Monday 8 April 2019

พยานบอกเล่าในคดีอาญา

 

sds

1. พยานบอกเล่าคืออะไร

พยานบอกเล่า (Hearsay) คือ พยานที่ไม่ได้เห็นเหตุการณ์หรือไม่ได้รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง แต่เป็นพยานที่รับฟังมาจากผู้อื่น แล้วเอาความที่ได้รับฟังมาเล่าหรือมาเบิกความต่อศาลอีกที พยานบอกเล่านี้ไม่อาจถูกซักค้านได้เพราะไม่ได้เห็นหรือรับรู้เหตุการณ์มาด้วยตนเอง เป็นพยานที่ไม่น่าเชื่อถือ (unreliable) (ข้อสังเกต พยานบอกเล่านั้นโดยหลักแล้วศาลจะไม่รับฟัง เพราะถือว่าเป็นพยานที่ไม่น่าเชื่อถือในคดีแพ่งและในคดีอาญาก็จะมีบทบัญญัติที่ห้ามศาลรับฟังพยานบอกเล่าไว้)
โดยหลักแล้วพยานบอกเล่านั้นห้ามมิให้ศาลรับฟังโดยผลของ ป.วิ.อาญา มาตรา 226/3
"ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่า"
จากมาตรา 226/3 วรรคแรก พยานบอกเล่าในคดีอาญามี 2 ประเภท คือ

1) พยานบุคคลที่มาเบิกความต่อศาลโดยข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่า เช่น นายแดงเบิกความเป็นพยานฝ่ายโจทก์โดยเล่าว่า นายแดงผู้เสียหายมาเล่าให้ฟังว่าถูกนายดำทำร้ายร่างกาย ซึ่งนายแดงไม่ได้เหตุการณ์นั้นมาด้วยตนเอง ดังนั้นคำเบิกความดังกล่าวจึงเป็นพยานบอกเล่า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8714/2560 ข้อห้ามมิให้รับฟังพยานบอกเล่าตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 เป็นกรณีที่มีการอ้างพยานบอกเล่าต่อศาลโดยนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความที่บอกเล่านั้น คดีนี้โจทก์ร่วมมาเบิกความต่อศาลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่รู้เห็นด้วยตนเองโดยตรง ถือเป็นประจักษ์พยาน แต่เบิกความกลับคำให้การในชั้นสอบสวนว่าจำเลยมิใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม จึงเป็นกรณีนำสืบคำให้การในชั้นสอบสวนเพื่อพิสูจน์ว่าโจทก์ร่วมเล่าเหตุการณ์ให้พนักงานสอบสวนบันทึกไว้อย่างไร มิใช่การพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความที่บอกเล่า อันจะต้องห้ามมิให้รับฟัง เช่นนี้ศาลจึงสามารถรับฟังบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนนั้นได้ในฐานะคำกล่าวนอกศาลที่ขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์ร่วมเพื่อหักล้างคำเบิกความในชั้นศาล

2) บันทึกซึ่งเป็นเอกสารหรือวัตถุที่อ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล เช่น บันทึกสอบปากคำพยานในชั้นสอบสวนโดยพนักงานสอบสวน บักทึกการจับกุมที่ผู้ถูกจับให้ไว้ในชั้นจับกุม เป็นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2561 แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. เบิกความว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะเกิดเหตุมานานสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. ซึ่งคำให้การดังกล่าวระบุรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนแต่ก็ให้การถึงรูปพรรณสัณฐานของจำเลยไว้โดยละเอียด อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ร. และ พ. พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งขึ้นเอง แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) 


sds


2. พยานบอกเล่ารับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่...[1]"
กฎหมายนั้นห้ามรับฟังพยานบอกเล่า ซึ่ง ม.226/3 นี้เป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่ เพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 28) พ.ศ.2551) แต่ตามกฎหมายก่อนมีการแก้ไขนั้นก็ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าอยู่แล้ว ด้วยเหตุผลว่าความไม่น่าเชื่อถือของพยานประเภทนี้ (unreliable) เพราะเป็นพยานที่ไม่ได้ใช้ประสาทสัมผัสรับรู้มา เช่น ไม่ได้เห็นเหตุการณ์มากับตาตัวเอง ไม่ได้ได้ยินเสียงของเหตุการณ์นั้นด้วยหูตัวเอง แต่รู้เหตุการณ์มาเพราะฟังจากคำบอกเล่าของประจักษ์พยานหรือคนอื่นๆ อีกทอดหนึ่ง ทำให้โอกาสที่ข้อเท็จจริงจะคลาดเคลื่อนมีสูง



sds



3. ข้อยกเว้นในการรับฟังพยานบอกเล่า
ห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่
 (1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ
(2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15833/2557 บันทึกถ้อยคำของ อ. ในชั้นสืบสวนสอบสวน แม้เป็นเพียงพยานบอกเล่า แต่กรณีมีเหตุจำเป็น เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถนำ อ. มาเบิกความได้และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) ศาลจึงนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3284/2557 แม้ ก. ส. และร้อยตำรวจเอก ว. พยานโจทก์ทั้งสามเป็นพยานบอกเล่า และผู้ตายผู้บอกเล่าไม่ได้ มาเบิกความต่อศาลเพราะถูกยิงถึงแก่ความตายก็ตาม แต่การที่ผู้ตายบอกแก่พยานโจทก์ทั้งสามทันทีที่พยานโจทก์ทั้งสามพบผู้ตายที่โรงพยาบาลพัทลุงภายหลังเกิดเหตุประมาณ 3 ชั่วโมง ว่าคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนารี และเมื่อร้อยตำรวจเอก ว. ให้ผู้ตายดูภาพถ่ายผู้ต้องสงสัยจากแฟ้มอาชญากรรมรวมทั้งภาพถ่ายจำเลย ผู้ตายก็ชี้ภาพถ่ายจำเลยว่าเป็นคนร้ายทันที แสดงว่าผู้ตายยังมีสติสัมปชัญญะดีและจำคนร้ายได้แน่นอนว่าเป็นจำเลยจริง และคำบอกเล่าของผู้ตายเช่นนี้รับฟังได้ในฐานะที่เป็นคำระบุบอกกล่าวในเวลาใกล้ชิดกับเหตุอย่างมาก อันไม่มีโอกาสที่ผู้ตายจะคิดใส่ความหรือปรักปรำจำเลยได้ทัน จึงรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ เมื่อพิจารณาประกอบบาดแผลของผู้ตายที่มีรอยครูดถลอกที่บริเวณข้อศอกขวาและเข่าขวากับกองเลือดของผู้ตาย รองเท้าแตะ อาวุธมีดที่อยู่ในที่เกิดเหตุ และสำเนาใบสำคัญการสมรสของผู้ตายที่ยังมีคราบเลือดติดอยู่ซึ่งร้อยตำรวจโท ส. ตรวจยึดไว้จากที่เกิดเหตุ ทำให้น่าเชื่อตามคำเบิกความของ ส. และร้อยตำรวจเอก ว. พยานโจทก์ที่ว่าวันเกิดเหตุผู้ตายไปพบนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งนารี โดยนำสำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวไปเป็นหลักฐาน หลังจากนั้นผู้ตายออกมารอรถโดยสารประจำทางที่ศาลาที่เกิดเหตุและมีคนร้ายลงจากรถยนต์มายิงผู้ตายในระยะใกล้แล้วเกิดการต่อสู้กันด้วย ดังนี้ พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกันจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3225/2557 แม้ผู้เสียหายและ อ. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานไม่ได้มาเบิกความ อันเป็นเหตุจำเป็นให้ศาลรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายและ อ. ซึ่งเป็นพยานบอกเล่าได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๖/๓ วรรคสอง (๒) ก็ตาม แต่การที่ศาลจะวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานดังกล่าว ป.วิ.อ. มาตรา ๒๒๗/๑ บัญญัติให้ศาลต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพัง เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่นดังนี้ เมื่อคำให้การของผู้เสียหายและ อ. ที่ว่าจำเลยใช้ขวดเบียร์ตีศีรษะผู้เสียหาย แต่ตามใบนำส่งผู้บาดเจ็บให้แพทย์ตรวจชันสูตร ไม่ปรากฏบาดแผลที่ศีรษะของผู้เสียหายระบุไว้ และบันทึกคำให้การของ อ. ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า อ. เองก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตลอดเพราะหลังจาก อ. เข้าไปห้ามระงับเหตุและถูกถีบออกมาแล้ว อ. ก็วิ่งหนีไปบ้านญาติ ประกอบกับได้ความจากพยานโจทก์ปาก อ. ภริยาของผู้เสียหายว่า คืนเกิดเหตุผู้เสียหายดื่มสุราในงานศพจนมีอาการมึนเมา และสภาพภายในร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุที่พยานเคยไปเที่ยวนั้นจะเปิดไฟสลัวแสงสว่างไม่ชัดเจนซึ่งก็ขัดกับคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย จึงเป็นพยานบอกเล่าที่ไม่มีน้ำหนักหนักแน่นเพียงพอที่จะใช้รับฟังลงโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7013/2556 ผู้เสียหายยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะสามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานได้ แต่หาได้ดำเนินการไม่จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) แม้โจทก์จะมี จ. ที่ทราบเหตุการณ์จากผู้เสียหาย และพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนที่เบิกความยืนยันตามเหตุการณ์ที่ได้ทราบจากผู้เสียหายประกอบคำให้การของผู้เสียหายล้วนแต่เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่พอให้รับฟังลงโทษจำเลยทั้งสามได้


เชิงอรรถ
  1. ^ มาตรา 226/3 ข้อความซึ่งเป็นการบอกเล่าที่พยานบุคคลใดนำมาเบิกความต่อศาล หรือที่บันทึกไว้ในเอกสารหรือวัตถุอื่นใดซึ่งอ้างเป็นพยานหลักฐานต่อศาล หากนำเสนอเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น ให้ถือเป็นพยานบอกเล่าห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่า เว้นแต่(1) ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้น น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ หรือ2) มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นในกรณีที่ศาลเห็นว่าไม่ควรรับไว้ซึ่งพยานบอกเล่าใด และคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องร้องคัดค้าน ก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดรายงานระบุนาม หรือชนิดและลักษณะของพยานบอกเล่า เหตุผลที่ไม่ยอมรับ และข้อคัดค้านของคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องไว้ ส่วนเหตุผลที่คู่ความฝ่ายคัดค้านยกขึ้นอ้างนั้น ให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงานหรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายนั้น ยื่นคำแถลงต่อศาลเพื่อรวมไว้ในสำนวน
 

No comments:

Post a Comment