Wednesday 7 March 2018

จับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว

จับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว


     ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดนั้น รัฐมีความจำเป็นต้องให้อำนาจแก่ตำรวจ อัยการ และศาลในการที่จะควบคุมตัวผู้กระทำความผิดไว้ เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ในคดี เช่น การสอบสวน การพิจารณาคดี แต่ทั้งนี้ การดำเนินคดีอาญาย่อมส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น การการจับ การค้น ควบคุมตัว การขัง จำคุก รวมถึงการปล่อยตัวชั่วคราว จึงต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและกระทบกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด

1. หมายเรียกและหมายอาญา

1) หมายเรียก

     มาตรา 52 การที่จะให้บุคคลใดมาที่พนักงานสอบสวนหรือมาที่พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่หรือมาศาลเนื่องในการสอบสวน การไต่สวนมูลฟ้อง การพิจารณาคดี หรือการอย่างอื่น ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้จักต้องมีหมายเรียกของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ หรือของศาล แล้วแต่กรณี
     แต่ในกรณีที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปทำการสอบสวนด้วยตนเอง ย่อมมีอำนาจที่จะเรียกผู้ต้องหาหรือพยานมาได้โดยไม่ต้องออกหมายเรียก
    หมายเรียกนั้นเป็นเครื่องมือของตำรวจ เพื่อเรียกให้บุคคลใดมาเพื่อทำการสอบสวน เมื่อบุคคลใดได้รับหมายเรียกแล้วก็จะต้องมาตามหมายเรียก เพราะหากมีการขัดหมายเรียกแล้ว ตามกฎหมายให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี ซึ่งเป็นเหตุที่จะขอให้ศาลออกหมายจับได้

2) หมายอาญา

     มาตรา 1 (9) "หมายอาญา" หมายความถึงหนังสือบงการซึ่งออกตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้สั่งให้เจ้าหน้าที่ทำการ จับ ขัง จำคุก หรือปล่อยผู้ต้องหา จำเลยหรือนักโทษ หรือให้ทำการค้น รวมทั้งสำเนาหมายเช่นนี้อันได้รับรองว่าถูกต้อง และคำบอกกล่าวทางโทรเลขว่าได้ออกหมายจับแล้ว ตลอดจนสำเนาหมายจับหรือหมายค้นที่ได้ส่งทางโทรสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 77
หมายอาญามีหลายประเภท โดยองค์กรที่ทำหน้าที่ในการออกหมายได้แก่ศาล ทั้งนี้เพื่อให้ศาลได้ตรวจสอบก่อนว่าการจะจับ จะค้น จำคุก หรือปล่อยบุคคลใดนั้นมีเหตุตามกฎหมายหรือไม่ หากบุคคลที่ขอหมายอาญาไม่สามารถแสดงพยานหลักฐานพอสมควรให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุที่จะออกหมาย โดยหลักแล้วศาลก็จะไม่ออกหมายอาญาให้ การที่กฎหมายให้อำนาจศาลในการออกหมายอาญานั้น ก็เพื่อให้เป็นองค์กรที่คอยตรวจสอบการใช้อำนาจของตำรวจ อัยการ และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

2. การจับ

     การจับโดยปกติแล้วต้องมีหมายจับ ตาม มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ ซึ่งการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีหมายจับนั้นถือเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้อำนาจจับบุคคลได้โดยอำเภอใจ
     การจับโดยมีหมายจับ
     เหตุที่จะออกหมายจับ ตามมาตรา 66 เหตุที่จะออกหมายจับได้มี ดังต่อไปนี้
          (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญา ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หรือ
          (2) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาและมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุอันตรายประการอื่น
ถ้าบุคคลนั้นไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือไม่มาตามหมายเรียกหรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ให้สันนิษฐานว่าบุคคลนั้นจะหลบหนี

     การจับโดยไม่ต้องมีหมายจับ
     มาตรา 78 พนักงานฝ่ายปกครองหรือ ตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ เว้นแต่
          (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 80
          (2) เมื่อพบบุคคลโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นน่าจะก่อเหตุร้ายให้เกิดภยันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่น โดยมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถอาจใช้ในการกระทำความผิด
          (3) เมื่อมีเหตุที่จะออกหมายจับบุคคลนั้นตาม มาตรา 66 (2) แต่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจขอให้ศาลออกหมายจับบุคคลนั้นได้
         (4) เป็นการจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีหรือจะหลบหนีในระหว่างถูกปล่อยชั่วคราวตาม มาตรา 117

     เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้าดังได้บัญญัติไว้ใน มาตรา 80
มาตรา 80 ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้านั้น ได้แก่ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ
     อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดั่งระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าความผิดนั้นเป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีดั่งนี้
         (1) เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดั่ง ผู้กระทำโดยมีเสียงร้องเอะอะ
         (2) เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิด ในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้นและมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิดหรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานได้ว่า ได้ใช้ในการกระทำผิด หรือมีร่องรอยพิรุธเป็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น
     ตามวรรคหนึ่งนั้นถือความผิดซึ่งหน้าโดยแท้ เพราะเห็นกำลังกระทำความผิดสด ๆ ส่วนตามวรรคสองนั้นเป็นความผิดที่ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้า เพราะไม่ได้เห็นกำลังกระทำความผิด แต่เป็นพฤติการณืที่ถือว่ากระทำความผิดซึ่งหน้า แต่ทั้งนี้ตามวรรคสองต้องเป็นความผิดที่อยู่ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมาย
     บุคคลที่มีอำนาจในการจับโดยหลักแล้วคือเจ้าพนักงาน เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ราษฎรเป็นผู้จับได้ มาตรา 79 ราษฎรจะจับผู้อื่นไม่ได้เว้นแต่จะเข้าอยู่ในเกณฑ์แห่ง มาตรา 82 หรือเมื่อผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ด้วย
     การจับในที่รโหฐาน มาตรา 81 ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตาม บทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน ซึ่งหมายความว่าต้องมีหมายค้นด้วย
ที่รโหฐาน ตาม มาตรา 1 (13) "ที่รโหฐาน" หมายความถึงที่ต่าง ๆ ซึ่งมิใช่ที่สาธารณสถาน ดั่งบัญญัติไว้ในกฎหมายลักษณะอาญา ดังนั้นที่รโหฐานก็คือสถานที่ที่ไม่ใช่สาธารณะ เป็นสถานที่ส่วนบุคคล (Private)

3. การควบคุมตัวและการขัง

     มาตรา 71 เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตาม มาตรา 87 หรือ มาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติใน มาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
     การขอให้ปล่อยตัวจากการขังที่ไม่ชอบ ตามมาตรา 90 เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้อง ถูกคุมขังในคดีอาญาหรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ
     (1) ผู้ถูกคุมขังเอง,
     (2) พนักงานอัยการ,
     (3) พนักงานสอบสวน,
     (4) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี,
     (5) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
        เมื่อได้รับคำร้องดั่งนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูลศาลมี อำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดง ให้เป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที

4. การค้น

     การค้นแยกพิจารณาเป็น 2 กรณี คือ การค้นในที่สาธารณะกับการค้นในที่รโหฐาน โดยปรกติการค้นในที่สาธารณะไม่ต้องมีหมายค้น แต่การค้นในที่รโหฐานต้องหมายค้น
การค้นบุคคลในที่สาธารณะ
     มาตรา 93 ห้ามมิให้ทำการค้นบุคคลใดในที่สาธารณสถาน เว้นแต่ พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจเป็นผู้ค้นในเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่า บุคคลนั้นมีสิ่งของในความครอบครองเพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรือซึ่งได้มาโดยการกระทำความผิดหรือซึ่งมีไว้เป็นความผิด
     จะเห็นได้ว่าการค้นตัวบุคคลในที่สาธารณะนั้นไม่ต้องมีหมายค้นก็จริง แต่ใช่ว่าตำรวจหรือฝ่ายปกครองจะมีสิทธิค้นได้ทุกกรณี กฎหมายให้อำนาจค้นได้เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยเท่านั้น แต่ทั้งนี้ผู้เขียนเห็นว่า เป็นอัตวิสัยของเจ้าพนักงานอย่างมาก หากเจ้าพนักงานต้องการค้นตัวบุคคลก็ย่อมอ้างได้เสมอว่ามีเหตุอันควรสงสัย
การค้นในที่รโหฐาน
โดยหลักแล้วการค้นในที่รโหฐานต้องมีหมายค้นหรือคำสั่งศาล ตาม มาตรา 92 ห้ามมิให้ค้นในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นหรือคำสั่งของศาล แต่ทั้งนี้หากปรากฎเหตุดังต่อไปนี้เจ้าพนักงานตำรวจหรือฝ่ายปกครองมีอำนาจค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้น
(1) เมื่อมีเสียงร้องให้ช่วยมาจากข้างในที่รโหฐาน หรือมีเสียงหรือพฤติการณ์อื่นใดอันแสดงได้ว่ามีเหตุร้ายเกิดขึ้นในที่รโหฐานนั้น
(2) เมื่อปรากฏความผิดซึ่งหน้ากำลังกระทำลงในที่รโหฐาน
(3) เมื่อบุคคลที่ได้กระทำความผิดซึ่งหน้า ขณะที่ถูกไล่จับหนีเข้าไปหรือมีเหตุอันแน่นแฟ้นควรสงสั ยว่าได้เข้าไปซุกซ่อนตัวอยู่ในที่รโหฐานนั้น
(4) เมื่อมีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่มีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยการกระทำความผิด หรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อจะใช้ในการกระทำความผิด หรืออาจเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์การกระทำความผิดได้ซ่อนหรืออยู่ในนั้น ประกอบทั้งต้องมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมา ได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายหรือทำลายเสียก่อน
(5) เมื่อที่รโหฐานนั้นผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และการจับนั้นมีหมายจับหรือจับตาม มาตรา 78
เหตุที่จะออกหมายค้น
มาตรา 69 เหตุที่จะออกหมายค้นได้มีดั่งต่อไปนี้
(1) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งจะเป็นพยานหลักฐานประกอบการ สอบสวนไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา
(2) เพื่อพบและยึดสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยผิด กฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าได้ใช้หรือตั้งใจจะใช้ในการกระทำ ความผิด
(3) เพื่อพบและช่วยบุคคลซึ่งได้ถูกหน่วงเหนี่ยวหรือกักขัง โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
(4) เพื่อพบบุคคลซึ่งมีหมายให้จับ
(5) เพื่อพบและยึดสิ่งของตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งศาล ในกรณีที่จะพบหรือจะยึดโดยวิธีอื่นไม่ได้แล้ว

5. การปล่อยชั่วคราว

การปล่อยชั่วคราว คือ กรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยถูกขังโดยหมายของศาลในชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น หรือในชั้นอุทธรณ์ฎีกา โดยหลักแล้วก่อนที่ศาลที่จะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดย่อมสันนิษฐานไว้ก่อนว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้น การปล่อยชั่วคราวจึงเป็นสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลย ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ต้องหาและจำเลยได้มีโอกาสต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งการขังในระหว่างการดำเนินคดีนั้นยังเป็นการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ทั้งที่ตามกฎหมายยังสันนิษฐานเขาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
     มาตรา 106 คำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันหรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน ไม่ว่าผู้นั้นต้องควบคุมหรือขังตามหมายศาล ย่อมยื่นได้โดยผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้องดังนี้
     (1) เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมอยู่และยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี
     (2) เมื่อผู้ต้องหาต้องขังตามหมายศาลและยังมิได้ถูกฟ้องต่อศาล ให้ยื่นต่อศาลนั้น
     (3) เมื่อผู้ต้องหาถูกฟ้องแล้ว ให้ยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น
     (4) เมื่อศาลอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์แล้ว แม้ยังไม่มีการยื่นอุทธรณ์ หรือฎีกา หรือมีการยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วแต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้ยื่นต่อศาลขึ้นต้นที่ชำระคดีนั้น ในกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรให้ปล่อยชั่วคราว ให้ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตมิฉะนั้นให้รีบส่งคำร้องพร้อมสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ดศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี
     (5) แต่ศาลส่งสำเนาไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาแล้ว จะยื่นต่อศาลชั้นต้นที่ชำระคดีนั้น หรือจะยื่นต่อศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา แล้วแต่กรณีก็ได้
ในกรณีที่ยื่นต่อศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้อง ไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเพื่อสั่ง แล้วแต่กรณี

บุคคลที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว

คำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยชั่วคราวศาล ย่อมยื่นได้โดยผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง หมายความว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยยื่นเอง หรือคนที่มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ซึ่งหมายถึง บุคคลที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งอาจจะเป็นผู้บุพการี บิดามารดา ผู้สืบสันดาน สามี ภริยา ญาติพี่น้อง หรือบุคคลมีความสัมพันธ์ในทางอื่น

เงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราว

คำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องมีประกันหรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกัน นั้นหมายความว่า ตามกฎหมายไม่ได้บังคับศาลว่าทุกคดีที่จะมีการปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันหรือไม่มีประกัน และในกรณีที่มีประกันต้องมีหลักประกัน
      แต่ทั้งนี้ หากในคดีมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ แต่ในคดีอย่างอื่นจะปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกันเลย หรือมีประกัน หรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้

หลักประกัน

     มีเงินสดมาวาง, มีทรัพย์อย่างอื่นมาวาง, มีบุคคลมาเป็นหลักประกันโดยแสดงหลักทรัพย์ แต่ทั้งนี้การเรียกประกันหรือหลักประกัน จะเรียกจนเกินควรแก่กรณีมิได้

การปล่อยชั่วคราวคดีที่มีอัตราโทษจำคุกเกินสิบปี

     มาตรา 109 ในกรณีที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยต้องหาหรือถูกฟ้องใน ความผิดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปี ถ้ามีคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างสอบสวนหรือระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ศาลจะต้องถามพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ หรือโจทก์ว่าจะคัดค้านประการใดหรือไม่ ถ้าไม่อาจถามได้โดยมีเหตุอันควร ศาลจะงดการถามเสียก็ได้แต่ต้องบันทึกเหตุนั้นไว้
   

No comments:

Post a Comment