกชนคนหนึ่งคนใดเป็นส่วนตัว มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือสังคมเป็นและความผิดใดจะเป็นความผิด อาญาอันยอมความได้นั้น กฎหมายจะต้องระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ เช่น ความผิดฐานยักยอก ฉ้อโกง หมิ่นประมาท ทำให้เสียทรัพย์ อนาจาร ข่มขืนกระทำชำเรา ออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงิน เป็นต้น 
ความผิดอาญาอันยอมความได้นี้เจ้าพนักงานของรัฐจะดำเนินคดีได้ก็ต่อเมื่อผู้ เสียหายร้องทุกข์ (แจ้งความ) ต่อเจ้าพนักงานตามกฎหมายเสียก่อน และต้องร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด สำหรับคดีความผิดอันยอมความได้นี้ หากผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้ต้องหาต่อไป ก็สามารถถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง หรือยอมความได้ ซึ่งก็จะเป็นผลให้คดีดังกล่าวระงับไป 

คดีอาญาความผิดอาญาอันยอมความไม่ได้ 
ความผิอันยอมความไม่ได้หรือความผิดอาญาแผ่นดิน หมายถึง คดีอาญาประเภทที่นอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหายโดยตรงแล้ว ยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและสังคมโดยส่วนรวมอีกด้วย ความผิดอาญานอกจากที่กฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความ ได้แล้ว จะเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทั้งสิ้น เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ฆ่าคนอื่น วางเพลิงเผาทรัพย์ ขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น ซึ่งความผิดอาญาแผ่นดินนี้ แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ก็ไม่ทำให้คดีอาญานั้นระงับไป รัฐสามารถดำเนินกับคดีกับผู้กระทำผิดต่อไปได้ โดยที่ผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องร้องทุกข์ก่อนแต่อย่างใด และความผิดอันยอมความไม่ได้นี้กฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้มีการไกล่เกลี่ยหรือยอมความกันได้เลย






10. คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาคือคดีที่มีลักษณะใด

          คดีอาญาที่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องทางแพ่ง เรียกว่าคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาการกระทำของผู้กระทำนั้นเป็นทั้งความผิดอาญาและเป็นการทำละเมิดในทางแพ่งเช่นเดียวกัน ในทางอาญาผู้กระทำต้องถูกลงโทษตามกฎหมายอาญา แต่ใช่ว่าเมื่อเขารับโทษทางอาญาแล้วเขาจะไม่ต้องรับผิดทางละเมิดเลย แต่เดิมนั้น เมื่อศาลพิพากษให้โจทก์ชนะคดีแล้ว ผู้เสียหายจะไปฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อศาลแพ่ง เป็นคดีแพ่งแยกต่างหากจากคดีอาญา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินคดีนาน เนื่องจากส่วนใหญ่ต้องรอให้ศาลในคดีอาญามีคำพิพากษาเสียก่อน อีกทั้งการที่ผู้เสียหายต้องไปฟ้องเป็นคดีแพ่งเองนั้นมีก่อให้เกิดภาระแก่ผู้เสียหาย ทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ค่าเดินทาง รวมถึงค่าป่วยการต่าง ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับผู้เสียหาย จึงเกิดแนวความคิดให้ศาลที่พิจารณาคดีอาญามีคำพิพากษาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในทางละเมิดให้เสร็จไปทีเดียว ไม่ต้องไปฟ้องต่อศาลแพ่งเป็นคดีต่างหากอีก 



11. ผู้เสียหายคือใคร
เหยื่อของอาชญากรรม (victim of crime) คือบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากการกระทำความผิดหรืออาชญากรรม ซึ่งอาชญากรรมส่วนใหญ่ไม่ว่าจะร้ายแรงเพียงใดก็มักจะมีผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมนั้นเสมอ เว้นแต่อาชญากรรมบางอย่างที่ตัวผู้กระทำความผิดเป็นเหยื่อเอง เช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย คนที่ถูกทำร้ายก็คือเหยื่อ ความผิดฐานข่มขื่นกระทำชำเราคนที่ถูกข่มขืนก็คือเหยื่อ แต่สำหรับความผิดฐานทำให้ตนแท้งลูก หญิงที่ทำให้ตนแท้งลูกแม้จะได้รับความเสียหายเนื่องจากการทำแท้งก็ไม่ใช่เหยื่อ (victim)  
  เหยื่อของอาชญากรรมนั้นมีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีอาญา ทั้งในเรื่องของการร้องทุกข์ การฟ้องคดี และเป็นพยานในชั้นศาล รวมถึงในปัจจุบันมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองเหยื่อของอาชญากรรมมากขึ้น ซึ่งในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เรียกเหยื่อของอาชญากรรมว่าผู้เสียหาย” 
ผู้เสียหายหรือเหยื่อของอาชญากรรม (victim) เป็นบุคคลที่ได้รับความเสียหายเนื่องมาจากความผิดหรืออาชญากรรม ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(4) ได้ให้ความหมายของ "ผู้เสียหาย" หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหาย เนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจ จัดการแทนได้ดั่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 4 มาตรา 5 และ มาตรา 6 ดังนั้นจากบทบัญญัติของกฎหมายผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มี 2 ประเภท คือ 1. ผู้เสียหายที่แท้จริง และ 2.ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย 




12. การจะพิจารณาว่าผู้ใดเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่มีหลักเกณฑ์อย่างไร


ผู้เสียหายที่แท้จริง หมายถึง บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดอาญา ในฐานนั้นโดยตรงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงหรือไม่ พิจารณาจากหลักเกณฑ์ 3 ประการ ดังนี้ 
1) ได้มีความผิดอาญาฐานใดฐานหนึ่งเกิดขึ้นหรือไม่ โดยพิจารณาตาม ประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอาญาอื่น โดยที่ผู้ที่จะเป็นผู้เสียหายในความผิดที่ยังไม่เกิดนั้นไม่ได้ 
2) บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้รับความเสียหาย จากการกระทำความผิดนั้นโดยตรง โดยพิจารณาก่อนว่ากฎหมายอาญาในเรื่องนั้นๆ มุ่งประสงค์จะคุ้มครองใคร เอกชนหรือส่วนรวม ในกรณีที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองเอกชน เช่น ความผิดฐานลักทรัพย์ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ความผิดเกี่ยวกับการใช้เช็ค ความผิดเหล่านี้กฎหมายมุ่งคุ้มครองประโยชน์ของเอกชนดังนั้นผู้ที่เป็นผู้เสียหายก็คือ เจ้าของทรัพย์ ผู้ปกครอง หรือผู้ทรงเช็ค เป็นต้น ส่วนกรณีที่กฎหมายมุ่งคุ้มครองส่วนรวม เอกชนไม่อาจเป็นผู้เสียหายได้ เช่น ความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ความผิดฐานทำลายพยานหลักฐาน ...199 ความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติด ความผิดตามพระราชกำหนดกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ความผิดเหล่านี้รัฐมุ่งคุ้มครองความสงบสุขของประชาชนส่วนร่วม ดังนั้นผู้เสียหายคือรัฐเท่านั้น เอกชนไม่อาชเป็นผู้เสียหายได้ 
แต่ในบางกรณีเอกชนก็ถือว่าเป็นผู้เสียหายได้ เช่น การจดสมรสซ้อน ซึ่งเป็นความผิดฐานฐานแจ้งความเท็จ คู่สมรสเดิมเสียหาย คู่สมรสใหม่ก็เป็นผู้เสียหาย ตาม ...137 และรัฐก็เป็นผู้เสียหายด้วย 
3) บุคคลนั้นเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้มาจากแนวคำพิพากษาศาลฎีกา (มาจากหลักสากลที่ว่า "บุคคลควรมาศาลด้วยมืออันบริสุทธิ์") ดังนั้นแม้บุคคลนั้นเป็นผู้เสียหายโดยตรงจากความผิดอาญาตามข้อ 2) มาแล้วก็ตาม หากเขาไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยแล้วก็ไม่อาจเป็นผู้เสียหายตาม . 2(4)



13. ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้แก่ผู้ใดบ้าง

ผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ได้แก่ บุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายที่แท้จริงในเรื่องต่างๆ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 “บุคคลดั่งระบุไว้ใน มาตรา 4, มาตรา 5 และ มาตรา 6 มีอำนาจจัดการต่อ ไปนี้แทนผู้เสียหายตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ใน มาตรา นั้น  
(1) ร้องทุกข์ 
(2) เป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญา หรือเข้ารวมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ 
(3) เป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา 
(4) ถอนฟ้องคดีอาญาหรือคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา 
(5) ยอมความในคดีความผิดส่วนตัวโดยแยกพิจารณาบุคคลที่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเป็นกรณีดังต่อไปนี้

ผู้มีอำนาจจัดการแทนโดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก่อน
ตามมาตรา 4 วรรค 2 หญิงมีสามีอาจอนุญาตให้สามีจัดการแทนได้ เว้นแต่เป็นกรณีตาม .5 ไม่ต้องได้รับอนุญาตเลย มาตรา 4 ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นหญิงมีสามี หญิงนั้นมีสิทธิ ฟ้องคดีได้เอง โดยมิต้องได้รับอนุญาตของสามีก่อน 
ภายใต้บังคับแห่ง มาตรา 5 (2) สามีมีสิทธิฟ้องคดีอาญาแทน ภริยาได้ ต่อเมื่อได้รับอนุญาตโดยชัดแจ้งจากภริยา” 
กรณีตามวรรคแรก เป็นการยืนยันว่าหญิงมีสามีสามารถจัดการคดีอาญาเองได้ ส่วนกรณีตามวรรคสอง สามีสามารถจัดการแทนภริยาได้หากได้รับความยินยอมโดยชัดแจ้ง (แต่ในทางกลับกันภริยาไม่มีสิทธิจัดการแทนสามี) และจะต้องเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น 
  ผู้มีอำนาจจัดการแทนโดยผลของกฎหมาย ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายก่อน 
กรณีตาม มาตรา 5 บุคคลเหล่านี้จัดการแทนผู้เสียหายได้   
(1) ผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาล เฉพาะแต่ในความผิดซึ่ง ได้กระทำต่อผู้เยาว์ หรือผู้ไร้ความสามารถซึ่งอยู่ในความดูแล    
(2) ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน สามีหรือภริยา เฉพาะแต่ในความผิด อาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจะ จัดการเองได้    
(3) ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ของนิติบุคคล เฉพาะความผิด ซึ่งกระทำลงแก่นิติบุคคลนั้น” 
  กรณีตาม .5 (1) ผู้แทนโดยชอบธรรมตาม หมายถึง ผู้แทนโดยชอบธรรมตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เช่น บิดามารดา (บิดาต้องชอบด้วยกฎหมาย) ผู้ปกครอง ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้อนุบาล อำนาจจัดการแทนตาม .5 (1) เป็นกรณีที่ผู้เยาว์หรือคนไร้ความสามารถยังมีชีวิตอยู่ หากตายบุคคลที่มีอำนาจเป็นไปตาม .5 (2) และหากบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ผู้มีอำนาจจัดการแทนคือทั้ง 5 (1) และ 5 (2)  
ผู้เยาว์ร้องทุกข์เองได้ ถ้ามีความรู้สึกผิดชอบแล้ว (อายุพอสมควร) แต่จะฟ้องคดีหรือขอเข้าเป็นโจทย์ร่วมกับอัยการนั้นไม่ได้ แม้จะได้รับความยินยอมก็ตาม 
กรณีตาม .5 (2) เฉพาะกรณีผู้เสียหายที่แท้จริงถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ ถ้าความตายไม่ได้เป็นผลมาจากการทำร้ายไม่เข้ามาตรานี้ เช่น ถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บแต่ตายเพราะเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยโรคอื่น เช่นนี้ไม่ใช่กรณีตาม มาตรา 5 (2)  
ผู้บุพการี คือ ญาติสืบสายโลหิตขึ้นไป บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด ฯลฯ บุคคลอื่นแม้จะเป็นญาติใกล้ชิดก็ไม่มีสิทธิเพราะไม่ใช่บุพการี เช่น ป้าที่หลานถูกฆ่าตาย น้องชายถูกฆ่าตายพี่ชายก็ไม่มีสิทธิในการดำเนินคดี มีข้อสังเกตคือ กรณีของบิดาแม้เป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม หากว่า ตามความเป็นจริงแล้วเป็นบิดาตามสายโลหิตก็ถือว่าเป็นบุพการี 
ผู้สืบสันดาน คือ ญาติสืบสายโลหิตลงมา ลูก หลาน เหลน ฯลฯ โดยถือตามความเป็นจริงเช่นกัน เช่น บิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายถูกฆ่าตาย ลูกมีสิทธิจัดการแทนบิดาได้ 
ส่วนสามีภริยาจะต้องชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกับกรณีของมาตรา 4   
การที่ผู้มีอำนาจจัดการแทนจะเข้ามาดำเนินคดีแทนผู้ตายได้นั้น ผู้ตายต้องเป็นผู้เสียหายอย่างแท้จริงเสียก่อน หากไม่ใช่แล้วก็ไม่มีสิทธิ นอกจาก .5 (2) แล้ว กรณีความผิดฐานหมิ่นประมาท..มาตรา 333 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้ ถ้าผู้เสียหายในความผิดฐานหมิ่นประมาทตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย” 
กรณีตาม .5 (3) ผู้จัดการแทน/ผู้แทนอื่นๆ ในกรณีที่ผู้จัดการแทนหรือผู้แทนทำผิดต่อนิติบุคคลเอง บุคคลอื่นซึ่งเป็นผู้เสียหาย อาจเป็นผู้เสยหายตาม . 2 (4) ด้วย เช่น กรรมการยักยอกทรัพย์บริษัท กรรมการไม่ฟ้องคดีอาญา ผู้ถือหุ้นเสียหายอาจฟ้องคดีอาญาเองได้ 

ผู้มีอำนาจจัดการแทนโดยได้รับอนุญาตจากศาล 
กรณีตาม มาตรา 6 “ในคดีอาญาซึ่งผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ไม่มีผู้แทนโดย ชอบธรรมหรือเป็นผู้วิกลจริตหรือคนไร้ความสามารถไม่มีผู้อนุบาล หรือซึ่งผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้อนุบาลไม่สามารถจะทำการตามหน้าที่โดยเหตุหนึ่งเหตุใด รวมทั้งมีผลประโยชน์ขัดกันกับผู้เยาว์ หรือคนไร้ความสามารถนั้น ญาติของผู้นั้นหรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งเขาเป็นผู้แทนเฉพาะคดีได้ เมื่อได้ไต่สวนแล้วให้ศาลตั้งผู้ร้องหรือบุคคลอื่นซึ่งยินยอมตามที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนเฉพาะคดี เมื่อไม่มีบุคคลใดเป็นผู้แทนให้ศาลตั้งพนักงานฝ่ายปกครองเป็นผู้แทน ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมในเรื่องขอตั้งเป็นผู้แทนเฉพาะคดี 














No comments:

Post a Comment