Wednesday 2 May 2018

พยานหลักฐานที่ศาลต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง

การพิจารณาคดีอาญานั้นมีบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการรับฟังพยานหลักฐานของศาล พยานหลักฐานใดที่ศาลรับฟังได้ พยานหลักฐานใดที่ศาลจะรับฟังไม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้การพิสูจน์ความจริงในคดีเป็นไปอย่างเป็นธรรมแก่ทั้งโจทก์และจำเลย

โดยหลักแล้วการรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญาไม่เคร่งครัดเหมือนกับคดีแพ่ง เพราะคดีอาญานั้นเป็นคดีที่ผลของคดีมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่คดีแพ่งนั้นผลของคดีแพ่งเป็นเรื่องทางทรัพย์สินซึ่ง ดังนั้น ในคดีอาญาจึงต้องเน้นพิสูจน์ความจริงในคดีมากกว่าผลแพ้ชนะคดีของคู่ความ

ในคดีอาญาเมื่อคู่ความ โจทก์และจำเลยอ้างพยานหลักฐานมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามคำกล่าวอ้างของตน พยานหลักฐานนั้น ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล พยานวัตถุ หรือพยานเอกสารที่สามารถพิสูจน์ความผิดหรือความบริสุทธิ์ได้ ย่อมอ้างเป็นพยานหลักฐานได้ทั้งหมด เว้นแต่เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยไม่ชอบ

พยานที่โจทก์และจำเลยนำมาสืบในศาลแล้ว หากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามรับฟังแล้ว ศาลย่อมรับฟังพยานหลักฐานนั้นเข้าไปในสำนวนการพิจารณาคดีได้ แต่พยานหลักฐานนั้นจะมีน้ำหนักมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับคุณค่า ความน่าเชื่อถือของพยานนั้น ๆ ซึ่งเป็นการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาล

มาตรา 227/1 ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน หรือพยานหลักฐานที่มีข้อบกพร่องประการอื่นอันอาจกระทบถึงความน่าเชื่อถือของพยานหลักฐานนั้น ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานประกอบอื่นมาสนับสนุน

ในมาตรา 227/1 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาล ซึ่งมีข้อจำกัดหากพยานหลักฐานนั้นเป็นพยานบอกเล่า (ม.226/3) พยานซัดทอด พยานที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ซึ่งพยานเหล่านี้ แม้จะเป็นพยานหลักฐานที่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลรับฟังได้ แต่ศาลก็ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง เช่น พยานบอกเล่า ซึ่งโดยหลักแล้วกฎหมายห้ามศาลรับฟังพยานบอกเล่า เพราะพยานบอกเล่านั้นไม่ได้รับรู้เหตุการณ์มาด้วยตนเอง แต่ได้รับรู้มาจากการบอกเล่าของผู้อื่นอีกทอดหนึ่ง พยานบอกเล่าจึงเป็นพยานที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เหมือนกับประจักษ์พยานที่รับรู้เหตุการณ์มาด้วยตนเอง

แต่ทั้งนี้ พยานบอกเล่าแม้โดยหลักแล้วกฎหมายห้ามศาลรับฟัง แต่ก็มีข้อยกเว้นให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าได้ ตาม มาตรา 226/3 

มาตรา 226/3 ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า

ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
(2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น

ดังนั้นแม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าได้ แต่ศาลก็ต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย

ภาพจาก https://www.students4bestevidence.net/how-much-evidence-is-in-evidence-based-practice/

No comments:

Post a Comment