Wednesday 28 March 2018

พยานหลักฐานในคดีอาญา



รัฐ (State) ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นรัฐที่ต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ประชาชนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต อย่างเสรี เว้นแต่บางกรณี บางเรื่องเท่านั้นที่ไม่สามารถจะทำได้ ซึ่งเรื่องที่ทำไม่ได้หรือห้ามนั้นถือเป็นข้อยกเว้นของระบอบการปกครองนี้ และการที่รัฐจะจำกัดสิทธิ เสรีภาพของประชาชน จะทำได้จะต้องมีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้นตามหลักนิติรัฐ(Legal state) เมื่อเกิดการละเมิดต่อกฎหมายที่รัฐห้ามแล้ว(เฉพาะคดีอาญา) รัฐจำเป็นจะต้องมีกระบวนการที่จะคุ้มครองความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยของประชาชนในรัฐไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนจากการละเมิดต่อกฎหมายดังกล่าว ดังนั้นในแต่ละรัฐ จึงมีกระบวนการในการที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพื่อคุ้มครองประชาชนคนอื่นๆ ให้ปลอดภัยจากการกระทำละเมิดกฎหมายอาญานั้น

ดังนั้นรัฐที่ยึดถือทฤษฎีความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process Model) จึงต้องมีกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เน้นหนักไปในทางที่คุ้มครองสิทธิและ เสรีภาพของผู้บริสุทธิ์มิให้ถูกล่างละเมิดโดยไม่เป็นธรรมจากเจ้าพนักงานของ รัฐ เช่น สิทธิของผู้เสียหาย สิทธิของผู้ถูกกล่าวหา สิทธิของจำเลย การค้น การจับจะต้องมีหมายซึ่งออกโดยศาล เป็นต้น และหากบางกรณีมีพยานหลักฐานชิ้นสำคัญในการที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ แต่หากว่ากระบวนการที่ได้มานั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่อาจจะรับฟังเพื่อลงโทษจำเลยได้ แม้พยานหลักฐานนั้นเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบก็ตาม
จะเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 78 วรรคแรกบัญญัติว่า พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับหรือคำสั่งของศาลนั้นไม่ได้ ซึ่งเป็นไปตามหลัก Due Process Model ต้องมีหมายของศาลเสียก่อน ซึ่งถือว่าเป็นการคุมครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการจับหรือค้นของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยให้ศาลเป็นผู้คอยกลั่นกรองว่ามีเหตุอันสมควรให้ออกหมายหรือไม่ ส่วนตาม (1) - (4) นั้นเป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้สามารถปราบปรามอาชญากรรมได้อย่างทันถ่วงที ซึ่งเป็นไปตามหลัก Crime Control Model ที่เน้นการส่งเสริมประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
เมื่อพิจารณาแล้วเหมือนกับว่าทั้งสองแนวความคิดทั้ง 2 แนวนั้นแตกต่างกัน จนอาจจะดูเหมือนเส้นขนานที่ไม่อาจจะอยู่ร่วมกันได้ หากให้น้ำหนักไปทางใดทางหนึ่งอีกทางก็ต้องเอนเอียง ต่ำหรือสูงไปด้วย(เปรียบดั่ง Crime Control Model นั้นเป็นแกน X ส่วน Due Process Model นั้นเป็นแกน Y) ดังนั้นจึงเป็นความยากของรัฐและนักกฎหมายที่จะหาจุดสมดุล ระหว่างแนวคิดทั้ง 2 ทฤษฎี เพื่อให้กระบวนการดำเนินคดีอาญาของไทยมีประสิทธิภาพในการควบคุมอาชญากรรมและ ในขณะเดียวกันก็กระทบกระเทือนสิทธิเสรีภาพของบุคคลให้น้อยที่สุด และเปิดโอกาสให้ต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเสรี หากให้น้ำหนักไปทางแนวความคิดใดแนวหนึ่งย่อมเสียสมดุลของกระบวนการยุติธรรม ทางอาญาไป
สรุปได้ว่า ทฤษฎีว่าด้วยการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) เป็นรูปแบบที่เน้นประสิทธิของกระบวนยุติธรรม โดยมุ่งควบคุม ระงับ ปราบปรามอาชญากรรมเป็นหลัก หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีได้จะส่งผลกระทบต่อความสงบสุขเรียบร้อยของประชาชน ทำให้มีสถิติการจับกุมดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดที่ที่สูง นอกจากนี้มีการดำเนินคดีตามขั้นตอน จับ ควบคุมตัว การสอบสวน การฟ้องร้อง การพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลย เป็นขั้นตอนที่รวบรัด และมีประสิทธิภาพ โดยเชื่อว่าการค้นหาความจริงโดยพนักงานตำรวจ อัยการก็เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่าผู้กระทำมีความผิดจริง
จะเห็นได้ว่าตามทฤษฎีว่าด้วยการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) เน้นการการปราบปรามอาชญากรรมเป็นเรื่องหลัก เรื่องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเป็นเรื่องรองลงไป ดังนั้นถ้าประเทศใดเน้นการควบคุมอาชญากรรมเป็นหลัก กฎหมายวิธีพิจารณาความของประเทศนั้นจะมีบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่มาก ส่วนทฤษฎีว่าด้วยความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process Model) นั้นยึดหลักกฎหมายเป็นสำคัญ (rule of law) และยึดการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ กระบวนขั้นตอนต่าง ๆ เช่น การจับ การค้น การควบคุมตัว การพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยต้องเป็นธรรม และต่อต้านการใช้อำนาจรัฐที่ไม่ชอบ ซึ่งตรงข้ามกับทฤษฎีว่าด้วยการควบคุมอาชญากรรม (Crime Control Model) ดังนั้นถ้าประเทศใดเน้นความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย การเป็นหลัก กฎหมายวิธีพิจารณาความของประเทศนั้นจะมีบทบัญญัติให้ความคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมาก
ระบบกล่าวหา (Adversarial system) นั้นแนวคิดของระบบนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการประกันสิทธิเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลย (แนวความคิดค่อนไปทาง Due process) ดังนั้นในระบบนี้การพิจารณาคดีจะมีกระบวนขั้นตอนต่าง ๆ มากมายที่จะพิสูจน์ความผิดหรือบริสุทธ์ของผู้ถูกกล่าวหาและเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ แต่แนวความคิดของระบบไต่สวน (Inquisitorial system) ตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะในการที่จะดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำผิด (แนวคิดค่อนไปทาง Crime Control) ดังนั้นหากการดำเนินคดีอาญาเรื่องนั้นเป็นเรื่องของประโยชน์สาธารณะ (Public Interest) แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความก็ต้องดำเนินคดีอาญาต่อไป
ระบบกล่าวหา (Adversarial system) มีวิธีพิจารณาแบบเปิดเผย ทุกคนมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาได้ (เห็นได้จากห้องพิจารณาคดีของระบบนี้จะเป็นห้องใหญ่และมีที่นั่งสำหรับประชนสามารถเข้าไปฟังการพิจารณาได้ แม้ไม่ได้เป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดี) และมีวิธีพิจารณาคดีด้วยวาจา (Oral proceedings) ซึ่งทั้งนี้ก็เป็นผลมาจากการพิจารณาแบบเปิดเผย เพื่อให้ทุกคนที่ฟังการพิจารณาคดีได้ทราบข้อเท็จจริงในคดี และในระบบนี้มีการพิจารณาคดีแบบคู่พิพาท (ฝ่ายที่กล่าวหากับฝ่ายที่ถูกกล่าวหา หรือโจทก์และจำเลยในคดี) โดยที่ศาลจะวางตัวเป็นกลางและรับฟังการนำสืบของคู่พิพาทเพื่อตัดสินคดี การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระบบนี้จึงเป็นหน้าที่ของคู่พิพาท
ส่วนระบบไต่สวน (Inquisitorial system) มีการพิจารณาคดีด้วยลายลักษณ์อักษร ใช้เอกสารเป็นหลักในการฟ้องร้องและให้การสู้คดี รวมถึงการชี้แจงต่าง ๆ ต่อศาลก็ทำเป็นลายลักษณ์อักษร มีการพิจารณาแบบไม่มีคู่พิพาท มีเพียงแต่ฝ่ายผู้ไต่สวนกับผู้ถูกไต่สวน โดยที่ฝ่ายที่ถูกไต่สวนจะมีลักษณะตั้งรับ (Passive) กระบวนการทั้งหมดมาจากฝ่ายผู้ไต่สวนเพียงฝ่ายเดียว ดังนั้นในระบบนี้จึงมีแต่ฝ่ายที่เป็นผู้ไต่สวนกับฝ่ายที่ถูกไต่สวนเท่านั้น นอกจากนี้ระบบไต่สวนยังมีการพิจารณาคดีแบบลับ กระบวนการไต่สวนจะไม่ทำในที่สาธารณะ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะไม่ทราบอะไรมากนัก บุคคลที่เป็นพยานในคดีเองก็ไม่ทราบว่าไต่สวนเรื่องอะไรและใครเป็นผู้ต้องหา (ทั้งนี้เพื่อให้ได้ความจริงมากที่สุด)



ในคดีแพ่งนั้นมาตรฐานการพิสูจน์ ใครสามารถทำให้ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานฝ่ายตนมีน้ำหนักมากกว่าก็ชนะคดี แต่สำหรับมาตรฐานการพิสูจน์ในคดีอาญานั้น การพิสูจน์จะต้องทำให้ศาลที่พิจารณาคดีเชื่อได้ว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง หากพิสูจน์ไม่ถึงหรือศาลยังสงสัยอยู่ ฝ่ายที่กล่าวอ้างก็แพ้คดี ดังที่ปรากฏในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน ทั้งปวงอย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริง และจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และตามวรรคสองเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย
พยานหลักฐานเป็นสิ่งที่เรานำมาพิสูจน์ข้อเท็จจริง(ข้อกฎหมายไม่ต้องใช้พยานหลักฐาน) ที่โจทก์หรือจำเลยกล่าวอ้างเพื่อแสดงให้ศาลเชื่อว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่กล่าวอ้างนั้น หากศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่า(ศาลรับฟังพยานหลักฐาน) ก็จะตัดสินให้ฝ่ายนั้นชนะคดี ตามมาตรฐานการพิสูจน์ของประเภทคดี เช่น ในคดีแพ่งหากพยานหลักฐานฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ศาลก็จะตัดสินให้ชนะคดี แต่หากเป็นคดีอาญา โจทก์ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้เชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงจึงจะชนะคดี หากศาลสงสัยศาลก็อาจจะยกประโยชน์ความสงสัยแก่จำเลยได้
พยานวัตถุ และพยานเอกสารที่ศาลจะรับฟังได้นั้นต้องเป็นพยานหลักฐานชนิดที่มิได้เกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบประการอื่น ซึ่งหมายความว่า หากพยานวัตถุหรือพยานเอกสารนั้นแต่เดิมนั้น ไม่มีอยู่ แต่เพราะได้เกิดมีขึ้นมาเพราะการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่นนั้นเอง เช่น แต่เดิมจำเลยไม่ได้จำหน่ายแผ่นซีดีปลอมและไม่มีเจตนาจะจำหน่าย แต่เพราะโจทก์ไปจูงใจให้จำเลยทำปลอมขึ้นมา จำเลยจึงทำแผ่นปลอมมาจำหน่ายให้โจทก์ โจทก์จึงนำแผ่นปลอมนั้นมาอ้างเป็นพยานหลักฐานยันจำเลยในคดีนี้ไม่ได้ เพราะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดจากการจูงใจ
พยานวัตถุและพยานเอกสารนั้นหากได้มาโดยการจับ การค้น ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น การจับ การค้น โดยไม่หมายค้นหรือหมายจับที่ออกโดยศาลอย่างถูกต้อง หรือไม่ใช่กรณีที่จับหรือค้นโดยไม่มีเหตุที่ค้นหรือจับโดยไม่มีหมาย หากการค้นหรือการจับโดยไม่ชอบนั้นเป็นเหตุให้ได้มาซึ่งพยานวัตถุหรือพยานเอกสาร ก็ไม่อาจอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ อ้างไปศาลก็ถูกห้ามมิให้รับฟัง แม้เป็นพยานหลักฐานนั้นเกิดขึ้นโดยชอบ แต่เพราะการได้มาซึ่งพยานหลักฐานนั้นไม่ชอบ กฎหมายจึงห้ามไม่ให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานนั้น เช่น ตำรวจสืบทราบมาว่านายแดงเป็นผู้ค้ายาบ้ารายใหญ่ แต่ด้วยความรีบร้อนกลัวว่านายแดงจะรู้ตัวเสียก่อน จึงไม่ทันได้ไปขอให้ศาลออกหมายค้นบ้านนายแดง แต่จากการค้นบ้านนายแดงตำรวจได้พบยาบ้าจำนวน 2 กระสอบ ยาบ้า 2 กระสอบที่เป็นพยานวัตถุนี้จะใช้เป็นพยานหลักฐานได้เพียงใดหรือไม่
คำรับสารภาพของผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นพยานซึ่งแตกต่างจากพยานวัตถุและพยานเอกสาร เพราะเป็นถ้อยคำ(ภาษาอังกฤษเรียกว่า Intangible Evidence) หากว่าเกิดขึ้นด้วยความสมัครใจ(Voluntary) แล้ว ย่อมเป็นพยานหลักฐานในคดีอาญาได้ คำรับสารภาพนั้นจะต้องเป็นคำรับสารภาพที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ (ตามหลักMiranda Rule) จึงจะเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ หากคำรับสารภาพนั้นเกิดขึ้นด้วยความไม่สมัครใจ (Involuntary) ย่อมเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ ดังนั้นถ้าคำรับสารภาพที่เกิดขึ้นจากความไม่สมัครใจ เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบ จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226
ในทางกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามีหลักการประการสำคัญอยู่ข้อหนึ่งเรียกว่า "สิทธิจะไม่ให้การอันเป็นปฏิปักษ์ต่อตนเองอันอาจทำให้ถูกฟ้องคดี" หรือเรียกว่า เขามีสิทธิที่จะไม่ให้การปลักปรำตัวเอง ดังนั้นเมื่อเขามีสิทธิที่จะไม่ให้การใดๆ เลยก็ย่อมทำได้ เป็นสิทธิของจำเลย การจะบังคับให้จำเลยให่้การย่อมเป็นการกระทำที่จำเลยไม่สมัครใจ ถ้อยคำดังกล่าวก็รับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้ ดังนั้นการที่จะให้จำเลยให้การซัดทอดจำเลยเองรวมถึงจำเลยคนอื่นด้วย ย่อมเป็นการขัดกับหลักการข้างต้น จึงเป็นที่มาของการบัญญัติกฎหมายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232 "ห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน" โดยมีหลักการดังข้างต้นที่ได้อธิบายไป ดังนั้นในคดีใดที่จำเลยถูกฟ้อง โจทก์จะอ้างจำเลยเป็นพยานฝ่ายโจทก์ไม่ได้
ปัญหาว่าพยานวัตถุที่ได้มาจากคำให้การที่ไม่ชอบนั้น เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบหรือไม่ โดยพิจารณาได้ดังนี้หากพยานวัตถุนั้นแต่เดิมนั้น ไม่มีอยู่ แต่เพราะได้เกิดมีขึ้นมาเพราะการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ หลอกลวง หรือโดยมิชอบด้วยประการอื่นนั้นเอง เช่นนี้ถือว่าเป็นพยานหลักฐานเกิดขึ้นโดยมิชอบ แต่ตามข้อเท็จจริงการที่ทั้งทรัพย์ของกลางและมีดที่พกติดตัวไป เป็นพยานวัตถุที่ได้มาจากคำให้การที่เกิดขึ้นโดยไม่มีการแจ้งสิทธิ เป็นพยานหลักฐานที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่จากการอันมิชอบแต่อย่างใด จึงเป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบ แต่ได้มาโดยมิชอบ "เป็นผลไม้ของต้นไม้ที่มีพิษ" (Fruit of the Poisonous Tree)
ปัญหาต่อมา คือ พยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยการกระทำที่ไม่ชอบนั้นจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ แต่เดิมนั้นเราก็ถือกันว่า พยานหลักฐานต้องเกิดขึ้นโดยชอบและได้มาโดยชอบด้วยจึงจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ แต่ในหลายๆกรณีก็เป็นที่น่าเสียดายที่มีพยานหลักฐานที่ชอบอยู่ แต่วิธีการได้มาไม่ชอบ ทำให้การปราบปรามอาชญากรรมไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดแนวคิดว่าเพื่อให้การปราบหรามอาชญากรรมมีประสิทธิภาพศาลอาจใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยชอบแต่ได้มาโดยไม่ชอบได้ เป็นเหตุผลของการแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1(แก้ไขเมือ ปี พศ.51)



No comments:

Post a Comment